เก่งเท่าไร ก็ไม่หมู : อุปสรรคการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

สมชัย ศรีสุทธิยากร

นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 560,000 ล้านบาทนั้น เป็นนโยบายหลักที่ประชาชนพูดถึงมากที่สุดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและยังเป็นนโยบายที่ประชาชนจำนวนมากตั้งความหวังที่จะได้เงินจำนวนดังกล่าวเพื่อการจับจ่าย การลงทุนประกอบการเล็กๆ น้อยๆ หรือเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตนหรือครอบครัวประสบอยู่

ยิ่งการยืนยันแข็งขันทั้งกรอบเวลาที่จะแจกให้ได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 การยืนยันถึงการแจกเต็มจำนวนเงิน 10,000 บาทต่อคนในงวดเดียว ไม่แบ่งจ่าย จากทั้งปากนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากปากของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่คล้ายดูเป็นแม่งานสำคัญในเรื่องดังกล่าว

ยิ่งทำให้ดูคล้ายว่า นโยบายดังกล่าว น่าจะไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเป็นไปตามกำหนด

บทความนี้จะไม่กล่าวถึงผลดีหรือผลเสียของการดำเนินนโยบายดังกล่าวซึ่งมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วอย่างมากมาย

แต่จะมุ่งกล่าวถึงอุปสรรคสำคัญและความเป็นไปได้ที่จะแจกเงินจำนวนดังกล่าวโดยมองในมุมกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินว่า จะสามารถตอบสนองเจตนาในทางการนำนโยบายไปปฏิบัติว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

และหากเป็นปัญหา ทางออกทางแก้ของเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

 

560,000 ล้านบาท
สามารถเอาจากงบประมาณแผ่นดินปีเดียวได้หรือไม่

กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ที่ปรับปรุงใหม่ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน คือ 3.48 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มจากกรอบเดิม 3.35 ล้านล้านบาทที่เคยอนุมัติในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรอบวงเงินที่เพิ่มคือ 130,000 ล้านบาท โดยมาจากการประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่ม 30,000 ล้านบาท และจากการกู้อีก 100,000 ล้านบาท

สมมุติว่า จำนวนเงินประมาณการที่เพิ่ม 130,000 ล้านบาท ไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายในโครงการใดๆ เลย และนำมาสนับสนุนโครงการแจกเงินดิจิทัลทั้งหมด เท่ากับว่า ยังขาดเงินอีก 430,000 บาท หรืออีกประมาณร้อยละ 12.35 ของงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2567

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่รัฐบาลต้องจ่ายโดยยึดถือสัดส่วนตาม พระราชบัญญัติงบประมาณปีล่าสุด คือ ของปี พ.ศ.2566 มีสัดส่วนของงบฯ รายจ่ายประจำ ร้อยละ 75.26 รายจ่ายเพื่อการลงทุนร้อยละ 21.82 รายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินกู้ ร้อยละ 3.14

ในส่วนของงบฯ ลงทุนนั้นเป็นไปตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดเงื่อนไขประการหนึ่งว่าจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น จึงเป็นส่วนที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถตัดรายการงบฯ ลงทุนเพื่อนำไปจ่ายเป็นรายการแจกเงินดิจิทัลได้เพราะรายการดังกล่าวไม่ใช่งบฯ ลงทุน

ประโยคที่พูดว่า ไปตัดลดงบประมาณเครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำ แล้วเอาไปเป็นรายการแจกเงินชาวบ้านจึงเป็นประโยคที่โกหก หรือเข้าใจผิด เพราะตัดรายการงบฯ ลงทุนก็ต้องไปเพิ่มรายการงบลงทุนอื่นๆ

ตัดเครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำ ก็ต้องไปเพิ่มเป็น ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล หรืองบฯ ลงทุนอื่นๆ ไม่สามารถแปรเป็นรายการแจกเงินได้

ส่วนรายการชำระหนี้เงินกู้ ก็เป็นรายการที่มีสัญญาการใช้คืนชัดเจน ไม่สามารถลดตามใจชอบได้

ดังนั้น หากจะแตะงบประมาณแผ่นดินก็จะเหลือรายการงบฯ รายจ่ายประจำที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 75 และในจำนวนนี้เป็นงบฯ กลางที่รัฐบาลต้องสำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดในกรณีฉุกเฉิน โดยงบกลางของปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สูงถึง 590,000 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18 ของงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นการตั้งงบฯ กลางที่สูงมาก

การที่ยังขาดเงินอีก 430,000 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตัดมาจากงบฯ กลางของรัฐบาลเอง โดยตัดออกจากสัดส่วนเดิมร้อยละ 18 ให้เหลือสัดส่วนของงบฯ กลางประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเท่ากับสามารถหาที่มาของเงิน 560,000 ล้านบาทได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพียงปีงบประมาณเดียว

แต่การตัดงบฯ กลางดังกล่าว อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องความเสี่ยงในการบริหารราชการแผ่นดินที่อาจมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจำเป็นและในกิจการที่ทางรัฐบาลเห็นว่าต้องใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต

ส่วนการประหยัดงบประมาณอีกทางหนึ่ง คือ ขอให้ส่วนราชการต่างๆ ทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณ ตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออก แต่ก็ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากที่จะขอให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเสียสละ ยกเว้นการใช้มติ ครม. เพื่อตัดงบประมาณทุกกระทรวงออกในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งหมด

 

สามารถใช้ได้
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 หรือไม่

คําตอบคือ “ไม่” เพราะจากปฏิทินงบประมาณที่เสนอโดยสำนักงบประมาณที่ปรับปรุงใหม่หลังจากการมีรัฐบาลชุดใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน ขณะนี้อยู่ในขั้นหน่วยรับงบประมาณกำลังทบทวนและจัดทำคำของบประมาณใหม่ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 เพื่อส่งสภาผู้แทนราษฎร คือ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2566

สภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาอีก 20 วัน โดยมีกำหนดการว่า เมื่อผ่านทั้งสองสภาแล้วสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567

ดังนั้น จะเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 การประกาศว่าจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากเงินงบประมาณแผ่นดินจึงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมายบังคับใช้

การใช้งบประมาณไปพลางก่อนนั้น ก็สามารถใช้ได้เฉพาะในการรายจ่ายประจำที่เป็นรายการเดิมของปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และไม่เกินร้อยละ 50 ของงบประมาณเดิม ไม่สามารถนำมาใช้ในการแจกเงินดิจิทัลที่เป็นรายการใหม่ได้

 

อยากแจกให้ได้ต้องทำอย่างไร

ทางออกในเรื่องนี้ จึงมีสองทางคือ

หนึ่ง ขยายเวลาในการแจกเงินดิจิทัลไป โดยให้เริ่มหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 และอาจแบ่งเป็นสองงวด ให้งวดที่สองไปจ่ายในเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นปีงบประมาณถัดไป เป็นการแบ่งภาระเงินให้กระจายในสองปีงบประมาณแทนที่จะหนักในปีงบประมาณเดียว

สอง หาทางใช้เงินนอกงบประมาณ คือ การใช้มาตรการหรือนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) โดยให้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จ่ายเงินออกไปก่อนโดยรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยในเวลาที่กำหนด หรือการกู้ยืมเงินจากในประเทศหรือนอกประเทศเพิ่ม

การใช้มาตรการกึ่งการคลัง ใช้เพียงมติ ครม. ในกรณีที่ธนาคารของรัฐมีเงินพอและพร้อมตอบสนองนโยบายของรัฐ แม้ติดกรอบวงเงิน ก็สามารถใช้มติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการแก้ไขกรอบวงเงินที่เห็นว่าเหมาะสมได้

ส่วนการกู้เงินจากแหล่งภายในหรือภายนอกประเทศ จะเป็นภาระในการเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศที่ปัจจุบันมีอยู่ 11.02 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง ณ เดือนสิงหาคม 2566) และต้องตั้งงบประมาณใช้คืนในอนาคต กลายเป็นข้อจำกัดการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลทั้งชุดนี้และชุดต่อๆ ไป อีกนานนับร้อยปี (คำนวณจากการตั้งงบประมาณคืนเงินกู้ของปี 2565 และ 2566 ที่ตั้งคืนปีละ 100,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาคืนโดยยังไม่รวมดอกเบี้ย 110 ปี)

บทเรียนของนโยบายประชานิยม คือ เป็นนโยบายที่ประชาชนอยากได้ เพราะเป็นสิ่งที่ได้มาโดยง่าย ในขณะที่ฝ่ายการเมืองพร้อมเสนอให้ แต่จะเป็นการสร้างภาระวิกฤตให้แก่ประเทศหรือไม่นั้นเป็นเรื่องอนาคต

หวังว่าประเทศไทยคงไม่เหมือน อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา กรีซ และศรีลังกา ที่ใช้เวลาไม่ถึง 20 ปี ก่อหนี้สาธารณะ เพื่อนำไปแจกประชาชนตามนโยบายหาเสียง จนกลายเป็นประเทศล้มละลายทางเศรษฐกิจ