คำตอบจาก… ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อิน ’14 ตุลา’

14 ตุลา เป็นขบวนการที่เรามองว่ายิ่งใหญ่ สามารถล้มทหารได้ การพูดถึง 14 ตุลา ส่วนใหญ่ไปเพ่งเล็งเหตุการปะทะช่วง 10 วันนั้น แต่จริงๆ กว่าจะก่อเกิดมันใช้เวลาเป็นทศวรรษ

บทเรียนก็คือ ขบวนการภาคประชาชนในยุคที่เสรีภาพมันจำกัด มันต้องหาพื้นที่ในการเคลื่อนไหว ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาจากกลุ่มเล็กๆ มันไม่มีทางที่จะรวมตัวกันเป็นขบวนการใหญ่ๆ ได้ เพราะตอนนั้นยุคสฤษดิ์-ถนอม มีการปิดกั้นเต็มที่ มีคำสั่งคณะปฏิวัติ มีมาตรา 17 ซึ่งสามารถสั่งประหารชีวิตได้ ยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็น มีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใครต่อต้านรัฐบาล แสดงความเห็นที่แตกต่าง ก็มีโอกาสตายได้เลย มันก็ไม่ปลอดภัย

มันเริ่มจากที่เล็กในมหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายตัวออกไปพื้นที่นอกมหาวิทยาลัย และปัญญาชนข้างนอก

 

บทบาทของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความสำคัญมากในการเชื่อมต่อปัญญาชนรุ่นเก่า ใช้พื้นที่นอกมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้ขับเคลื่อนด้วย บางทีมันก็เริ่มจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสังคมก่อน ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองโดยตรง เพราะรัฐเผด็จการเรื่องการเมืองเขาไม่ให้คุณเคลื่อนไหวได้เลย

นักศึกษาเขาก็เริ่มจากการประท้วงเรื่องหน่วยกิต เรื่องภายในมหาวิทยาลัย

ต่อมาเขาก็ไปประท้วงเรื่องนอกมหาวิทยาลัย เรื่องรถเมล์ เรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน ก็ได้ใจประชาชน ประชาชนก็รู้สึกว่านักศึกษาเป็นพวกเขา

การประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นนักธุรกิจไทยก็สนับสนุน เพราะการขาดดุลการค้า นักศึกษาก็เคลื่อนไหวปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจพ่อค้าไทย มันก็ได้ใจประชาชน

จากตรงนี้และที่มันค่อยๆ สะสมและขยับไปสู่เรื่องทางการเมือง คือพูดง่ายๆ มันก็ต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองว่าประเด็นไหนเคลื่อนไหวได้หรือไม่ได้อย่างไร และมันสะสมแนวร่วมไปเรื่อยๆ จนใหญ่ขึ้น สร้างแนวร่วม ให้ประชาชนมาอยู่ข้างคุณและทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ

14 ตุลา มันได้เปิดศักราชการเมืองของมวลชนการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม มันปล่อยยักษ์ออกมาจากตะเกียง จากแต่ก่อนที่ประชาชนโดนกดมาตลอด

และนับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะพยายามจับยักษ์ตนนี้เข้าไปในตะเกียงก็ไม่สำเร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไปแล้ว ประชาชนได้ออกมาจากตะเกียงแล้ว

ตรงนี้ผมคิดว่าคือคุณูปการที่สำคัญที่สุด

 

ที่บอกว่าคนรุ่นหลังหรือนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่และรุ่นหลังเขาไม่ค่อยอินกับ 14 ตุลา แล้วก็เป็นเรื่องจริง ทั้งที่มันสำคัญมาก

แต่ต้องเข้าใจว่า 14 ตุลา มันมี 2 ด้าน แล้วมันถูกขับเน้นแค่ด้านเดียว คือ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าเราไม่สามารถไปลดทอนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ 14 ตุลา มันมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ ในแง่เพดานทางอุดมการณ์

ซึ่งข้อจำกัดนี้ต้องเข้าใจว่ามันเป็นข้อจำกัดของยุคสมัย ถ้าเราอยู่ในยุคนั้นเราก็อาจจะเคลื่อนไหวได้เท่าที่นักศึกษายุคนั้นเคลื่อนไหว มันไม่มีใครสามารถที่จะฉลาดเกินกว่ายุคสมัยของตัวเองได้ เพราะตอนนั้นเราก็รับรู้แค่นั้น

ในยุคนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวยังไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์เลย มองคณะราษฎรและการปฏิวัติในแง่ร้าย กลายเป็นว่าไปรับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมมา

ประชาธิปไตยที่ต่อสู้ได้มาตอนนั้นมันเลยเป็นประชาธิปไตยที่มีข้อจำกัด ชนชั้นนำยังเข้ามาควบคุมอยู่ เพียงแต่ชนชั้นนำเขาสู้กันเอง

