“มนต์รักนักพากย์” ความรักใน “ภาพยนตร์ไทย” อย่างสุดใจ ของ”อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร”

วัชระ แวววุฒินันท์

ชื่อตอนตอนนี้ก็บ่งบอกนะครับว่าเป็นชื่อภาพยนตร์ไทย ใช่แล้วครับ เป็นผลงานล่าสุดของ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ที่ฉายทาง Netflix อยู่ตอนนี้

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะโดนใจผู้ชมที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และถ้าในช่วงวัยเด็กเติบโตอยู่ต่างจังหวัดด้วยละก็ น่าจะมีประสบการณ์ร่วมกับหนังไม่มากก็น้อย

“มนต์รักนักพากย์” ชื่อก็บอกถึงเรื่องราวของหนังได้พอตัวอยู่แล้ว เป็นเรื่องของคนที่ทำงานพากย์หนังไทยที่นำออกตระเวนฉายตามต่างจังหวัด

หรือที่เรียกว่าหนังกลางแปลงนั่นเอง

เส้นทางของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง หลังจากถอดโปรแกรมจากโรงหนังชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว ก็จะไปฉายในโรงหนังชั้นสองตามหัวเมือง และในตัวเมืองต่างจังหวัด จากนั้นฟิล์มของหนังก็จะถูกขายต่อให้คนเดินสายที่พ่วงเอาสินค้าไปขายด้วย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ยาสรรพคุณต่างๆ

ในเรื่องนี้ทีมงานรถฉายหนังเร่ของพระเอกเป็นของนายทุนที่เป็นบริษัทยา ชื่อว่า “โอสถเทพยดา” เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้อยู่ในช่วงปลายของความนิยมในการชมหนังกลางแปลง เพราะมีสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นสื่อสมัยใหม่มาแย่งคนดูไป สินค้าต่างๆ ก็หันไปใช้งบกับสื่อที่ว่านั้นแทน

ทีมงานที่ว่านี้จริงๆ ก็มีกันอยู่แค่ 3 คน คือ “มานิตย์” ที่อีกสองคนจะเรียกติดปากว่า “หัวหน้า” รับบทโดย “เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ” อีกสองคนคือ “ไอ้เก่า” ทำหน้าที่คุมจอและเครื่องฉาย รับบทโดย “เก้า-จิรายุ ละอองมณี” และ “ลุงหมาน” คนขับรถ รับบทโดย “สามารถ พยัคฆ์อรุณ”

เรื่องได้ปูปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ นั่นคือ การเริ่มเสื่อมถอยของการชมหนังกลางแปลง ไม่เท่านั้น หนังเร่ที่เป็นคู่แข่งอย่าง “กัมปนาทภาพยนตร์” ก็มีความพร้อมมากกว่าในด้านเครื่องฉาย รถรา และอุปกรณ์ต่างๆ

ข้อสำคัญคือการพากย์เสียงแบบชายจริงหญิงแท้ที่ต้องหูผู้ชมมากกว่า การพากย์ด้วย “ผู้ชาย” คนเดียว ที่ต้องดัดเสียงเป็นตัวละครผู้หญิง ที่ฟังแปร่งหู

และนั่นคือสิ่งที่ทีมของมานิตย์เป็นอยู่

มานิตย์เป็นนักพากย์คนเดียวของทีม เราจึงได้เห็นศักยภาพของเวียร์ในการใช้เสียงพากย์ถึง 5 เสียงในอารมณ์ต่างๆ ตัวบทเปิดโอกาสให้เขาได้โชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการพากย์หนังนั้นเป็น “ชีวิต” ของมานิตย์เลยก็ว่าได้ เขาหลงใหลและมีความสุขจากการพากย์หนังอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อได้พากย์เสียงของพระเอกยอดนิยมที่เขารัก คือ “มิตร ชัยบัญชา” ด้วยแล้ว เหมือนมันได้เติมเต็มความฝันของเขาทีเดียว

สำหรับโลกภาพยนตร์แล้วก่อนหน้าที่จะมีระบบเสียงในฟิล์ม การให้เสียงในการพากย์มีความสำคัญมาก ลำพังแค่ภาพอย่างเดียวผู้ชมคงดูหนังไม่รู้เรื่อง และยิ่งได้เสียงพากย์ที่ขับเน้นอารมณ์และความรู้สึกตามท้องเรื่องได้ดีก็ยิ่งทำให้อรรถรสในการชมภาพยนตร์ถึงขีดสุด

