ลานโพธิ์ เล่มละบาท สะพานเชื่อม สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ สำเริง คำพะอุ

บทความพิเศษ

 

ลานโพธิ์ เล่มละบาท

สะพานเชื่อม สุจิตต์ วงษ์เทศ

กับ สำเริง คำพะอุ

 

เส้นทางความสัมพันธ์ระหว่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ สำเริง คำพะอุ และ จรัล ดิษฐาอภิชัย เหนือความคาดคิด

1 ศิลปากร 1 ธรรมศาสตร์ 1 เกษตร บางเขน

กระนั้น การเริ่มต้นเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก็มิได้แยกขาดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ท่าพระจันทร์ กับ ท่าช้าง ก็ใกล้กันอย่างยิ่ง

การที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของ สำเริง คำพะอุ และรับรู้การปรากฏขึ้นแห่ง “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

จึงเป็น “วาสนา” อันเกี่ยวกับ “ลานโพธิ์”

โดยพื้นฐาน “สะพานเชื่อม” อย่างทรงความหมายของเด็กหนุ่มผู้ฝักใฝ่ทางการเขียนยุคหลัง “สฤษดิ์” และยุคเริ่มต้น “ถนอม” คือ

“โรงพิมพ์” และหนังสือ “เล่มละบาท”

สำเริง คำพะอุ

แรงดัน ความคิด

หนังสือ เล่มละบาท

หากใครติดตามหนังสือ “เล่มละบาท” อันมีรากฐานมาจาก “วรรณศิลป์” ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะรับรู้ในภาวะ “ดิ้นรน”

ทั้งในทาง “ความรู้สึก” ทั้งในทาง “ความคิด”

หากใครติดตาม “หนังสือเล่มละบาท” อย่างต่อเนื่องย่อมเคยได้อ่านบทรำพึงของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

แสดงความพร้อมในการ “ถอยหลังเข้าคลอง” ท่ามกลางการเดินไป “ข้างหน้า”

ไม่เชื่อลองอ่าน “คนบาป” ไม่เชื่อลองอ่าน “นิราศ” ไม่เชื่อลองอ่าน “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” อย่างชนิดลงลึก

ยิ่ง “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ยิ่งสัมผัสได้ในความรุ่มร้อนแห่งหัวใจ

นี่ย่อมสอดรับกับความเร่าร้อนภายในความคิดของเด็กหนุ่มจากพยัคฆภูมิพิสัยอย่าง สำเริง คำพะอุ ผู้เข้ามาเรียนใน “สวนกุหลาบ”

และเริ่มต้นชีวิตทางวรรณกรรมผ่าน ‘กุหลาบสาร”

 

สาวลึก ขอดน้ำตากิน

กับ นเรศ นโรปกรณ์

สายสัมพันธ์ของ สำเริง คำพะอุ หากศึกษาผ่าน “ขอดน้ำตากิน” ก็จะสัมผัสได้ว่าลึกซึ้งในความเป็นคนชนบท

ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า รมย์ รติวัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เวทย์ บูรณะ

ขณะเดียวกัน สำเริง คำพะอุ เป็นนักเรียน “สวนกุหลาบ” รุ่นแรกๆ ที่ข้ามสะพานพุทธไปทำความรู้จักกับ นเรศ นโรปกรณ์

ณ ฐานที่มั่น “จักรวาลกวี” แห่ง ปชส.7

ห้วงยามนั้น นเรศ นโรปกรณ์ ว่างเว้นจากการเป็นนักข่าว “หนังสือพิมพ์” หากเข้ารับผิดชอบการข่าวผ่านสถานีวิทยุ ปชส.7 ของ กทม.

ขณะเดียวกัน ก็จัดรายการ “จักรวาลกวี” ตามความชมชอบ

เป็นความชมชอบและแนวถนัดพร้อมกับเข้ารับผิดชอบหน้า “อักษราวาลี” ของหนังสือพิมพ์ “สยามสมัย” รายสัปดาห์ ยุค อาสา บุณยมานพ

จักรวาลกวีมีจุดหมาย ผดุงสายธารกลอนกระฉ่อนสยาม

 

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต

พิบูลย์ชัย พันธุลี

สําเริง คำพะอุ เข้าไปเสพเสวนากับ นเรศ นโรปกรณ์ รุ่นเดียวกันกับ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต และ พิบูลย์ชัย พันธุลี

ทั้ง 3 ล้วนแต่งเครื่องแบบ “สวนกุหลาบ”

ทั้ง 3 ร่วมกันจัดทำหนังสือเล่มละบาท “กุหลาบสาร” ด้วยความรุนแรงและเข้มข้นและต้อง “ภาคทัณฑ์” นิ่มนวล

นิ่มนวลเพราะความช่วยเหลือของ อาจารย์โปร่ง ส่งแสงเติม

นี่เป็นประสบการณ์ทางด้านการทำ “หนังสือ” ของ สำเริง คำพะอุ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต พิบูลย์ชัย พันธุลี ก่อนเข้า “มหาวิทยาลัย”

