ความหมาย และตำนาน ของคำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ที่ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ ปลุกสร้าง

บทความพิเศษ | 50 ปี 14 ตุลา 16

 

ความหมาย และตำนาน

ของคำว่า ‘คนเดือนตุลา’

ที่ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’

ปลุกสร้าง

 

ศูนย์ข้อมูลมติชน ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคำว่า “คนเดือนตุลา” ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยผู้ที่เป็นคน “สร้าง” คำคำนี้ขึ้นมา คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ทั้งนี้ เสกสรรค์ ในฐานะอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำคำนี้ไว้ ในโอกาส 30 ปี 14 ตุลาคม 2516 ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2546

ดังนี้

“ที่ผมใช้คำว่า คนเดือนตุลาต้องเข้าใจที่มา

ผมใช้คำนี้ครั้งแรก ในช่วง “20 ปี” 6 ตุลาคม (2519)

เพราะผมต้องการประสานสามัคคี ระหว่างคน 2 รุ่น

คือคนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 และคนรุ่น 6 ตุลาคม 2519

แต่เดิมนี่ มีการน้อยอกน้อยใจกันอยู่ว่า

รุ่นหนึ่งชนะ

รุ่นหนึ่งแพ้

ผมอยากบอกพวกเขาว่า จริงๆ แล้วเราเป็นพวกเดียวกัน

เพราะการต่อสู้มันต่อเนื่อง จาก 14 ตุลาคม 2516 มา 6 ตุลาคม 2519

มันแยกออกเป็นคนละพวกไม่ได้

มันเป็นขบวนการที่ต่อเนื่องกันมา

ผมจึงเรียกทุกคนว่า คนเดือนตุลา

ซึ่งพวกเขาก็เลยขยายเป็นคำเรียกขานตัวเอง รุ่นของตัวเอง เผ่าพันธุ์ทางความคิดของตัวเอง ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

กระทั่งบางส่วนก็ใช้มันเป็นเครื่องรางของขลัง ไว้ไปข่มคนอื่นที่ไม่ได้ผ่านยุคสมัยเดียวกัน

 

เสกสรรค์รับว่า คำว่า “คนเดือนตุลา” มีวิบากกรรมของมัน

คือพอพูดขึ้นมาแล้วไม่ใช่บวกทั้งหมด อาจจะมีลบบ้าง

เพราะมีคนนำไปใช้ต่างกรรมต่างวาระ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ

ตัวเองก็ต้องยอมรับความจริง ผ่านมา 30 ปี แต่ละคนอาจจะต้องมาดูกันใหม่

เพราะว่าสภาพมันไม่เหมือนเดิม ไม่ได้กอดคอกันอยู่เหมือนสมัยก่อน

 

เมื่อถามว่า ถ้ามองว่า คนเดือนตุลา หมดไปแล้ว รู้สึกอย่างไร

เสกสรรค์บอกว่า ไม่เป็นไร เพราะก่อนจะมีคนเดือนตุลา มันก็ไม่มีคนเดือนตุลา

มันก็ยังมีคนเดือนอื่นๆ อยู่ต่อไป อย่าไปวิตกกังวลต่อเรื่องนี้เลย

สังคมถ้ามันมีปัญหา มันก็ต้องมีคนดิ้นรนแก้ปัญหาต่อเนื่องกันไป

นี่เป็นวิถีของมนุษยชาติตั้งแต่สมัยอยู่ในถ้ำ ต่อยหินมาเป็นเครื่องมือ ไม่มีใครยอมจำนนกับความทุกข์ยากง่ายๆ

ถ้าคุณอยากจะสู้เพื่อความเป็นธรรมในประเทศไทย

คุณจะต้องรอให้ถึงวันที่ 14 ตุลาของทุกปีด้วยหรือ

อันที่จริงมันเป็นภารกิจที่คุณทำวันไหนก็ได้

เราต้องแยกระหว่างการเฉลิมฉลองกับการต่อสู้

สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน การต่อสู้หรือการเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องไม่ต้องรอวันไหนเป็นพิเศษ

ที่ไหนมีปัญหาเราเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้นในเวลานั้น

และถ้าจะแสดงว่าเราคือคนเดือนตุลาที่สืบทอดเจตนารมณ์มาแต่ดั้งเดิม ก็แสดงได้เลยทุกวันด้วยการกระทำที่เป็นจริง

หากรักความเป็นธรรมไม่ต้องให้ถึงวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีก็ได้

(ที่มา : มติชนรายวัน 14 ตุลาคม 2546)