คือพูดง่ายๆ ประชาชนไปต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่สุดท้ายประชาธิปไตยมันโดนไฮแจ็กไปโดยชนชั้นนำอนุรักษนิยม

พอเป็นแบบนี้นักศึกษารุ่นหลังนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังเขาเลยไม่อินกับ 14 ตุลา เพราะเขาไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแบบนี้ ที่มันไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงมา

มันยังเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนำ เขาไม่แฮปปี้กับฉากจบของ 14 ตุลา

 

คนที่ต่อสู้ยุค 14 ตุลา ไม่ได้เป็นเอกภาพทั้งหมด

งานวิจัยของผมจะชี้ให้เห็นว่ามันมีความแตกต่างในร่องรอยทางความคิดอยู่สูงมากอยู่แล้วตั้งแต่สมัยนั้น มีทั้งเป็นกลุ่มที่เป็นชาตินิยม กลุ่มรอยัลลิสต์ หรือที่เป็นฝ่ายซ้าย มีความคิดแบบหัวก้าวหน้าก็มี มันผสมกันอยู่

มันมีความหลากหลายแต่ความหลากหลายมันอยู่ร่วมกันได้เป็นขบวนการใหญ่ เพราะว่ามันมีศัตรูร่วมกันคือระบอบเผด็จการทหาร ของจอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์ นั่นแหละ เพราะทุกคนเห็นว่าถ้าไม่สามารถยุติระบอบเผด็จการทหารนี้ได้ ยังไงสังคมมันก็จะหยุดนิ่ง สังคมมันไม่เจริญ เปลี่ยนผ่านไม่ได้

ระบอบประยุทธ์ในแง่ของเทคนิคการปกครองและการครองอำนาจแทบจะลอกมาจากระบอบถนอม ผมว่าเกินครึ่ง การถ่วงเวลาในการที่จะกลับไปสู่การเลือกตั้ง กว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งนี่พอๆ กันคือ 5 ปี กว่าจะยอมให้มีรัฐธรรมนูญ การฝังกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลนอมินีของทหารขึ้นมา การที่ทหารสามารถชุบตัวเองไปเป็นนักการเมืองและนักเลือกตั้งกลับมาสู่อำนาจได้ การใช้กลไกราชการมาช่วย หลายอย่างมากๆ

คือพูดง่ายๆ ภูมิปัญญาของทหารในยุคหลัง ก็ไม่ได้พ้นไปจากสิ่งที่ถนอมทำไว้เท่าไหร่ คือไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก ตรงนี้ผมว่าคือส่วนที่เหมือนหลายอย่าง

แต่มันก็มีส่วนที่ต่าง ซึ่งส่วนที่ต่างนี้สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือว่าสมัยนั้นทหารเป็นใหญ่จริงๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์กับถนอม อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทหาร ทหารเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจมากที่สุด เป็นคนที่ผูกขาดอำนาจได้จริงๆ อยู่บนยอดของพีระมิด

ในยุคปัจจุบันทหารยังคงอยู่ในการเมืองและยังมีอำนาจมาก แต่ว่าทหารไม่ได้อยู่บนยอดของพีระมิดอีกต่อไป หุ้นส่วนทางอำนาจมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเทียบกับยุคจอมพลสฤษดิ์-ถนอม

ตอนนี้ทหารมาเป็นหุ้นส่วนรองทางอำนาจ รองรับการใช้อำนาจของชนชั้นนำจารีต มันสลับกัน รวมถึงชนชั้นนำจารีตและทหาร ฉลาดมากขึ้น ในการปรับตัว ซึ่งในที่สุดเขาได้ไปผนวกในภาคการเมืองกับพรรคการเมืองเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจด้วย

ฉะนั้น มันเป็นโครงสร้างอำนาจและเครือข่ายทางอำนาจที่ซับซ้อนขึ้นกว่าในยุคจอมพลถนอม

ถามว่าวันนี้สิ้นสุดระบบ 3 ป.ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 หรือยัง ก็ขอใช้คำหรือสำนวนในยุค 14 ตุลา ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา จบลงและหลังจากนั้นไม่นาน คนเริ่มเห็นแล้วว่าโครงสร้างอำนาจที่ระบอบสฤษดิ์-ถนอม สร้างไว้ มันแข็งแกร่งแน่นหนา แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนได้ง่ายๆ

มีนักหนังสือพิมพ์บางคนบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอน 14 ตุลาคมก็คือ กระเบื้องมันหลุดไปแค่ 3 แผ่นแค่นั้นเอง โครงสร้างบ้านที่เป็นระบอบอำนาจนิยมมันยังอยู่ กระเบื้อง 3 แผ่นก็คือ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เราเปลี่ยนกระเบื้อง 3 แผ่นบนโครงสร้างบ้านที่ยังเหมือนเดิม

แล้วเวลาต่อมามันก็พิสูจน์ ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519