ในหนัง นนทรีย์ได้สร้างเรื่องให้พระเอกมิตรได้พบเจอกับมานิตย์ และมานิตย์ได้บอกกับผู้ชายตรงหน้าด้วยดวงตาที่เป็นประกายว่า “ผมพากย์เสียงคุณทุกวันเลยครับ” เป็นฉากที่ให้เราได้เห็นถึงความรัก เทิดทูน บูชา ในตัวพระเอกมิตร ที่ไม่ใช่แค่กับมานิตย์ แต่รวมถึงไอ้เก่าและลุงหมานด้วย

ซึ่งอารมณ์ของผู้ชมคนไทยทั้งประเทศในตอนนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ แค่ได้ยินชื่อมิตรว่าแสดงนำเรื่องนี้ หนังเรื่องนั้นก็ขายสายได้แล้ว และการันตีถึงยอดผู้ชมที่จะแห่แหนมาชมบทบาทของพระเอกในดวงใจของพวกเขา

ในเรื่องนี้ได้ให้เครดิตด้วยว่า “มิตร ชัยบัญชา แสดงเป็น มิตร” เพราะเรื่องราวตลอดเรื่องจะมีหนังของมิตรเรื่องต่างๆ ฉายขึ้นจอตลอด โดยเฉพาะหนังบู๊จะได้รับความนิยมอย่างมาก และหากไม่มีหนังมิตรเรื่องของรถหนังเร่ขายยาและนักพากย์คงไม่สมบูรณ์แบบแน่นอน

ตัวละครนำอีกตัวหนึ่งที่เป็นผู้หญิงคนเดียว คือ “เรืองแข” รับบทโดย “หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ” บทเรืองแขเป็นบทที่มีสีสันอย่างมาก และต้องขอชื่นชมกับหนูนาที่สามารถถ่ายทอดตัวละครตัวนี้ออกมาได้อย่างกลมกล่อม มีสีสันชวนดู และหนูนาก็เอาอยู่ไม่ว่าจะฉากสนุกสนาน หรือดราม่า เรืองแขได้กลายมาเป็นสมาชิกของกลุ่มในหน้าที่นักพากย์คนใหม่ ที่ทำให้การพากย์หนังของมานิตย์ก้าวไปเป็นแบบ “เสียงชายจริงหญิงแท้” ซึ่งถูกใจผู้ชมอย่างมาก และพลอยทำให้สินค้ายาขายดีไปด้วย

หนูนาก็เช่นกันที่ได้โชว์ศักยภาพของการพากย์หนังในหลายๆ ตัวละครและหลายอารมณ์ และเมื่อเรืองแขจับคู่พากย์กับมานิตย์ก็ไปกันได้อย่างกลมกลืนราบรื่น

ส่วนตัวแล้วชอบบทที่เรืองแขเมาในการเลี้ยงฉลองยอดขายในร้านเหล้ากลางคืนแห่งหนึ่งหนูนาแสดงได้ถึงบทบาทและถอดแบบคนเมามาได้อย่างดีมาก ดูไปก็ได้หัวเราะไป และชื่นชมถึงความ สามารถในการแสดงของเธอ

นับว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทดีดีที่นักแสดงอย่างเธอสมควรได้รับ

ในหนังเราจะได้เห็นชีวิตการทำงานของทีมรถเร่ฉายหนังขายยาว่าทำงานกันอย่างไร นอกจากการพากย์แล้ว การให้เสียงประกอบ และเสียงเพลงทำอย่างไร ต้องเจอกับผู้คน และปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ที่มีทั้งความสุขและความทุกข์ มีทั้งการผจญภัยและความสนุกสนาน

จัดได้ว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทยอย่างหนึ่งได้เลย

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นในหนังเรื่องนี้ก็คือ ในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ หนังไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างความสุขให้กับผู้คนในถิ่นต่างๆ ได้อย่างดี

แค่เวลา 2-3 ชั่วโมง พวกเขาก็สามารถละทิ้งความทุกข์ในชีวิตที่เผชิญอยู่ แล้วมาหาความสุขสำราญบนจอภาพและเสียงพากย์ได้ราวกับอยู่บนสวรรค์

