ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
“สวัสดีครับพี่น้องทุกท่าน ผม…เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้ชายเดือนตุลา ครั้งหนึ่งเราเคยต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีงาม 20 ปีผ่านไป แลไปข้างหลัง ครั้งหนึ่งเราเคยอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในสังคมไทย ความเยาว์วัยอาจทำให้เราผิดพลาด พลาดพลั้ง แต่ในยุคนั้น ไม่มีใครเลยที่จะมองข้ามหลังพลังของคนรุ่นเรา เหตุการณ์เดือนตุลาคม ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม หรือ 6 ตุลาคมในหลายมิติ เราไม่เคยคิดที่จะให้มันเกิดซ้ำอีก เพราะมันคือความทุกข์รันทดนับร้อยนับพันที่ควั่นเกลียวเป็นหนึ่งเดียว…”1
คำว่า “คนเดือนตุลา” ถูกเอ่ยถึงครั้งแรกๆ โดย “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตแกนนำนักศึกษาช่วง 14 ตุลา เมื่อครั้งจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ในปี 2539 คำคำนี้ถูกยึดโยงเข้ากับ “ปัญญาชนหัวก้าวหน้า” ที่สมาทานแนวคิดตั้งแต่เสรีนิยม ประชาธิปไตยสังคมนิยม ไปจนถึงคอมมิวนิสต์
ซึ่งในความจริงแล้ว ระหว่างคน 14 ตุลา กับ 6 ตุลา นั้นไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันในเชิงอุดมการณ์ ในเขตป่าเขา ความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลากับ 6 ตุลาค่อนข้างรุนแรงมาก แต่ถูกทำให้ “กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน” ภายหลัง นัยหนึ่งก็เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนสองเหตุการณ์2
ปัจจุบัน ปัญญาชนเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นที่รู้จักในหลากหลายวงการ ตั้งแต่นักการเมือง นักวิชาการ แพทย์ ศิลปิน นักธุรกิจ ฯลฯ เราเห็น “คนเดือนตุลา” ที่สังคม “เชื่อว่า” อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย (หรืออาจเอียงซ้าย) กลับให้การสนับสนุนการรัฐประหาร กลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายขวาไปเสียอย่างนั้น
หรือความจริงแล้วพวกเขาอาจไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นเราเองที่เข้าใจเขาผิด?
ใครคือ “คนเดือนตุลา”
สำหรับ “คนเดือนตุลา”
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อยู่ในประวัติศาสตร์เดือนตุลา กล่าวว่า เวลาใช้คำว่า “คนเดือนตุลา” ผมค่อนข้างระมัดระวัง เพราะเข้าใจว่าคนรุ่นหลังนั้นมีมุมมองหลากหลายพอสมควร ทั้งแง่บวกและแง่ลบ
แต่ถ้าถามผม…ผมคิดว่าคำว่า “คนเดือนตุลา” นั้นจบไปพร้อมกับการสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว
สงครามคอมมิวนิสต์เริ่มต้นในไทยปี 2508 แต่ผมคิดว่าพอถึง 14 ตุลานั้นเป็นช่วงของการเปิดโจทย์ใหญ่อีกแบบหนึ่ง เพราะขณะที่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในเมือง ก็มีสงครามในชนบทด้วย โจทย์นี้มันถูกนำไปต่อเชื่อมกันโดยเงื่อนไขทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ แล้วนำไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า “ความกลัวทางการเมืองของปีกขวาไทย” แล้วก็จบลงที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
คนรุ่นผมที่ถูกเรียกว่า “คนเดือนตุลา” ถือกำเนิดจาก 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็มีบทบาทสำคัญไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหลังจาก 6 ตุลา คนรุ่นผมเหลือพื้นที่เดียวคือ เข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เงื่อนไขคนเดือนตุลานั้นส่วนหนึ่งผูกพันกับการต่อสู้ชุดใหญ่ของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ผูกพันกับเงื่อนไขของสงครามอีกชุดหนึ่งของสังคมไทย
เพราะฉะนั้น เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์จบในปี 2526 ผมว่าคำว่า “คนเดือนตุลา” จบแล้ว
จากโฉมหน้าการเมืองในปัจจุบัน
อะไรทำให้ “คนเดือนตุลา” เปลี่ยนไป?
