‘พรรคพี่น้อง’ : พรรคคอมมิวนิสต์มลายา และจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

‘พรรคพี่น้อง’

: พรรคคอมมิวนิสต์มลายา

และจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History)

 

การเดินทางเข้าเขตป่าเขาของผมเหมือนหนังสายลับที่เคยดูในโรง

จากสถานีรถไฟหาดใหญ่ ผมนั่งรถสองแถวไปที่ร้านขายยาในตลาดคลองแงะ อ.สะเดา จ.สงขลา

สักพักใหญ่มีคนขับรถเครื่องมาจอดหน้าร้าน เจ้าของร้านยาทักทายอย่างคุ้นเคยแล้วพาไปหาผม

คุณกิจพาผมนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปยังบ้านในสวนยางแห่งหนึ่ง ผมจะต้องพักรอคนจากเขตงานที่จะมารับหลายวัน เท่ากับเป็นการอุ่นเครื่องให้ชินกับสภาพของชนบท ก่อนจะเข้าไปในป่าเขาจริงๆ

บ้านที่ผมไปพักเป็นบ้านไม้ธรรมดาแบบชาวสวนยาง เจ้าของเป็นสามีภรรยาอายุค่อนกลางคนแล้ว มีลูกเล็กๆ ด้วย เขาให้ผมนอนในห้องเล็กด้านหลังคนเดียว ถึงเวลาก็เรียกให้ไปกินอาหารครบสามมื้อ

เขาเป็นจีนแคะ อาหารการกินจึงเป็นแบบจีนสยาม กับข้าวที่ผมไม่เคยกินและทำท่าจะชอบก็คือผัดหมูมันๆ จนน้ำมันสะเด็ด ต้องมีอยู่ทุกมื้อและทุกวัน

อีกสิ่งที่ใหม่สำหรับคนกรุงก็คือกลิ่นของธรรมชาติภาคใต้ ที่เด่นและแรงสุดคือกลิ่นของสวนยาง โดยเฉพาะของน้ำยางสดที่เขาจะนำมารีดจนเป็นแผ่น ผสมกับกลิ่นของคอกหมูและไก่บ้านหลายตัวที่เดินจิกหาอาหารไปรอบๆ บ้าน

มันเป็นกลิ่นและเสียงของชนบทจริงๆ

 

วันหนึ่งก็มีผู้ปฏิบัติงานมาพาผมเดินทางผ่านถนนดำเข้าไปในสวนยางและลึกเข้าไปในป่า ชื่อจัดตั้งคือคุณไส ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ทำงานในเขตขาว แต่ยังไม่ได้ขึ้นเขา

เป็นการเดินทางที่สะดวกและไม่ยากลำบากอย่างที่คิดไว้เลย

ยังแปลกใจว่าทำไมถึงอยู่กันได้ในบริเวณที่ราบแถวๆ สวนยาง ที่ทางการก็อาจเข้ามาปราบปรามได้ไม่ยากเหมือนกัน

ในการเดินทางครั้งสุดท้ายนี้ ผมต้องทิ้งกระเป๋าและสัมภาระ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ของคนเมือง รวมทั้งหนังสือโปรดหลายเล่ม (เช่น ความเป็นมาของคำสยามฯ) รองเท้าหนัง ก็ถูกทิ้งไว้ในบ้านกลางสวนยางนั้น

ผมไม่รู้ว่าจะฝากหรือให้คนแถวนั้นดี ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ออกมาทางนั้นอีกไหม เพราะการเดินทางสุดท้ายคือการเข้าป่า หรือเข้าไปในเขตการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นั้นเอง

เป็นการเดินทางที่แปลกเพราะเรากำลังจะเดินทางเข้าสู่บริเวณหรือพื้นที่ที่ไม่ได้รับการรับรองจากอำนาจรัฐ เป็นพื้นที่ที่รู้จักกันในความรับรู้ที่เป็นนามธรรม ทั้งจากฝ่ายรัฐที่เป็นผู้ปราบปรามและปฏิปักษ์อย่างที่สุด และจากฝ่ายสังคม นักคิดนักเขียน นักการเมือง คนที่ได้ข้อมูลอย่างเลือนราง

ไม่ว่าจะมาอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทำให้พื้นที่หรือความเป็นจริงของคอมมิวนิสต์ในไทยนั้นเป็นเรื่องที่จริงพอๆ กับนิยายหรือตำนานและละครโทรทัศน์หรือหนังไทย

 

