‘น้ำท่วม’ ปัญหาของโลกวันนี้

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปรากฏการณ์พายุฝนถล่มและน้ำท่วมใหญ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคมของปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศยอมรับแล้วว่าเป็นความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นแทนความปกติเดิมๆ แต่เพิ่มเติมตรงมีความถี่ขึ้น มีระดับความรุนแรง เฉียบพลันและรวดเร็วกว่า ถ้าไม่มีแผนป้องกันรับมือไว้ล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะเกิดความเสียหายร้ายแรงเหลือคณานับ

กรณีพายุพายุแดเนียลที่เกิดขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อต้นเดือนกันยายนเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า ฤทธิ์เดชของพายุนั้นได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเมืองต่างๆ ที่พายุพัดผ่านมากขนาดไหน

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นเพิ่มพลังให้ “แดเนียล” ก่อนพัดเข้าสู่ชายฝั่งยกระดับเป็นพายุ “เมดิเคน” ฤทธิ์เดชพอๆ กับ “เฮอร์ริเคน” เมื่อเข้าสู่เมืองซาโกรา ประเทศกรีซ และเมืองเดอร์นา ประเทศลิเบีย หอบมวลน้ำฝนเทลงใส่ทั้ง 2 เมืองเพียง 24 ชั่วโมงวัดได้มากถึง 762 มิลลิเมตร (ม.ม.) เป็นปริมาณน้ำฝนที่ทำลายสถิติเก่าๆ อย่างสิ้นเชิง และเทียบเท่าฝนที่ตกลงมาเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

ปริมาณน้ำฝนมากเกินขนาดจนเขื่อนในเมืองเดอร์นาที่ไม่ได้ดูแลรักษา เจอแรงอัดของน้ำทำให้ฐานเขื่อนพัง น้ำทะลักกระชากดินโคลนถล่มใส่ชาวเมืองเสียชีวิต 11,000 คน และหายสาบสูญอีกเกือบ 1 หมื่นคน ส่วนเมืองซาโกรา ฝนถล่มจนจมมิด ถนนกลายเป็นทางน้ำมรณะซัดผู้คนเสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน

พายุฝนในแถบทวีปอเมริกาใต้มีความรุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะฝนที่ตกในรัฐริโอ แกรนด์ ดู ซอล ประเทศบราซิล หนักมากจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 40 คน เมื่อวัดค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนในรอบ 1 สัปดาห์ มีปริมาณมากกว่าฝนที่ตกตลอดทั้งเดือนกันยายน

 

ที่สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ฝนถล่มงาน “เบิร์นนิ่ง แมน” หรือเทศกาลดนตรีศิลปะที่ “แบล็กร็อกซิตี้” กลางทะเลทรายในรัฐเนวาดา จนกลายเป็นทะเลโคลนตม ผู้คนมาร่วมงานนับหมื่นคนติดแหง็กไปไหนก็ไม่ได้

ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 13 ม.ม.ในรอบ 24 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องน่าพิศวงงงงวยเพราะค่าเฉลี่ยตลอดทั้งเดือนกันยายนพื้นที่แห่งนี้มีฝนตกวัดน้ำฝนได้แค่ 5.4 ม.ม.เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก สเตต จัดทีมเข้าไปค้นหาสาเหตุของการเกิด “ห่าฝน” ในพื้นที่จัดงานเพื่อวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระแสลมและสภาพภูมิอากาศ

ความจริงแล้ว เมืองหินดำหรือแบล็กร็อก เป็นเมืองปลอดควันรถยนต์เพราะแทบไม่มีรถยนต์วิ่ง คนที่นั่นส่วนใหญ่ปั่นจักรยานหรือเดิน

อีกซีกตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เช่นที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เกิดน้ำท่วมหนัก วัดปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติถึง 300 เปอร์เซ็นต์

มหานครนิวยอร์ก ก็เจอพายุฝนถล่มเพียงห้วงเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 254 ม.ม. มวลน้ำไหลทะลักเอ่อล้นท่วมสถานีรถไฟใต้ดิน ถนนหลายสายจมอยู่ใต้บาดาล สร้างความเสียหายอย่างมาก

ย้อนไปเดือนกรกฎาคม ที่รัฐเวอร์มอนต์ มีฝนตกหนักมาก ในเวลาแค่ 2 วันปริมาณน้ำฝนวัดได้เท่ากับที่เคยตกรวม 2 เดือน แม้ไม่มีใครเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ถนนหนทางใช้การไม่ได้เลย

ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์บอกสื่อว่าในชีวิตไม่เคยเห็นฝนตกหนักอย่างนี้มาก่อน ถือเป็นวิกฤตภัยครั้งใหญ่และเชื่อว่าฝนตกหนักๆ อย่างนี้จะกลายเป็นภาวะปกติ

เดี๋ยวนี้ ปัญหาน้ำท่วมซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงแล้ว บ้านเรือนเสียหายยับเยินแล้ว ชาวอเมริกันยังเจอปัญหาใหม่ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมบ่อยๆ จะต้องเสียค่าประกันภัยเพิ่มเพราะบริษัทประกันภัยลดความเสี่ยง

 

