ความท้าทายมุสลิมไทย ท่ามกลางผลกระทบคนงานไทยในอิสราเอล

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ความท้าทายมุสลิมไทย

ท่ามกลางผลกระทบคนงานไทยในอิสราเอล

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทายสำหรับมุสลิมไทยอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนในผลของสงครามดังระดับโลก “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ท่ามกลางผลกระทบคนงานไทยในอิสราเอล

จะเห็นได้ว่าในสื่อไทยพบมุสลิมในประเทศส่วนใหญ่สนับสนุนให้การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและการปลดปล่อยปาเลสไตน์ รวมทั้งอัลอักศอเป็นหน้าที่ของทุกคนทั่วโลก และควรจะได้รับความสนใจในระดับสูงสุด เพื่อย้ำเตือนและชี้ให้โลกเข้าใจว่าตราบใดที่ประวัติศาสตร์ความอยุติธรรมต่างๆ ที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับยังคงรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์ก็มีเหตุผลที่จะต้องคงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็แล้วแต่ ในทางกลับกันโดยเฉพาะโลกโซเชียล มุสลิมกลับถูกด่า ว่าเข้าข้างพวกพ้องซึ่งมุสลิมเองก็ต้องอดทน มีสติ ในสถานการณ์ที่คนงานไทยได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ และจะร่วมด้วยช่วยกันในการหาทางออกในวิกฤตที่เพื่อนร่วมชาติกำลังเผชิญเช่นกัน

การใช้องค์ความรู้

ผ่านงานวิชาการ สื่อสารให้สังคมไทย

องค์ความรู้มีความสำคัญมาก ในการสื่อสารและจะแก้ปัญหานี้ต้องใช้องค์ความรู้ผ่านงานวิชาการ

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะว่า

“ในอดีต สังคมไทยรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปาเลสไตน์ผ่านนักวิชาการตะวันตก แต่ปัจจุบันนี้การสื่อสาร การข่าว มีความหลากหลายมากขึ้น และมีผู้ที่ติดตามสถานการณ์กรณีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น การรับรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ของสังคมไทยและสังคมโลกมีเพิ่มมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น”

“ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่หลังสงครามเย็น เรามีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์น้อยมาก เท่าที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามเย็น การต่อสู้กันระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล หรืออาหรับกับอิสราเอล แต่ว่าปัจจุบันนี้มีสถานการณ์หรือมิติการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้องค์ความรู้ขาดตอนไป”

“อาจจะมีความรู้ในอดีต แต่องค์ความรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต ยิ่งมีน้อยมาก”

“การสร้างการรับรู้ในเรื่องของปาเลสไตน์ในภาคประชาชนไม่ว่าจะมุสลิมหรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะปัญหาการละเมิดสิทธิ์ จนท้ายที่สุดนำไปสู่สงคราม แม้จะอยู่ไกลจากประเทศไทย เราคนไทยก็ได้รับผลกระทบในที่สุด”

การต่อสู้ของมุสลิมมีพลวัตการต่อสู้และขับเคลื่อนมากว่า 50 ปี จนกระทั่งสองสามปีนี้เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสามารถขับเคลื่อนเป็น “เครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์” ภายใต้ “สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี” ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว แกนนำสตรี เยาวชนและนักศึกษา เข้ามาร่วมขับเคลื่อน จนท้ายสุดสามารถร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนได้ดังนี้

1. การประสานและขับเคลื่อนการทำงานกับองค์กรภายในประเทศอย่างมีเอกภาพเพื่อ

1.1 ประสานและหนุนเสริมการทำงานขององค์กรภายในประเทศในการดำเนินกิจกรรมด้านปาเลสไตน์

1.2 สร้างการใช้ทรัพยากรร่วมกันขององค์กรภายในประเทศเพื่อการดำเนินกิจกรรม

1.3 การพัฒนาบุคลากรขององค์กรภายในประเทศที่ทำงานด้านปาเลสไตน์

1.4 เกิดภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกับต่างศาสนิกในประเทศ

2. การจัดการและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมปาเลสไตน์

2.1 การติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้และให้ความช่วยเหลือ

2.2 การพัฒนาองค์ความรู้ที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพขององค์กรเครือข่าย

2.3 การสร้างการยอมรับของนักวิชาการด้านปาเลสไตน์ของไทยสู่สาธารณะ

3. การเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างความตื่นตัวด้านมนุษยธรรมและลดความหวาดกลัวอิสลาม

3.1 การสร้างช่องทางการรับรู้ข่าวสารของคนไทยต่อประเด็นปาเลสไตน์

3.2 การชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะในประเด็นปาเลสไตน์อย่างทันท่วงที

3.3 การดำเนินกิจกรรมสาธารณะในประเด็นปาเลสไตน์

3.4 การระดมทุนเพื่อการดำเนินกิจกรรมปาเลสไตน์ในพื้นที่สาธารณะ

3.5 การดำเนินการศูนย์เพื่อการเรียนรู้ปาเลสไตน์

4. การทำงานร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศอย่างมีเอกภาพ

4.1 การเป็นตัวแทนประเทศไทยในการทำงานร่วมระหว่างประเทศในกลุ่มพันธมิตรอาเซียนเพื่อปาเลสไตน์ (ASEAN Coalition for Palestine – ACP)