หลังจากเดินผ่านสวนยางและป่าละเมาะอย่างเลี้ยวลดคดเคี้ยวจนผมจำทิศทางไม่ได้แล้ว ในที่สุดเราก็มาถึงบริเวณค่ายพักแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงคนพูดคุยและเห็นคนแต่งชุดสีเขียว บางคนสวมหมวกแก๊ปสีเดียวกัน

พอถึงที่พักก็เห็นนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่หลบหนีภัยคุกคามจากในเมืองนั่งคุยกันอยู่ใต้ต้นยาง ถัดไปมีเต็นท์ทำด้วยผ้าพลาสติกสำหรับนอน กระจายอยู่ทั่วไป

จากนั้นผมได้รับการแนะนำให้รู้จักกับสหายนำในค่ายพักแห่งนั้น ปรากฏว่าเขาเป็นคนจีนรูปร่างอ้วนใหญ่ สหายอื่นๆ ก็เป็นจีนเสียทั้งหมด มีน้อยคนที่พูดภาษาไทยได้ชัดเจน

ไม่นานผมจึงได้รับการบอกเล่าว่า ที่พักแห่งนี้คือเขตงานหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) เรียกว่ากองกำลังที่ 8

ไม่นานผมก็ได้เรียนเรื่องย่อของประวัติพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่อาศัยชายแดนไทยมาเลเซียแถบนี้นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยใช้พรมแดนเป็นแนวหลังที่สนับสนุนเสบียง ยุทธปัจจัย และเป็นที่หลบภัยยามถูกล้อมปราบจากกำลังรัฐบาลมาเลเซียมาเป็นเวลายาวนาน

ประมาณปี พ.ศ.2509 ฝ่ายนำทางเขตพัทลุงได้ส่งกำลังพลจำนวนหนึ่งไปทำงานฝังตัวตัดยางพาราที่บ้านวังพา อ.หาดใหญ่ เพื่อทำงานโฆษณากับชาวบ้านในพื้นที่

จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 พคท.มีมติให้สร้างกองทัพสงขลาขึ้น ซึ่งมีสหายส่วนหนึ่งย้ายมาจากพัทลุง

ราวปี พ.ศ. 2513 พคท.ได้เริ่มเข้าเคลื่อนไหวในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง อันเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทำงานของ พคม.มาก่อน ทางฝ่าย พคม.ก็ยินดีคืนพื้นที่ให้ และหนุนช่วยการเข้ามาของ พคท.ในช่วงแรกๆ ด้วย จากนั้นก็ค่อยๆ มีสหายพื้นที่เพิ่มขึ้น

จนกระทั่งต้นปี 2519 มีกำลังในสงขลาเขต 1 ประมาณ 20 กว่าคน ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ราวสามสี่เดือนมีกรรมกรกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯ ประมาณ 10 คน ได้เข้าร่วมต่อสู้ในเขตป่าเขาแห่งนี้ บ้านวังพาเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ลงไปเคลื่อนไหวงานมวลชน

เขตงานสงขลาที่ว่านี้เป็นเขต 1

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีการพยายามสร้างเขตปฏิบัติงานของ พคท.อีกจุดหนึ่งในสงขลาเหมือนกัน แต่ครอบคลุมพื้นที่ อ.สะเดาบางส่วน อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย และบางส่วนของจังหวัดยะลา อยู่ตามแนวเขาสันคาราคีรีที่ทอดไปตามชายแดนไทย-มาเลเซีย มวลชนส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิมที่พูดภาษามลายู มีบางส่วนเชื้อสายจีน

เขตหลังนี้เรียกว่าสงขลาเขต 2 อันเป็นเขตที่ผมเข้าไปพักพิงอยู่ ที่น่าสนใจก็คือเขตนี้เป็นเขตที่ทำงานซ้อนกับของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ซึ่งได้ทำงานมาก่อนหน้าแล้วหลายปี

เรื่องราวที่ตื่นเต้นของ พคม. ที่ไม่เคยอยู่ในหลักสูตรและงานวิจัยประวัติศาสตร์ของผมมาก่อนเลยก็ค่อยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

 

พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นพรรคปฏิวัติที่สองที่ก่อตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (2467) ก่อนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลายปี (2488)

ลักษณะร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์ในอุษาคเนย์คือผู้ก่อตั้งเป็นคนนอก ของอินโดนีเซียคือคนดัตช์ ส่วนมลายาและไทยเริ่มต้นคล้ายกันคือนักเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์เหล่านี้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลจีนใต้ เมื่อมีแกนนำที่เป็นคนในท้องที่แล้ว สมาชิกพรรคจีนก็ถอนตัวออก