เหมือนในฉากหนึ่งที่มานิตย์ได้รับการว่าจ้างให้ต้องเดินทางลุยไปในป่าลึกและเจอน้ำท่วมทาง จนผู้ว่าจ้างต้องเอาเกวียนเทียมวัวมารอรับคนและเครื่องฉายไปยังที่จัดงาน งานที่ว่าเป็นงานแต่งของคู่บ่าวสาวที่เป็นชนกลุ่มน้อยในป่าลึก

เห็นได้ว่าการได้ฉลองสมรสโดยการนั่งชมภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” นั้น เป็นความสุขมากมายเพียงใดสำหรับคู่บ่าวสาวและแขกเหล่านี้ แม้ฝนจะตกพรำแต่พวกเขาก็ไม่ลุกหนี

ซ้ำยังยิ้มยังหัวเราะไปกับโลกบนจออย่างเป็นของขวัญอันวิเศษก็ไม่ปาน

ดูๆ เหมือนปัญหาต่างๆ จะคลี่คลาย แต่ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมา นอกจากปัญหาความรักของการแข่งกันชิงหัวใจเรืองแข ระหว่าง ไอ้เก่า กับ หัวหน้ามานิตย์ ที่บานปลายจนเกิดเรื่องใหญ่โตที่เกือบจะทำให้ทีมแตกแล้ว ยังมีเรื่องที่มานิตย์ถูกหัวหน้าหน่วยหนังเร่ของตนจับได้ว่า แอบรับเอาเรืองแขมาทำงานด้วย เพราะฝ่าฝืนกฎของบริษัทที่ไม่ให้รับคนเพิ่ม และห้ามคนที่ไม่ใช่พนักงานขึ้นมาบนรถ

แม้มานิตย์จะชี้แจงว่า เขายอมรับผิด แต่เป็นการทำผิดเพื่อความอยู่รอด นั่นคือ สนองความต้องการของผู้ชม และตอบแทนด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นที่เขาจะนำไปโชว์ให้บริษัทในพระนครดู

แต่ยังไม่ทันถึงขั้นนั้นก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่ออุตสาหรรมภาพยนตร์ไทยอย่างมากในช่วงปี 2513 นั่นคือการเสียชีวิตของพระเอกมิตร ชัยบัญชา จากเหตุการณ์ตกจาก ฮ. ในระหว่างถ่ายหนังที่หาดดงตาล อ.สัตหีบ

แน่นอนที่แฟนๆ คนไทยทั้งประเทศต้องเสียใจกับเหตุการณ์นี้อย่างมาก รวมทั้งมานิตย์และทีมงานด้วย โดยเฉพาะมานิตย์ที่เขาผูกพันกับมิตรอย่างมาก โดยมี “มิตรเป็นภาพ” และ “เขาเป็นเสียง” คู่กันมานานหลายปี

เหตุการณ์แห่งความสูญเสียนี้ นำพาไปสู่เรื่องราวในตอนท้ายที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่องก็ว่าได้ นั่นคือฉากประชันการฉายหนังในงานใหญ่แห่งหนึ่งระหว่างทีมของมานิตย์และทีมคู่แข่ง หนังที่ถูกเลือกฉายขึ้นจอเป็นผลงานเอกของมิตร ชัยบัญชา ด้วยกันทั้งคู่ ฝั่งคู่แข่งฉายเรื่อง “อินทรีแดง” ส่วนฝั่งมานิตย์ฉายเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ซึ่งเป็นหนังที่มีเสียงพากย์ในฟิล์มมาแล้ว ซึ่งคู่แข่งก็คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่มานิตย์และทีมเลือกที่จะถ่ายทอดผลงานของมิตรเรื่องมนต์รักลูกทุ่งให้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจะกลับพระนคร ด้วยการพากย์เสียงสดๆ ซึ่งทุกคนก็ใส่จิตวิญญาณและทุกอย่างที่มีให้กับตัวละครบนจอ ไม่เว้นแม้แต่ตอนร้องเพลงที่ทั้งมานิตย์ เรืองแข เก่า ลุงหมาน ก็ลุกขึ้นร้องสดๆ กันอย่างได้อารมณ์ของผู้ชมอีกด้วย