หันมาดูฝั่งทวีปเอเชีย พายุไต้ฝุ่นหลายลูกถล่มเมืองต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วง เช่น พายุไต้ฝุ่นเซาลาและไต้ฝุ่นไห่ขุย เกิดขึ้นในต้นสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน มวลน้ำฝนเทลงอย่างทะลักทลายส่งผลให้เกาะฮ่องกงเป็นอัมพาตในฉับพลัน รถไฟใต้ดินเจอกระแสน้ำซัดกระหน่ำจนต้องหยุดวิ่ง โรงเรียน ร้านค้า ตลาดหุ้นปิด

ระหว่างพายุไห่ขุย พัดผ่านฮ่องกง ปล่อยมวลน้ำฝนเพียงชั่วโมงเดียวทำลายสถิติในรอบ 140 ปี ชาวฮ่องกงยกให้เป็นฝน 100 ปี เพราะตั้งแต่เกิดมาเพิ่งเจออย่างนี้

ศาสตราจารย์จัง อุน ชู ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยซิตี้แห่งฮ่องกง แสดงความสงสัยทำไมพายุไต้ฝุ่นที่มีระดับความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์

อะไรเป็นสาเหตุให้พายุไต้ฝุ่นเกิดถี่บ่อยและรุนแรงเฉียบพลันทั้งปริมาณน้ำฝนและความเร็วกระแสลม “จัง อุน ชู” ฟันธงว่า เป็นเพราะภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเกิดของพายุไต้ฝุ่นมาจากพลังงานความร้อนสะสมใต้ทะเลปลดปล่อยออกมาจากการไหลเวียนของกระแสน้ำและการไหลเวียนของกระแสในชั้นบรรยากาศอุ้มความชื้นไว้ในปริมาณมหาศาล

อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ชั้นบรรยากาศหอบเอาความชื้นมากขึ้นจากปกติ 7 เปอร์เซ็นต์

ศาสตราจารย์ชู พลิกแฟ้มสถิติปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงที่ตกลงมาบนเกาะฮ่องกงเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในอดีตการเกิดมวลน้ำฝนขนาดใหญ่ไม่ได้เกิดถี่บ่อย อาจจะ 20 ปีหรือชั่วชีวิตหนึ่งจึงเกิดสักครั้ง แต่ห้วงเวลานี้การเกิดฝนตกหนัก พายุรุนแรง บ่อยครั้งขึ้น และแต่ละครั้งทำลายสถิติเก่าๆ

ที่เกาหลีใต้ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พายุฝนถล่มเมืองชองจูอย่างหนักหน่วง น้ำไหลเอ่อท่วมอุโมงค์ซึ่งยาว 685 เมตร ระหว่างนั้นมีรถยนต์ 15 คันติดแหง็กอยู่ แรงดันน้ำอัดรถจนกระจกแตกมีผู้เสียชีวิต 13 คน

เดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูมรสุม แต่ปริมาณน้ำฝนที่เกาหลีใต้วัดได้ 300 ม.ม. ในขณะที่ทั้งปี น้ำฝนวัดได้ 1,000-1,800 ม.ม.

“ยุน ช็อก-ยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยอมรับว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ต้องหาวิธีรับมือ และปรับปรุงมาตรการต่างๆ

ที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น พายุนานมาดลนำมวลฝนปริมาณมหาศาลถล่มใส่อย่างหนักหน่วง รวมทั้งเกิดฟ้าผ่าเสียงดังสะท้านเมือง กระแสลมแรงจัด จากนั้นน้ำเอ่อท่วมฉับพลัน ดินโคลนไหลทะลักทำลายบ้านเรือน ถนนหนทาง มีผู้เสียชีวิต 6 คน

ปริมาณน้ำฝนที่ตกบนเกาะคิวชูในรอบ 24 ช.ม.วัดได้ 405 ม.ม. ทำลายสถิติที่เคยมีมา

ปลายเดือนกันยายน ชาวเวียดนามที่อยู่ทางตอนเหนือและตอนกลาง เจอแค่พายุดีเปรสชั่นแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ปริมาณน้ำฝนวัดได้ที่กรุงฮานอยมีมากถึง 250 ม.ม. ทำลายสถิติเดิมๆ

 

บ้านเรามีหลายจังหวัดเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ไม่น้อยหน้าชาวโลก เพราะฝนตกหนักถึงหนักมาก อย่างเช่นเมื่อกลางเดือนตุลาคม มีฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนบริเวณ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา พอถึงกลางดึกน้ำป่าจากที่สูงไหลทะลักซัดกระหน่ำบ้านเรือนทรัพย์สินของชาวบ้านห้วยกั้งปลา มีผู้เสียชีวิต 5 คนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

ใครเห็นภาพรถกระบะพังยับเยินกระเด็นตกลงไปในลำห้วยกั้งปลาคงประเมินได้ว่า กระแสน้ำแรงขนาดไหน

ระหว่างที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี ยอมรับว่า น้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่มาก ไม่เพียงแค่วิกฤตด้านเศรษฐกิจหรือด้านเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความปลอดภัย โรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด

คุณเศรษฐาเสนอให้พัฒนาระบบเตือนภัย แจ้งข่าวสาร แผนฟื้นฟูหลังเกิดเหตุและมิติของการระบายน้ำ ทำอย่างไรให้ท่วมน้อยที่สุด ระบายน้ำได้เร็วที่สุด อยากให้ลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

ข้อเสนอของคุณเศรษฐาเป็นประเด็นควรรับฟัง และหวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันรับมือน้ำท่วมจะเอาแนวคิดนี้ไปต่อยอดให้เกิดประสิทธิผลในเร็ววัน •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]