ภาพทอร์นาโดโจมตียุโรปในอดีต

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509

 

ภาพทอร์นาโดโจมตียุโรปในอดีต

 

ในบทความเรื่อง “จาก ‘หางมังกร’ สู่ ‘หางม้าแดงพิสดาร’ มุมมองเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับทอร์นาโด” ที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ มีภาพแสดงเหตุการณ์ ‘เมฆหางมังกร’ ที่เกิดที่เมืองเอาส์บวร์ก (Augsburg) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1578 ในปัจจุบันเมืองเอาส์บวร์กนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เพื่อให้ชัดเจนผมขอนำเสนอภาพนี้อีกครั้งในภาพที่ 1 ครับ

หากยึดตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ‘เมฆหางมังกร’ ในภาพดังกล่าวเรียกว่า เมฆรูปกรวย (funnel cloud) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ทูบา (tuba) สังเกตว่าสองคำนี้ใช้กรณีที่ส่วนปลายล่างของเมฆยังไม่แตะพื้น

แต่หากปลายหางมังกร หรือส่วนล่างของเมฆรูปกรวยแตะพื้นเมื่อใด ก็จะถือว่าทั้งงวงคือพายุทอร์นาโดอย่างเป็นทางการ

มีเกร็ดน่ารู้ด้วยว่า อัลเฟรด เวเกอร์เนอร์ (Alfred Wegener) นักธรณีฟิสิกส์และนักอุตุนิยมวิทยาผู้มีชื่อเสียง ได้ระบุว่าภาพ ‘เมฆหางมังกร’ นี้เป็นภาพวาดทอร์นาโดภาพแรกในเยอรมนี และเขาทึกทักว่ามันอาจจะเป็นภาพแรกของโลกด้วยก็ได้

(แต่พบว่าไม่จริง โปรดดูภาพที่ 2 ถัดไป)

เมฆ “หางมังกร” ก่อนแตะพื้นกลายเป็นทอร์นาโด
ที่มา : http://bogdanantonescu.squarespace.com/gallery/

แล้วภาพเก่าของยุโรปที่แสดงพายุทอร์นาโดแบบชัดๆ ครบทั้งงวงล่ะมีไหม?

มีแน่นอน และบางภาพไม่ธรรมดาด้วย อย่างเช่นภาพทอร์นาโดที่ปรากฏบนพรมประดับผนังชิ้นที่ 4 ในพรมชุดจำนวน 12 ชิ้นที่มีชื่อว่า ‘Conquest of Tunis’ หรือ ‘การพิชิตเมืองตูนิส’ ดูภาพที่ 2 ครับ

‘การพิชิตเมืองตูนิส’ เป็นชื่อเหตุการณ์หนึ่งในช่วงปลายของสงครามครูเสด (ซึ่งครอบคลุมช่วงปี ค.ศ.1095-1571) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ.1535 เมื่อจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองตูนิสจากจักรวรรดิออตโตมัน

น่ารู้ด้วยว่าชื่อของกษัตริย์องค์นี้ในภาษาอังกฤษคือ Charles V คือ ชาร์ลส์ที่ 5 ส่วนภาษาเยอรมันคือ Karl V หรือคาร์ลที่ 5 และภาษาสเปนคือ Carlos I หรือการ์โลสที่ 1

เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทัพครั้งนี้จะเป็นที่จดจำ พระองค์ทรงรับสั่งให้นำผู้ติดตามที่มีความสามารถหลากหลายทั้งกวี นักดนตรี นักคณิตศาสตร์ โหราจารย์ และผู้ที่เกี่ยวกับภาพนี้คือ ยาน คอร์เนลิสซ์ เฟอร์เมอิน (Jan Cornelisz Vermeyen) ศิลปินนักวาดภาพชาวฟลามส์ (Vlaams) หรือเรียกแบบภาษาอังกฤษว่าชาวเฟลมิช (Flemish people)

ศิลปินผู้นี้วาดภาพร่างระหว่างการเดินทาง โดยต่อมาภาพเหล่านี้ได้เป็นต้นแบบในการจัดทำผืนพรมประดับผนังซึ่งถักทอขึ้นในเมืองบรัสเซลส์ ทั้งนี้ ภาพทอร์นาโดใกล้ภูเขามอนเซอร์รัต (Monserrat mountain) เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของพรมผืนที่ 4 ครับ

ภาพทอร์นาโดใกล้ภูเขามอนเซอร์รัตนี้ ผมนำมาจากบทความชื่อ A Renaissance Depiction of a Tornado เขียนโดย Klaus P. Hoinka และ Manuel de Castro ใครสนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้โดยการค้นชื่อบทความ หรือไปที่ https://elib.dlr.de/18838/1/i1520-0477-86-4-543.pdf