4.2 การแสดงเจตจำนงในนามมุสลิมไทยต่อนานาประเทศในประเด็นปาเลสไตน์

การช่วยเหลือไม่เป็นทางการต่อรัฐบาลไทยประเด็น “แรงงาน”

ภาคประชาสังคมมุสลิมเริ่มทำงานเชิงรุกแบบไม่เปิดตัว หนึ่งในสี่ช่องทางเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงข่าวได้แก่ ช่องทางการทูต, ช่องทางด้านข่าวกรองจากหน่วยข่าวของมิตรประเทศ, ช่องทางทหาร และองค์กรภาคประชาสังคมหรือบุคคลที่สามารถเข้าถึงกลุ่มฮามาส เพื่อติดตามสถานะของตัวประกัน และนำไปสู่การช่วยเหลือตัวประกัน โดยได้จัดส่งรูปพรรณสัณฐานของตัวประกัน ทั้งเพื่อสืบหาสถานะปัจจุบันและช่องทางการช่วยเหลือแล้ว

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมมุสลิมก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศชายแดนอิสราเอล ไม่ว่าเลบานอน จอร์แดน อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคมมุสลิมสายชีอะห์อีกที่มีความสัมพันธ์กับอิหร่านและฮิสบุลเลาะ

สิ่งที่เราทราบคือคนงานไทยนอกจากมาจากอีสานแล้วยังมีนักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่ไปศึกษาดูงานช่วงดังกล่าวด้วย ซึ่งแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมมุสลิมมาก่อนจึงใช้ช่องนี้รีบประสานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ช่วยพากลับบ้านทั้งจากประเทศอิสราเอลและประเทศข้างเคียง

อย่างไรก็แล้วแต่ บทเรียนแรงงานไทยในครั้งนี้ ภาคประชาสังคมมุสลิมทราบดีว่า สถานที่ที่เขาไปทำงานในนั้นคือ ทางตอนใต้ของอิสราเอล ที่ตั้งชุมชนเกษตร (moshav หรือ kibbutz) ที่รัฐบาลอิสราเอลยึดแผ่นดินอย่างอยุติธรรมจากชาวปาเลสไตน์โดยจากฉนวนกาซา อีกทั้งผลักพวกเขากว่า 2 ล้านคนอยู่ที่ฉนวนกาซา ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลก็จ้างแรงงานจากชาติอื่นรวมทั้งไทยมากที่สุดมาทำงานที่นี่ ก็เปรียบเสมือนเอาคนชาติอื่นมาเป็นกำแพงชีวิตอีกทอดหนึ่ง ก่อนถึงคนอิสราเอลหรือยิว นอกจากนี้ ยังถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดทั้งชีวิตและทรัพย์สินสิน ซึ่งทั้งสื่อ นักวิชาการและรัฐบาลไทยก็ทราบ

ดังนั้น หากจะยังมีการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลซึ่งน่าจะเป็นแผ่นดินภาวะสงครามตลอดอีก ก็หวังว่าทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐบาลและกระทรวงแรงงานไทยจำเป็นจะต้องทบทวนบทเรียนแรงงานไทยในอิสราเอลที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผนอพยพอย่างมืออาชีพและประเด็นอื่นๆ เช่น จะมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบแรงงานหรือไม่อย่างไร?

เช่น กำหนดบทลงโทษสำหรับนายจ้างและนายหน้าอย่างจริงจัง และให้มีผลต่อใบอนุญาตประกอบการ

ต้องมีการสอบสวนสาเหตุแรงงานถูกละเมิดหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต และปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือหลักประกันที่จะมิให้เกิดขึ้น

สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลสำหรับแรงงาน นายจ้าง และผู้กำหนดนโยบาย โดยให้จัดประชุมทวิภาคีกับทางการอิสราเอล เพื่อประกันว่าความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล ส่งผลให้สภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานดีขึ้นจริง

และจะสามารถกดดันอิสราเอลให้ปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติในการตรวจแรงงาน ให้มีการลงโทษนายจ้างซึ่งละเมิดกฎหมายอย่างเป็นผล ให้สอบสวนเมื่อเกิดการเสียชีวิต และสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพ?

ที่ลืมไปไม่ได้คือต้องรับฟังความคิดเห็นแรงงานไทยที่กลับมาทั้งหมด อีกทั้งสนับสนุนให้ครอบครัวของแรงงานร่วมแสดงความเห็นด้วย

อย่างไรก็ดี อยากให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม ผู้รับข่าวสาร ข่าวสงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีสติ เพราะท่ามกลางสงครามสื่อ ร้ายแรงพอๆ กับสงครามสนาม สามารถทำให้กระแสสังคมโลกเห็นผู้ร้ายเป็นพระเอก เห็นพระเอกเป็นผู้ร้าย เห็นผู้กดขี่เป็นฝ่ายถูกกดขี่ และผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายกดขี่?

อีกทั้ง “ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางทางการเมืองร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะความขัดแย้งนี้มีความซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน”