ความลำบากในต่างแดน ทำไมคนไทยต้องไปทำงานต่างประเทศ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ค่าจ้างเฉลี่ยที่คนไทยได้รับอยู่ที่ประมาณ 14,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำคนไทยได้ประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่การสำรวจชี้ให้เห็นว่า ต่อให้ทำงานถึง 20 ปี ในระบบการจ้างงานก็มีค่าตอบแทนประมาณ 25,000 บาทเท่านั้น ตามค่าครองชีพปัจจุบัน

ขณะที่โอกาสในความสำเร็จในการเริ่มต้นวิสาหกิจขนาดย่อมที่จะทำให้ได้รับรายได้มากกว่าค่าจ้างเฉลี่ย ก็มีน้อยกว่าร้อยละ 5

ดังนั้น ภาพของการทำงานหนักและประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่ภาพของคนไทยส่วนใหญ่

คนไทยที่สามารถมีรายได้สูงมากกว่านี้ ส่วนมากคือคนที่มีฐานะ โอกาส และการสนับสนุนที่ดี แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้โอกาสนั้น

โอกาสสำคัญในชีวิตพวกเขาเหลือไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือการทำงานที่ต่างประเทศ และส่วนมากแล้วก็คืองานที่ประชากรท้องถิ่นเริ่มไม่ทำแล้ว ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ เสี่ยงอันตราย หรือมีชั่วโมงการทำงานที่ไม่สอดรับกับการทำงานปกติ

แรงงานก่อสร้างในไต้หวัน แรงงานภาคเกษตรในเกาหลีใต้ แรงงานนวดไทยในมอสโก แรงงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์ สวีเดน แรงงานก่อสร้างในดูไบ กาตาร์ แรงงานภาคเกษตรในอิสราเอล หรือแม้กระทั่งบ่อน้ำมันในลิเบีย ซูดาน ความเสี่ยงอันตรายนี้ ก็เพื่อแรกกับค่าตอบแทนเดือนละ 7-8 หมื่นบาทต่อเดือน ที่ยากนักสำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เติบโตมากับหนี้สินภาคเกษตร การจ้างงานที่ปราศจากการคุ้มครองตามกฎหมาย การเลือกปฏิบัติทางเพศ ส่งผลให้การนำชีวิตและความฝันของตนเองไปเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในอนาคต

ซึ่งหลายครั้งก็เป็นโศกนาฏกรรมถึงชีวิต เมื่อเผชิญกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ด้วยกัน กระบวนการค้ามนุษย์ เอาเปรียบค่าแรง หลายคนเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้นจากการไปทำงาน

แต่นอกเหนือจากนี้ แม้ทำงานประสบความสำเร็จเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย พวกเขาก็มีโอกาสสูงที่จะสูญเสียชีวิตของเขา ลูกที่เติบโตมาในช่วงวัยรุ่นแล้วไม่คุ้นชินกับพ่อแม่ หรือความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่ห่างเหินไปในช่วงสำคัญของชีวิต

 

พิจารณาแบบนี้ก็น่าเศร้า ถ้าเราลองพิจารณาว่าเงินเดือนของ ส.ส. และ ส.ว. เริ่มต้นที่ประมาณ 110,000 บาทต่อเดือน ในทางกลับกัน ถ้าแรงงานไทยได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการเพียงแค่ 50% ของผู้ทรงเกียรติในสภา คงไม่มีคนต้องพรากจากบ้านเกิดด้วยเงื่อนไขการบังคับทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าการอพยพไปทำงานต่างประเทศมีแรงจูงใจหลากหลาย แต่ความยากจนยังเป็นปัญหาหลักมาหลายทศวรรษ

ถ้าเกิดว่า พ่อแม่ของเรามีเงินบำนาญที่เพียงพอถ้วนหน้าสำหรับทุกคน ก็คงไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงภัยเพียงเพื่อให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่าที่ไม่สามารถทำงานได้ พอมีเงินประทังชีพ

ถ้าการศึกษาของเรากระจายอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่าย มีเงินอุดหนุนแก่เด็กๆ อย่างเพียงพอ เมื่ออยากเรียนหนังสือก็ไม่ต้องเป็นหนี้สิน พ่อแม่คงมีเหตุผลน้อยลงที่ต้องจากบ้านเกิดเดินทางไกล

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสเดินทางไปบรรยายที่ไต้หวัน ซึ่งค่าครองชีพใกล้เคียงกับไทย ค่าอาหารข้างทางประมาณ 80 บาท ขณะที่ท่าพระจันทร์ ข้าวกะเพราหมูกรอบไข่ดาวราคารวมน้ำเปล่าประมาณ 70 บาท แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไต้หวันประมาณ 30,000 บาท คนที่จบปริญญาตรีก็สูงกว่านี้

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า คนไทยอยู่ได้อย่างไรกับค่าครองชีพใกล้เคียงกันแต่ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างเฉลี่ยน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

หากค่าจ้างเป็นธรรม มีการคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงาน เราคงไม่ต้องถูกบังคับโดยอ้อมให้ต้องไปทำงานต่างประเทศ

คำถามสำคัญคือ ในเมื่อลักษณะที่ไม่เป็นธรรมนี้คงอยู่มาอย่างยาวนาน ทำไมกระทรวงแรงงานไม่แก้ไข เหตุใดค่าจ้างและสวัสดิการถึงไม่มีการปรับให้ดีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานอยู่ในประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ สมศักดิ์ศรีด้วยค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีเพียงพอ

ทุกประเทศทั่วโลกเคยเผชิญกับปัญหานี้ การที่กลุ่มทุนและผู้ประกอบการจะคัดค้านค่าแรงที่สูงขึ้น หรือสวัสดิการที่ดีขึ้น เพราะสำคัญว่าตนกำลังเสียประโยชน์

แต่ความจริงแล้ว ตามที่ผมได้บรรยายให้เห็นภาพมา ในระยะยาวการที่เราต้องสูญเสียแรงงานคนหนุ่มสาวที่ต้องพลัดถิ่นไปไกล มีผลเสียทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ยังมีผลเสียต่อผู้ประกอบการและโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ที่เราไม่สามารถใช้บุคลากรของเราอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของเรา

เพียงกลับหัว เปลี่ยนวิธีคิด เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง Zero-Sum หรือมีคนได้คนเสีย แต่เราสามารถได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งรัฐ ผู้ประกอบการ สังคม รวมถึงผู้ใช้แรงงานทุกระดับ ถ้าเราสามารถทำให้ประเทศนี้เป็นของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง