สมรภูมิ ‘อิสราเอล’ ‘ไกล’ แต่ ‘ใกล้’ เขย่าขวัญ 3 หมื่นคนไทย

จากสถานการณ์การโจมตีโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าของกลุ่มติดอาวุธฮามาสจากปาเลสไตน์ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลักพันคน รวมถึงมีผู้ถูกจับตัวไปอย่างน้อยอีกร้อยกว่าชีวิต ซึ่งจากจำนวนข้างต้นเป็นพลเรือนอิสราเอล ฝรั่งเศส เยอรมัน จอร์เจีย และกลุ่มแรงงานชาวไทย

ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ต้องประกาศให้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม เร่งอพยพพลเรือนทั้งชาวอิสราเอลและประเทศอื่นๆ ออกจากเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนฉนวนกาซาให้เร็วที่สุด ซึ่งพบว่ามีคนไทยอยู่ในอิสราเอลมากถึง 30,000 คน และอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซาราว 5,000 คน

ทันทีที่เกิดเรื่อง “ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกมนตรี ได้เปิดเผยว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้ความช่วยเหลือและความปลอดภัยของพี่น้องคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล มีแรงงานชาวไทยในอิสราเอลพันกว่าคนที่แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย จึงได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็ว

ด้าน “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้หารือและเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอล เพื่อยุติความรุนแรงนี้และช่วยเหลือตัวประกัน เราจึงได้รับแจ้งกลับว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว และจะพยายามดูแลคนไทย รวมถึงควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด

 

“กาญจนา ภัทรโชค” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวแจ้งความคืบหน้าของสถานการณ์และการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล พบว่ามียอดล่าสุดที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย 5,019 คน จากแรงงานไทยในอิสราเอลที่มีอยู่กว่า 30,000 คน และมี 61 รายที่มีความประสงค์ต้องการจะอยู่ต่อ ซึ่งมีทั้งแรงงานที่เดินทางไปอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

ล่าสุดพบยอดคนไทยเสียชีวิตที่จากเดิมมีรายงานว่า 18 ราย แต่ในเวลาต่อมาเพิ่มอีก 2 ราย เป็น 20 ราย ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย รวมตัวเลขผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 13 ราย

ส่วนจำนวนผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันมีเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย รวมเป็น 14 ราย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมจาก The Times of Israel สื่อท้องถิ่นอิสราเอล รายงานว่ากองทัพอิสราเอลพบตัวบุคคลสูญหาย 30 คนในเมืองใกล้พรมแดนเขตกาซา พบเป็นคนไทย 14 คน ได้รับการช่วยเหลือออกมายังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

ทั้งนี้ สถานทูตไทยจะเริ่มจัดส่งคนไทยล็อตแรก 15 คน ออกเดินทางจากอิสราเอล ด้วยเที่ยวบิน LY083 ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 10.35 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม และจะทยอยส่งกลับเป็นชุดๆ จนครบจำนวนที่ยื่นความประสงค์ขอเดินทางกลับ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้ประสานความพร้อมในการส่งเครื่องบินของทัพอากาศไปรับหรือโดยเที่ยวบินพาณิชย์ รวมทั้งการเช่าเหมาลำตามความเหมาะสมของสถานการณ์

รวมถึงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยที่เกี่ยวข้อง ให้ติดต่อกับมิตรประเทศเพื่อช่วยประสานในการปล่อยตัวคนไทยที่จับกุมอีกทางด้วย

ส่วนรายชื่อคนไทยที่เสียชีวิต “น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์” เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่าทางการอิสราเอลขอให้ช่วยเหลือผู้ที่มีชีวิตและผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อน จึงไม่สามารถยืนยันข้อมูล พิสูจน์อัตลักษณ์ และทำเอกสารต่างๆ ของผู้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งกรณีจ่ายเงินชดเชยให้ญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจยังไม่สามารถนำผู้เสียชีวิตกลับไทยได้อย่างรวดเร็ว แต่สถานทูตจะพยายามเร่งอย่างเต็มที่ เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตจากภัยสงครามได้รับในการชดเชยจากอิสราเอลด้วย

เพราะเหตุใดจึงพบยอดคนไทยในอิสราเอลเยอะถึงสามหมื่นคน ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลไปทำงานใน 12 เมืองของอิสราเอล เมืองที่นิยมไปทำมากที่สุด คือ ทางตอนใต้ของอิสราเอล จำนวน 12,665 คน ทางตอนกลาง 5,894 คน เขตเหนือ 3,865 คน เขตไฮฟา 1,397 คน และเขตเทลอาวีฟ 710 คน

โดยประเทศอิสราเอลถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่กลุ่มแรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน อยู่ในอันดับ 2 รองจากไต้หวัน อีกทั้งอิสราเอลเป็นประเทศเกษตรกรรม และคนไทยเองที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเกษตรอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะไปทำงานที่นี่ แลกกับรายได้ต่อเดือนที่ได้รับมากถึง 50,000 บาท ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการทำงานที่ประเทศไทย

ซึ่งการจ้างงานเป็นแบบระบบรัฐต่อรัฐ โดยจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไทย ที่จากบ้านเกิดไปทำงานเพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัวที่อยู่ที่ไทย ส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มแรงงานจากภาคอีสานเป็นหลัก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มแรงงานไทยถึงแห่ไปทำงานที่นี่เป็นจำนวนมาก แม้ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายเกือบแสน ในการทำเรื่องเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอลก็ตาม

เพราะหากคำนวณรายรับตลอดสัญญาจ้างงาน ก็มากพอที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานบางคนสามารถลืมตาอ้าปาก ตลอดจนสามารถปลดภาระหนี้สินของครอบครัวได้

เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้น แรงงานไทยจำนวนมากเลือกที่จะขอกลับประเทศไทยในทันทีเพื่อเอาชีวิตรอด ขณะที่บางกลุ่มก็ขออยู่ต่อ รอให้สถานการณ์สงบเพื่อจะได้กลับไปทำงานอีกครั้ง เพราะกลัวว่าหากกลับประเทศไทยแล้ว จะเป็นการทำผิดสัญญาจ้างงาน อาจถูกแบล็กลิสต์ ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้อีก

แสดงให้เห็นว่าผู้คนเหล่านี้เลือกปากท้องมากกว่ากลัวความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงทวีความรุนแรงและยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ

สหัสวัต คุ้มคง

ประเด็นนี้เอง พรรคก้าวไกล โดย ‘ส.ส.สหัสวัต คุ้มคง’ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ระบุว่าได้หารือกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคก้าวไกล เสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการสร้างความมั่นใจ ดูแลสิทธิประโยชน์คนงานไทยในอิสราเอลที่ต้องการกลับประเทศ โดยมีใจความดังนี้

1. คนงานต้องได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ที่คนงานจ่ายสมทบก่อนเดินทางไปทำงาน กรณีต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนเนื่องจากประสบปัญหาจากภัยสงคราม ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ.2549

2. เนื่องจากมีคนงานที่ยังคงมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินเพื่อให้ได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล ยังคงกังวลที่จะเดินทางกลับไทยหรืออพยพไปที่ปลอดภัยอื่น เพราะอาจส่งผลให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง ทำให้ตกงานแต่ยังมีหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาก่อนเพื่อมาทำงาน

จึงเสนอให้รัฐบาลต้องเจรจาวางเงื่อนไขการอพยพคนงานไทยที่ไปทำงาน ผ่านโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) หรือโครงการความร่วมมืออื่นๆ หากสงครามยุติลง ให้คนงานที่ถูกอพยพในสภาวะสงคราม สามารถกลับไปทำงานได้ตามเดิม

3. เสนอให้รัฐบาลเจรจาผ่อนผันหรือดูแลแนะนำประเด็นหนี้สินของคนงาน

4. กรณีคนงานไทยที่เข้าไปทำงานโดยไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน หรือคนงานที่ลักลอบทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เสนอให้รัฐบาลดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และหากคนงานประเภทนี้ต้องการกลับประเทศไทย ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับประเทศ

โดยจะนำข้อเสนอแนะข้างต้นไปพูดคุยในกลไกกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการพบปะหารือร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานโดยเร็ว

ส.ส.สหัสวัต ทิ้งท้ายว่า จากข้อเสนอที่กล่าวมา ทราบว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาเพื่อดำเนินการ ขอสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยให้ปลอดภัย และขอใช้โอกาสนี้ แสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ขอยืนเคียงข้างและช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากเหตุครั้งนี้ทุกคน

เหตุการณ์ในอิสราเอลครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนไทยที่ไปเป็นแรงงาน ยังสะท้อนปัญหาปากท้องของกลุ่มแรงงาน ท่ามกลางความหวังของครอบครัวให้ลูกหลานปลอดภัย และหวังว่าจะไม่มีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มจากสถานการณ์ที่ยังร้อนระอุในตอนนี้