E-DUANG : “รูปธรรม” ของ การศึกมิหน่ายเล่ห์

พลันที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ประกาศออกมาก็ก่อให้ เกิดเสียงร้องเอะอะดังมาจาก “นักการเมือง”

ไม่ว่าจะเป็น นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ

ไม่ว่าจะเป็น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ว่าจะเป็น นาย

นพดล ปัทมะ

น่าสนใจที่เป็นเสียงเดียวกัน

ไม่บ่งบอกว่าเป็นคีย์อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่บ่งบอกว่าเป็นคีย์อันมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่บ่งบอกว่าเป็นคีย์อันมาจาก พรรคชาติไทยพัฒนา

เพราะเป็นคีย์อันสะท้อนบทสรุป”รีเซ็ต”พรรคการเมือง

เป็นเสียงร้องเจ็บปวด โหยหวนเหมือนกับกำลังถูกเชือดด้วยดาบอันแหลมคม

 

ต้องชมว่ามาตรการอันออกมาจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้มากด้วยพลานุภาพในทางการเมือง

อย่างน้อยก็สร้าง”ความปรองดอง”

เป็นความรู้สึก “ร่วม” ของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่า

พรรคประชาธิปัตย์มีรากฐานตั้งแต่ปี 2489

พรรคชาติไทยพัฒนามีรากฐานตั้งแต่ปี 2518 พรรคเพื่อไทยมีรากฐานตั้งแต่ปี 2541

แล้วก็ต้องเปะปะเป๋ไป๋ แทบไปไม่ถูก

บรรดามวลมหาประชาชนที่เคยเปล่งคำขวัญ”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”อาจบังเกิดความสะใจที่เห็นรูปธรรมและฤทธิ์เดชจาก”ลุง กำนัน”

เพราะ 2.8 ล้านของพรรคประชาธิปัตย์  พังครืนราวปราสาททรายต้องคลื่น

 

พลันที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ปรากฏคำอันเฉียบขาด ของท่าน “ซุนวู”ก็โดดเด่น

นั่นก็คือ การศึกมิหน่ายเล่ห์

การศึกเป็นเช่นนี้ การเมืองเป็นเช่นนี้ เพราะว่าเป้าหมายย่อมดำเนินไปตามหลักการ

1 สงวนกำลัง 1 บดขยี้ศัตรู

ประเด็นอยู่ที่ว่า รู้กันหรือยังว่าเป้าหมายของคสช.มิได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว