สมรภูมิ ดิจิทัล 10000 รุกก็ 100000 (แสน) เข็ญ ‘ถอย’ ก็ไม่ได้

เป็นเดือนตุลาคมที่ร้อนระอุจริงๆ หลังเกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ในระดับสงครามกลางสมรภูมิตะวันออกกลาง เมื่อ “กลุ่มฮามาส” จู่โจมแบบสายฟ้าแลบต่อ “อิสราเอล”

สถานการณ์ตอบโต้กันไปมาเกิดขึ้นตลอดรอบสัปดาห์ ผู้เสียชีวิตพุ่งสูงรวมกันถึงระดับหลายพัน มีการจับตัวประกันเกิดขึ้นโดยกลุ่มฮามาส

แต่ที่น่าตกใจคือตัวเลขอย่างเป็นทางการ พลเมืองสัญชาติไทยกลายเป็นประเทศที่มีพลเรือนต่างชาติที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้มากที่สุด นับถึงขณะนี้ก็เกิน 20 คนแล้ว บาดเจ็บอีกหลายราย รวมถึงถูกจับเป็นตัวประกันไม่รู้เป็นตายร้ายดี อีกมากเกือบ 20 ราย หลายพันคนเรียกร้องขอกลับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาแรกของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อเหตุการณ์คือ โพสต์ข้อความประณามการโจมตี แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่ออิสราเอล

หรือจะเป็นจุดยืนของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประณามการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม แสดงความเสียใจต่ออิสราเอล และขอเป็นกำลังใจให้ก้าวผ่านวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้

ตามด้วย กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ในนามประเทศไทย ประณามการใช้ความรุนแรงและการโจมตี ขอแสดงความหวังให้รัฐบาลอิสราเอลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว

คำถามคือจุดยืนของรัฐบาลไทยดังกล่าวเหมาะสมแค่ไหน?

อย่าลืมว่าทั้งสองฝ่ายสู้รบกันมายาวนาน เป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติและที่มาทางประวัติศาสตร์ และต่างก็มีผู้สนับสนุนระดับสำคัญด้วยกันทั้งคู่ ที่สำคัญคือมีคนไทยโดนจับเป็นตัวประกันอยู่ การออกแสดงจุดยืนอย่างรวดเร็วในการยืนข้างอิสราเอล และประณามอีกฝ่ายในสถานการณ์แบบนี้ อาจได้ไม่คุ้มเสีย

แม้ตอนหลังจะพยายามแก้ต่างว่าเป็นการประณามความรุนแรง แต่ควรระวังไว้แต่แรกจะดีกว่า

 

นั่นคือความดุเดือดในการรบของ “สมรภูมิ” ระดับโลกที่เกิดขึ้นรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลเศรษฐาที่ต้องเจอ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพราะเกี่ยวกับชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อย ขณะที่การพาคนไทยกลับขณะนี้ก็เป็นไปอย่างไม่ได้รวดเร็วนัก

ส่วน “สมรภูมิ” ดุเดือดในประเทศไทยที่รัฐบาลเศรษฐาต้องเจอ คือสมรภูมิทางการเมืองเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัล

หลังเจอนักเศรษฐศาสตร์ร้อยกว่าคน รวมถึง ดร.วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมตัวกันออกแถลงการณ์ส่งถึงรัฐบาล ส่งเสียงเตือนดังๆ ขอให้ทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะต้องใช้งบฯ ถึง 5.6 แสนล้านบาท มากมายมหาศาล ห่วงว่าจะมีปัญหาเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ เกรงว่าประเทศจะสูญเสียโอกาสที่จะเอางบฯ นี้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาจได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลเสียทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

นอกจากขนาดของเงินที่ใช้จะมีปริมาณมาก จนเกิดคำถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน จะต้องขายกองทุนของรัฐบาล หรือจะต้องกู้เพิ่มอีกเท่าไหร่ งบฯ มากมายมหาศาลขนาดไหน หาจากไหนถึงจะเพียงพอ

เสียงคัดค้านมีทั้งขอให้ยกเลิก ไปจนถึงไม่ต้องยกเลิก แต่ให้ปรับกฎเกณฑ์บางอย่างให้เข้ากับความจำเป็นและลดภาระทางการคลังมากที่สุด

 

แม้แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ก็ออกมาส่งเสียงชัดๆ ยืนยันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยในระดับมหภาค ไม่ได้อยู่ในจุดโคม่าวิกฤต ประเทศไม่ได้เป็นคนไข้ที่อยู่บนเตียงโรงพยาบาล แต่เราฟื้นไข้กลับมาอยู่ที่บ้านได้แล้ว ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวิกฤต เกิดหัวใจวายฉับพลันไม่น่าจะมี ความจำเป็นที่จะเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มากนัก แง่สุขภาพเศรษฐกิจไทยระยะสั้นไม่น่าห่วง แต่ที่ขาดเป็นเรื่องของการเติบโตระยะยาว ต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะคนไข้ฟื้นแล้วจะรักษาแบบเดิมไม่ได้

ยังไม่นับปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงอย่างยาวนานนับตั้งแต่นโยบายนี้ถูกประกาศออกสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัศมีการใช้จ่ายที่กลายเป็นขีดจำกัด สุดท้ายอาจไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง หากจะขยายจะใช้เกณฑ์อะไรถึงจะเหมาะสม ทั้งหมดก็ยังไม่ชัดเจน

ตามมาด้วยปัญหาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการดำเนินการ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าขั้นตอนการใช้เงินจะดำเนินการแบบใด หรือบล็อกเชนดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะมีเสียงทักท้วงจากคนในวงการว่าเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้รัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน

แม้แต่การตั้งคำถามไปยันเรื่องใหญ่โตอย่างปัญหาทุนผูกขาด ทุนใหญ่ในไทย ที่อาจได้รับประโยชน์จากเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านนี้เต็มๆ มากกว่าใคร เนื่องจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจ-การบริโภคที่ครอบงำโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคอยู่ แทนที่โครงการนี้จะสร้างงานครั้งใหญ่ ผลจะไปตกกับกระเป๋าทุนใหญ่หรือเปล่า

รัฐบาลหาวิธีเลี่ยงสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยังและทำอย่างไร?

 

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ออกมาชี้แจง ยืนยันนโยบายนี้จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจแน่นอน ได้พิจารณาถึงรายละเอียด กรอบกฎหมายรวมถึงภาระทางการเงินการคลัง โดยมีการกำหนดเงื่อนไข วิธีการชัดเจน เพื่อนำไปสู่การบริโภคอุปโภคและการลงทุน สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี

ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย น้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น

แต่ยืนยันไม่ยกเลิกโครงการ

 

บทสรุปการชี้แจงของรัฐบาลจนถึงวันนี้ต่อการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลที่สังคมตั้งคำถามก็ต้องยอมรับว่ายัง “คลุมเครือ” ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหลักๆ ก็ยังไม่เคลียร์

อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ควรยึดเป็นหลักพื้นฐานคือ การให้โอกาสรัฐบาลในการทำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน แม้นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะออกมาแสดงความเป็นห่วง แต่สุดท้ายแล้ว การรักษาสัญญาประชาคม ด้วยการดำเนินนโยบายที่พรรคการเมืองให้สัญญาไว้กับประชาชนก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ จะดีจะเลวอย่างไรหลังจากนั้น ก็เป็นเรื่องของการไปตัดสินกันที่การเลือกตั้ง

หรือมากกว่านั้นก็เป็นการใช้กลไกรัฐสภาในการจัดการ ตรวจสอบ ตั้งคำถาม หรือหากทนไม่ได้จริงๆ ประชาธิปไตยก็มีกลไกการเมืองบนท้องถนน สามารถจัดชุมนุมได้ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

แม้จะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากการพลิกขั้วจับมือกับพรรคขั้วอำนาจเดิมสำเร็จ แต่อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเต็มที่ มีเสียงในสภาเด็ดขาดดังที่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ดังนั้น จะเป็นการดีกว่า ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะรับฟังเสียงท้วงติงอย่างมาก โดยเฉพาะความเห็นทางวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่ออุดช่องว่างนโยบาย และเพื่อการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

หลีกเลี่ยงการตอบโต้ความเห็นต่างที่ออกมาตั้งคำถาม กระทั่งขอให้ทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล ด้วยการลดทอนให้ผู้แสดงความเห็นเหล่านั้นเป็นเพียง “ขั้วตรงข้ามทางการเมือง” หรือการบอกว่าพวกเขาเหล่านั้นมีจุดมุ่งหมายเพียงต้องการ “ล้มรัฐบาล” หรือการอ้างเรื่องทำไมยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจกเงิน นักวิชาการเหล่านี้จึงไม่ออกมาพูด

การถกเถียงลักษณะนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ยึด “หลักวิชา” ยิ่งนานวันยิ่งสร้างศัตรูให้รัฐบาลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การสร้างพื้นที่ถกเถียงเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

แม้จะมีความเห็นจากศัตรูทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในอดีตจริงๆ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสภา จะออกมาส่งเสียงคัดค้าน รวมถึงข่มขู่จะเล่นงานด้วยข้อกฎหมาย แต่อย่าลืมว่าคำวิจารณ์นโยบายเงินดิจิทัลจำนวนมาก ก็มาจากมิตรของพรรคเพื่อไทยเอง

อย่าว่าแต่นักเศรษฐศาสตร์เลย ขนาดทักษิณ ชินวัตร ก็ยังเคยพูดไว้ในรายการ CARE Talk เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 2565 นี้เองว่า หมดยุคการแจกเงินแล้ว ต้องใช้สติปัญญามากกว่านี้ ต้องนำเงินไปสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรง ดังนั้น การรับฟังเสียงท้วงติง ไม่เสียหายหรอก

 

รัฐบาลจึงต้องปรับเปลี่ยนการ “รับมือ” กับเสียงคัดค้าน ต้องตอบให้ได้ว่านโยบายนี้จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดกว่านี้ได้อย่างไร ซึ่งจนถึงวันนี้ เรื่องราวต่างๆ ก็ดูเปลี่ยนไปมายังไม่ลงตัว

นับเป็นภาวะ ผะอืดผะอมในทางการเมือง จะเลิกก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหลักยึดเดียวที่จะทวงคืนความชอบธรรมทางการเมืองที่มีอยู่น้อยนิดกลับคืนมา

แต่จะเดินหน้าก็ยากยิ่ง และไม่สามารถผิดพลาดได้เลย ถ้าพลาดขึ้นมา อนาคตของพรรคเพื่อไทยแทบจะเรียกได้ว่าล่มสลายทางการเมือง ไม่เท่านั้น ยังจะพาพรรคร่วมรัฐบาลจมน้ำไปกันด้วย

สมรภูมินี้จึงเป็นการศึกครั้งใหญ่ สำหรับพรรคเพื่อไทย แต่น่าเสียดายที่รอบนี้ หันไปหาเสียงของนักวิชาการที่จะส่งเสียงสนับสนุนเหมือนกับที่เกิดขึ้นยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้อยลงจนแทบไม่มี (หากไม่นับกองเชียร์)