เวียร์แสดงฉากนี้ได้ดีมาก เขาไม่ได้ต้องการจะเอาชนะคู่แข่ง แต่เขาตั้งใจจะมอบผลงานการพากย์ที่ดีที่สุดให้กับพระเอกที่เขารักในโอกาสที่ต้องลาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ

จากข้อมูลจริงมีว่า เมื่อสิ้นมิตร ชัยบัญชา วงการภาพยนตร์ไทยก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา ได้เกิดพระเอกหนังไทยหน้าใหม่ขึ้นมาหลายคน รวมทั้งพระเอกหน้าเดิมที่ทันยุคสมัยเดียวกับมิตร ก็ได้มีโอกาสฉายแววจนโด่งดังขึ้นมาจนมายืนในระดับแถวหน้าได้

หนังก็ได้เปลี่ยนจากระบบ 16 ม.ม. เป็น 35 ม.ม. อย่างกว้างขวาง พร้อมการพากย์เสียงในฟิล์ม รับกับพฤติกรรมการชมความบันเทิงของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ “การออกแบบงานศิลป์” ที่นำโดยคนทำงานคู่ใจของนนทรีย์ คือ “เอก เอี่ยมชื่น” ผู้ฝากผลงานมาตั้งแต่ “นางนาก” “2499 อันธพาลครองเมือง” “จันดารา” “ปืนใหญ่จอมสลัด” เป็นต้น

เรื่องย้อนยุคแบบนี้ เอกเอาอยู่ทั้งโลเกชั่นที่ช่างสรรหาได้เหมือนบ้านเมืองในต่างจังหวัดยุคสมัยปี 2513 ไม่ว่าจะเป็นฉากในตัวเมือง หรือในท้องทุ่งนา ล้วนสวยงามชวนดู และสมจริงอย่างมาก รวมทั้งอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ที่ต้องสรรหา หรือสร้างขึ้นใหม่ให้ตรงกับของที่มีในยุคนั้น บ่งบอกถึงการทำ รีเสิร์ชมาอย่างดี ยิ่งพอได้เสียงเพลงย้อนยุคที่คุ้นหูใส่เข้าไปในช่วงที่เหมาะสมก็เติมเต็มอารมณ์ของผู้ชมรุ่นใหญ่ได้ไม่เบาเลย

ซึ่งนนทรีย์ก็ไม่ได้พาผู้ชมย้อนไปพบเฉพาะฉากบ้านเมืองเท่านั้น แต่พาไปสัมผัสกับวิถีชีวิตการกินอยู่ การจับจ่ายใช้สอย และราคาข้าวของในยุคนั้นอีกด้วย

เรียกว่าสำหรับผู้ชมที่มีอายุสักหน่อย จะต้องรำลึกถึงความหลังและนึกภาพถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่เคยประสบหรือพบเห็นในรูปภาพได้อย่างมีความสุขแน่นอน

ตอนเริ่มของหนัง ได้ขึ้นมาด้วยประโยคที่ว่า “เราควรค้นหาสิ่งที่เรารัก ก่อนที่เราจะเริ่มต้นฝัน”

ซึ่งประเด็นนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังตลอดทั้งเรื่องผ่านตัวละครที่เล่ามานี้ ที่ค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ตนรัก และต้องการเป็นในชีวิตกันแน่ รวมทั้งกับมิตร ชัยบัญชา ที่ก็แสดงให้เห็นว่า “การแสดงภาพยนตร์” คือสิ่งที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ และเขาได้อุทิศให้กับมันจนถึงวินาทีสุดท้าย

ส่วนชื่อ “มนต์รักนักพากย์” นั้น แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้หมายถึงเฉพาะ “ความรักของหญิงชาย” เท่านั้น หากแต่อาจขยายวงไปถึง มนต์เสน่ห์แห่งความรักในการเป็นนักพากย์ ที่ตัวละครอย่างมานิตย์ และเรืองแข เป็นก็ได้

เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขารักที่จะทำ ทำด้วยความสุข ด้วยความฝันที่พร้อมจะฝ่าฟันกับอุปสรรคตรงหน้าอย่างท้าทาย

และเชื่อว่า การทำหนังเรื่องนี้ ก็เป็นผลมาจากความรักอย่างสุดใจในภาพยนตร์ไทยของผู้กำกับฯ คนนี้ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” นั่นเอง •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์