หลังปี 2526 แล้ว คนเดือนตุลาเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง อาจารย์สุชาติให้ความเห็น และว่า หลังปี 2516 เราอาจจะเห็นคนเดือนตุลาออกมาเคลื่อนไหว แต่หลังปี 2526 คนเดือนตุลาที่เคลื่อนไหว ไม่อยู่ในสถานะที่เรียกว่าคนเดือนตุลาได้อีกต่อไป เพราะผมคิดว่าความผูกพันเดิมนั้นจบ
ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าเราเห็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เป็นหนึ่งในตัวละครหลักปฏิวัติปี 2475 เราจะอธิบายจอมพล ป. กับการรัฐประหารปี 2490 อย่างไร? ก็แปลว่าตัวละครเดิมแต่มาเล่นอีกบทหนึ่ง
เราอาจจะตอบแบบนักเรียนรัฐศาสตร์ว่า หลังรัฐประหาร 2490 จอมพล ป.ไม่เคยพูดถึงอุดมการณ์ 2475 อีกเลย แปลว่าการที่จะเรียกจอมพล ป. บุคลากรหลักของ 2475 คงใช้เรียกไม่ได้แล้ว
เช่นเดียวกับ “คนเดือนตุลา” หลังการสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ในปี 2526 ผมว่าคนเดือนตุลาอย่างพวกผมเป็นเพียงคนในประวัติศาสตร์ อยากให้ประวัติศาสตร์นึกถึงเราในช่วงอย่างนั้น
หลังจากปี 2526 ผมคิดว่าการออกจากฐานที่มั่น หรือภาษาที่เราใช้คือ “ป่าแตก” ตั้งแต่ปี 2523 นั่นคือการกลับคืนสู่ความเป็นตัวตนของคนแต่ละคน ใครศรัทธาอุดมการณ์ชุดไหน ใครคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลพอสมควร
ในอดีตนั้นมีเงื่อนไขของการจัดตั้ง มีเงื่อนไขของชุดความคิดทางการเมืองของยุคสมัย ซึ่งหลังจากสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยที่จบปี 2526 ขณะที่ในเวทีโลก สงครามคอมมิวนิสต์ก็เริ่มคลายตัวออกหมดเช่นกัน พอถึงปลายปี 2532 เราเห็นสัญลักษณ์ใหญ่ด้วยการรวมชาติเยอรมันและการทุบกำแพงเบอร์ลิน ก็เป็นการบอกว่าสงครามเย็นจบทั่วโลกแล้ว
พูดง่ายๆ คือ คนเดือนตุลากำเนิดส่วนหนึ่งในบริบทของสงครามเย็น แล้วเกิดในบริบทภายในกับเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ดังนั้น เมื่อสงครามเย็นจบ เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงภายในจบ ผมว่าคนเดือนตุลาหมดแล้ว และไม่อยากให้คนรุ่นหลังรู้สึกว่า “นี่ก็คนเดือนตุลา นั่นก็คนเดือนตุลา” เพราะหลังปี 2526 คนเดือนตุลาที่จะมีบทบาททางการเมืองก็เป็นเงื่อนไขของแต่ละบุคคล
เรียกได้ว่า คนรุ่นผมกลับสู่ความเป็นปัจเจกบุคคล
ผมว่านี่เป็นจุดสำคัญที่อยากให้คนรุ่นหลังเห็นและมองพวกเราอย่างนั้น
มีงานวิชาการบางชิ้นชอบพูดว่าคนเดือนตุลาทำโน่นทำนี่หลังปี 2526 ผมว่าคำตอบของจริงนั้นไม่ใช่ เราไม่ได้มีสถานะและบทบาทความเป็นคนเดือนตุลาอีกแล้ว ยิ่งสงครามเย็นจบ คนเดือนตุลาก็คือจบ จะบอกว่า “คนเดือนตุลาบุกยึดทำเนียบฯ พร้อมกลุ่มเสื้อเหลือง” หรือ “คนเดือนตุลาไปประท้วง” ผมว่านั่นไม่ใช่
เขาทำตามชุดความคิดที่เขาเชื่อ แต่ไม่ใช่ชุดความคิดของคนเดือนตุลา ที่ถือกำเนิดจาก 14 ตุลาคม 2516 แต่อย่างใด
1 คำประกาศ ณ วาระ 20 ปี 6 ตุลา : คำปราศรัยเดือนตุลา-สู่อนาคตสังคมไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
2 “การเติบโตของคนเดือนตุลา : อำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายในการเมืองไทยสมัยใหม่” โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022