ทอร์นาโดใกล้ภูเขามอนเซอร์รัต
ที่มา : บทความ A Renaissance Depiction of a Tornado

มีภาพเก่าเกี่ยวกับทอร์นาโดอีกภาพหนึ่งที่น่ารู้จัก ภาพนี้ชื่อ De violetia turbinis, ac tempeftatis เป็นภาษาละติน ตรงกับภาษาอังกฤษคือ The violence of the tornado, and the storm แปลว่า ความรุนแรงของทอร์นาโดและพายุ ดูภาพที่ 3 ครับ

สังเกตว่าส่วนที่เด่นชัดกว่าคือ ลมพายุที่รุนแรงพัดจนต้นไม้หักโค่น แต่ไม่เห็นทอร์นาโดเป็นลำงวงเด่นชัด มีแต่เมฆที่ดูเหมือนมีลักษณะเป็นเกลียววนทางมุมขวาบนของภาพ

ภาพนี้เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ (woodcut) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Historia de Gentibus Septentrionalibus บทที่เกี่ยวกับทอร์นาโดและผลกระทบของมัน ภาพพิมพ์แกะไม้เป็นศิลปะการพิมพ์แบบนูน โดยที่แกะภาพที่จะพิมพ์บนผิวไม้ เมื่อต้องการพิมพ์ก็จะทาส่วนพิมพ์ด้วยลูกกลิ้งมือ ทำให้หมึกเกาะบริเวณที่ต้องการจะพิมพ์เท่านั้น

ชื่อหนังสือ Historia de Gentibus Septentrionalibus มีความหมายว่า A Description of the Northern Peoples หรือคำอธิบายเกี่ยวกับผู้คนที่อยู่ทางตอนเหนือ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยโอเลาส์ มักนุก (Olaus Magnus) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1555 นั่นคือ ภาพนี้เก่ากว่าภาพเมฆหางมังกร (ซึ่งเป็นเหตุการณในปี ค.ศ.1578) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เกิดใน ค.ศ.1490 และ เสียชีวิตใน ค.ศ.1557

ภาพ De violentia turbinis, ac tempeftatis นี้ผมนำมาจากบทความวิชาการเรื่อง Theories on Tornado and Waterspout Formation in Ancient Greece and Rome เขียนโดย Bogdan Antonescu และคณะ ใครสนใจสามารถค้นเน็ตได้โดยใช้ชื่อบทความ หรือดาวน์โหลดไฟล์ pdf ที่ https://journals.ametsoc.org/view/journals/wcas/11/4/wcas-d-19-0057_1.xml

De violentia turbinis, ac tempeftatis
ที่มา : บทความ Theories on Tornado and Waterspout Formation in Ancient Greece and Rome

คราวนี้มาดูภาพสุดท้าย คือภาพที่ 4 ภาพนี้น่าสนใจเพราะมาจากตำราประกอบภาพสำหรับเด็กเล่มแรกของโลก!

ตำราเล่มนี้มีชื่อภาษาละตินว่า Orbis Sensualium Pictus แปลว่า Visible World in Pictures (โลกที่มองเห็นแสดงด้วยรูปภาพ) บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า Orbis Pictus ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1658 เริ่มจากภาษาละตินและภาษาเยอรมัน จากนั้นก็กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว โดยมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาในทวีปยุโรป นับเป็นตำราที่ทรงอิทธิพลสูงยิ่งนานนับร้อยปี

ภาพทอร์นาโดใน Orbis Pictus มีข้อความอธิบายตำแหน่งต่างๆ ในภาพ ได้แก่ เลข 1 คือ อากาศเย็น มีลมพัดเบาๆ, เลข 2 คือ ลมพัดแรง, เลข 3 คือ พายุทำให้ต้นไม้หักโค่น และ เลข 4 คือ ลมงวงหมุนตัวเป็นวง

จุดน่าสนใจคือคำอธิบายเลข 5 (ขอบล่างของภาพ ใต้รูปต้นไม้) ที่ว่า “ลมที่อยู่ใต้พื้นทำให้เกิดแผ่นดินไหว” ตรงนี้ทำให้ตีความได้ว่าอย่างน้อยฝรั่งคนเขียนคำอธิบายเชื่อว่าการที่แผ่นดินไหวสะเทือนเป็นเพราะลมที่อยู่ใต้พื้น

ส่วนเลข 6 (มุมขวาล่าง) ระบุว่าแผ่นดินไหวทำให้พื้นผิวโลกแยกออกกว้าง (และทำให้บ้านเรือนพังทลาย)

ได้ยกตัวอย่างภาพและข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ก็คงจะพอเห็นได้ว่าโลกตะวันตกมีการเก็บบันทึกหลักฐานเอาไว้อย่างดีเยี่ยม อันเป็นพื้นฐานของการสร้างความรู้ที่แท้จริงในระยะยาวครับ

ทอร์นาโดจากตำราประกอบภาพสำหรับเด็กชื่อ Orbis Sensualium Pictus
ที่มา : http://bogdanantonescu.squarespace.com/gallery/