สำเริง คำพะอุ เข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปิยะพันธุ์ จัมปาสุต และ พิบูลย์ชัย พันธุลี เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แล้ว สำเริง คำพะอุ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ รู้จักกันได้อย่างไร

 

สะพานเชื่อม 2 หนุ่ม

พรานนก บางลำพู

ไม่ปรากฏการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่บางร่องรอยที่เชื่อมโยง สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้เข้ามาใกล้กับ สำเริง คำพะอุ

1 คือประสบการณ์ที่เคยพักอยู่บางขุนเทียนระยะสั้นๆ

ขณะเดียวกัน 1 คือเส้นทางสัญจรระหว่างโรงพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นย่านพรานนก ไม่ว่าจะเป็นย่านบางลำพู

และ 1 เพื่อนของ สำเริง คำพะอุ ในคณะโบราณคดี ศิลปากร

นั่นย่อมเป็น เถกิง พันธุ์เถกิงอมร ที่ปรากฏในฐานะตัวละครหนึ่งแห่งนวนิยายขนาดสั้น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

ทั้งๆ ที่แท้จริงเขาคือเจ้าของนามปากกา บรรณ วีรวรรณ อันแช่มช้อย

อย่าได้แปลกใจเมื่อ สำเริง คำพะอุ หาความจัดเจนผ่านหนังสือ “เล่มละบาท” ในชื่ออันเกริกไกรว่า “ลานโพธิ์”

สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงกำนัลด้วย “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

นั่นเป็นยุคก่อน สำเริง คำพะอุ จะเข้าร่วมมีส่วนในกลุ่มอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งกับ จัตุรนต์ คชสีห์ กับ ธีรนุช ตั้งสัจพจน์ กับ ธวัช มนูธรรมธร

ก่อนที่จะผาดโผนผ่าน “ลอมฟาง” ที่กลายเป็น “ตำนาน”

 

เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

จรัล ดิษฐาอภิชัย

ยุคนั้น จรัล ดิษฐาอภิชัย ย้ายจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ไปเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงได้รับรู้ในบทบาทของ สำเริง คำพะอุ

ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปอยู่คณะรัฐศาสตร์ และมีบทบาทเป็นเหมือนเงาสะท้อนแห่งอิทธิพล “ฮิปปี้” ยุคแรกของท่าพระจันทร์

มีความดุเดือดเข้มข้น ไม่น้อยกว่า “หน้าพระลาน”

ก่อนที่จะเข้าไปมีบทบาทใน “กลุ่มบูรณะชนบท” ก่อนที่จะได้รู้จักกับ ธัญญา ชุนชฎาธาร ก่อนที่จะได้รู้จักกับ พิรุณ ฉัตรวนิชกุล

รวมถึง กมล กมลตระกูล

ก่อนที่จะเกิด “สภาหน้าโดม” ก่อนที่จะเกิด “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” ก่อนที่จะเกิด “กลุ่มเศรษฐศาสตร์” ก่อนที่จะมีการก่อตั้ง “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต”

ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสำนักพิมพ์ “หนังสือ” พิมพ์งานของ “ทีปกร”

เส้นทางเหล่านี้ล้วนอยู่ในความรับรู้ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ล้วนอยู่ไม่ห่างไปจากกิจกรรมของ สำเริง คำพะอุ

ความน่าสนใจอยู่ที่การแตะเข้าไปยัง “สยามรัฐ”

 

ช่อฟ้า สยามรัฐ

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

จากนี้จึงเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่ารากฐานและการเคลื่อนไหวของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สัมพันธ์กับแต่ละเทศะอย่างทรงความหมาย

เริ่มจาก “วัดเทพธิดาราม” ตามด้วยการย้ายไปยังจุดใกล้ “วัดชิโนรส”

เริ่มจากเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยาราม แล้วโยกไปยังวัดนวลนรดิศ แล้วจรไปจบเตรียมอุดมศึกษาที่ผะดุงศิษย์พิทยา

แล้วปักหลักที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ฐานที่มั่นที่สะสมประสบการณ์ด้านหนังสือจึงอยู่ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

จากนั้น ทะยานไปยัง “ช่อฟ้า” ตรงข้ามวัดราชบพิธ

สะสมประสบการณ์จากการทำหนังสือ จากการประดิษฐ์สร้างงานทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น เรื่องยาวขนาดสั้น บทความ

ได้เวลาอันเหมาะสมก็ทะยานไปยัง “สยามรัฐ”

“สยามรัฐ” อันเป็นความฝันของเด็กหนุ่มผู้รักงานเขียนและการทำหนังสือพิมพ์ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมากด้วยความผันผวน ปรวนแปร

“ช่อฟ้า” จึงเหมือนกับเป็น “กระดานหก” อย่างทรงพลัง

ส่งให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าสู่ “มหาวิทยาลัย” แห่งถนนราชดำเนิน