การจัดตั้งพรรคมลายาซับซ้อนต่างจากพรรคอื่นๆ คือดำเนินไปภายใต้การชี้นำของโคมินเทอร์น (คอมมิวนิสต์สากล) ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2470 โดยส่งผู้แทนที่เป็นสหายจากอินโดจีนมาร่วมพิธีจัดตั้งพรรค เขาคือโฮจิมินห์ผู้นำขบวนการเอกราชเวียดนาม

นับแต่วาระแรกของการเคลื่อนไหว พรรคคอมมิวนิสต์มลายาประสบปัญหาการแทรกซึมจากสายลับของอังกฤษ กระทั่งสามารถส่งสายลับชื่อไล่เต็ก (Lai Teck) เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคจากปี 2482-2489

ทำให้สมาชิกและแกนนำถูกจับโดยเจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษบ่อย แต่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร

ระหว่างช่วงญี่ปุ่นยึดครองมลายาและสิงคโปร์ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาทำข้อตกลงร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น จัดตั้งกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น (Malayan Peoples’ Anti-Japanese Army-MPAJA) ขึ้นได้รับการฝึกการรบแบบกองโจรและอาวุธจำนวนหนึ่งจากกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC) ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต่อสู้กับญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ กองกำลังอังกฤษยังไม่ได้กลับเข้ามาปกครองมลายา

ช่วงเวลาแห่งสุญญากาศของอำนาจเจ้าอาณานิคมอังกฤษ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสนอให้ดำเนินการ “ปฏิวัติ” ประเทศต่อเลย

แต่ผู้นำพรรคและศูนย์กลางลังเลให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน

ภายหลังถึงทราบที่มาของความผิดพลาดนี้ ที่ไม่น่าเชื่อคือก่อนญี่ปุ่นยอมแพ้ได้จับกุมไล่เต็กและทำให้เขาเป็นสายลับให้กับทางญี่ปุ่น พรรคมลายาจึงพลาดโอกาสในการยึดอำนาจรัฐและขับไล่อังกฤษออกไปดังที่โฮจิมินห์ทำได้สำเร็จในเวียดนามและซูการ์โนในอินโดนีเซียหลังจากกองทัพญี่ปุ่นที่ขับไล่กำลังเจ้าอาณานิคมตะวันตกออกไปจะยอมแพ้

 

ดังนั้น สภาพการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษกลับมาปกครองมลายาได้อีก จึงประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นพรรคนอกกฎหมาย

ท่ามกลางสภาวะยากลำบากหลังสงคราม พคม.มีจุดยืนในการต่อต้านอังกฤษอย่างเอาจริงเอาจัง นำกรรมกรหยุดงานประท้วง ที่จะมีผลต่อขบวนการได้แก่การที่เฉินผิงตัดสินใจใช้การสู้ด้วยอาวุธด้วยการชี้แนะจากมอสโก เริ่มมีการโจมตีสวนยางและสังหารเจ้าของสวนยางที่เป็นคนอังกฤษและเจ้าหน้าที่อังกฤษด้วย นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน (Emergency) ในปี 2491 ที่ให้อำนาจตำรวจในการจับกุมและจับตายฝ่ายคอมมิวนิสต์

สงครามปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธจึงเริ่มนับแต่นั้นมา

เป็นสงครามในประเทศที่โหดเหี้ยม ทั้งสองฝ่ายล้มตายราว 10,000 คน สร้างบาดแผลอันร้าวลึกจนถึงทุกวันนี้

ผมเดาว่าการปิดฉากของ พคท.และการต่อสู้ในป่าในปี 2530 เป็นมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การยุติการสู้รบในปี 2532 ในหาดใหญ่ด้วยการลงนามในสันติภาพระหว่าง พคม.กับทั้งรัฐบาลมลายาและไทย พร้อมกับการปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรกของเฉินผิง (ที่สื่อไทยเรียกว่า “จีนเป็ง”) ผู้เป็นหัวหน้าพรรคคนสุดท้าย

เฉินผิงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการใหญ่ของ พคม. หลังจากที่ค้นพบว่าเลขาฯ เก่าคือไล่เต็กแท้จริงแล้วเป็นสปายของอังกฤษ และต่อมาญี่ปุ่นที่คอยส่งข่าวให้แก่ทางการ

เมื่อความลับแตก ไล่เต็กก็หลบหนีออกนอกประเทศพร้อมกับเงินพรรคก้อนหนึ่ง

การตามล่าไล่เต็กก็พิสดารและตื่นเต้นไม่เบา กล่าวคือ ทาง พคม.ติดต่อให้ทาง พคท.ช่วยติดตามเพราะคิดว่าเขาต้องเดินทางผ่านดินแดนประเทศไทยก่อนออกไปยังประเทศในตะวันตก

ไม่น่าเชื่อว่าสหาย พคท.สามารถสืบหาจนพบไล่เต็กในโรงแรงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และจัดการสังหารให้เรียบร้อย

เฉินผิงในวัยแค่ 26 ปีจึงได้เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคแทน การปราบปรามและนโยบายทำลาย พคม.ของอังกฤษทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น มีการก่อตั้งหมู่บ้านแบบใหม่ที่สกัดไม่ให้อิทธิพลของ พคม.เข้ามาได้ ปิดกั้นการหาเสบียงอาหารจากหมู่บ้าน

จนในที่สุดกองกำลังของ พคม.ที่กระจายเป็นหน่วยย่อยราว 10 หน่วยต้องถอยออกจากเมืองเข้าไปซ่องสุมอยู่ตามตะเข็บชายแดนมลายากับไทย

ส่วนเฉินผิงกับสหายนำก็พำนักอยู่ในจีน เปิดสถานีวิทยุ “เสียงแห่งการปฏิวัติมลายา” (Suara Revolusi in Malaya) ซึ่งต่อมาก็ถูกปิดในปี 2524 เช่นเดียวกับวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคจีน

 

เมื่อสงครามเวียดนามและการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนขึ้นสู่กระแสสูง พคม.เร่งยกระดับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มีผลต่อการต่อสู้ทางความคิดการเมืองในพรรคและกองทหาร ในปี 2513 สิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นในหน่วยรบต่างๆ มีการสอบสวนว่าใครสงสัยจะเป็นสปายสายลับให้แก่ทางการ นำไปสู่การพิจารณาตัดสินลงโทษ ที่หนักคือถึงขั้นประหารชีวิต

กระทั่งกองทหาร 2 กองตัดสินใจตัดขาดแยกตัวออกจากกองศูนย์กลาง เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายและวิธีการจัดการคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรค

นี่คือสภาพทางการเมืองและการทหารของ พคม.ที่ไม่ปกติ เมื่อผมและนักศึกษาลี้ภัยขาวในเมืองเดินทางเข้าไปถึงเขตปฏิบัติงานของ พคม. จัดตั้ง พคท.กำชับว่าไม่ให้วิจารณ์จุดยืนและท่าทีของ พคม.ที่เราเจอ เพราะทั้ง 3 กองคือศูนย์กลาง กอง 12 และกอง 8 ล้วนเคลื่อนไหวในเขตแดนไทยทั้งนั้น นั่นคือ พคท.เป็นสหายกับทุกกอง ไม่ถือหางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

หน่วยงานแรกที่ผมเจอเป็นเขตปฏิบัติงานของ พคม.กองกำลังที่ 8 ซึ่งได้ประกาศแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาศูนย์กลางในปี 2517 เรียกตัวเองว่า พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ฝ่ายปฏิวัติ) หัวหน้าที่นำอยู่คือสหายอี้เจียง เคลื่อนไหวอยู่บริเวณจังหวัดสงขลาแถวสะเดา ทุ่งลุง คลองแงะและเขาน้ำค้าง

อีกกองที่แยกตัวไม่ขึ้นต่อศูนย์กลาง พคม.คือกองกำลังที่ 12 เรียกตัวเองว่า พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ลัทธิมาร์กซ์เลนิน) เคลื่อนไหวในยะลาและเบตง

ผมไม่มีโอกาสเจอเฉินผิงเพราะเขาต้องสะสางปัญหาขัดแย้งเรื่องสายลับพร้อมกับแถลงว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการลงโทษอย่างรุนแรงก่อนกลับเข้ามา หลังจากการเจรจาสันติภาพซึ่งเขาเคยทำครั้งแรกกับตนกูอับดุลเราะห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกก่อนมลายาได้รับเอกราช แต่ไม่สำเร็จ

วาระสุดท้ายของเขาหลังวางอาวุธและสลาย พคม.แล้ว เขาให้สัมภาษณ์และตอบคำถามจากนักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการอย่างเปิดอก เพราะเขาเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่ชื่อเสียงโด่งดัง ค่าหัวเขาในตอนนั้น 250,000 เหรียญสหรัฐ แต่ไม่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาของเขามากนัก

ท่ามกลางเสียงตอบรับที่เป็นมิตรไปทั่วทุกทิศ เขาถูกปฏิเสธและต่อต้านในทุกทางอย่างแข็งขันจากรัฐบาลและผู้นำการเมืองมาเลเซียทั้งหมด

เขาไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซีย ไม่ได้รับอนุญา