ยานยนต์ไฟฟ้าจีนในไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อุตสาหกรรมซึ่งทรงอิทธิพลในไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ

ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับโลก ได้ส่งผลกระทบมาถึงไทย กับการปรากฏโฉมหน้า “ผู้เล่น” ใหม่ มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลายเป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ว่าไปแล้ว กิจการเหล่านั้นส่วนใหญ่เริ่มต้นและต่อยอดมาจากประสบการณ์ยานยนต์สันดาป บางรายมีตำนานไม่น้อยกว่าเครือข่ายยานยนต์ญี่ปุ่น

กรณีสำคัญรายหนึ่ง มาจากความร่วมมือกันระหว่าง SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี ) ลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยครั้งแรกในปี 2556 ในระยะกระชั้นได้เปิดตัว MG ในไทย (ปี 2557) เริ่มต้นด้วยรถยนต์สันดาป มียอดขาย (ปี 2557-2559) อย่างน่าพอใจมากกว่า 10,000 คัน

ตามมาด้วยแผนการใหญ่ขึ้น สร้างโรงงานแห่งใหม่ (เริ่มก่อสร้างปี 2559) เป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกครอบคลุมตลาดทั่วอาเซียน

 

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ก่อตั้งปี 2538 เชื่อมต่อตำนานอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรัฐในประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบัน SAIC ถือเป็น 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่กิจการยานยนต์ซึ่งเป็นของรัฐ ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ ทั้งร่วมทุนเครือข่ายธุรกิจระดับโลก กับ GM แห่งสหรัฐ และ Volkswagen แห่งเยอรมนี

ต่อมาปี 2555 มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ควบรวมกิจการยานยนต์ในเครือข่ายรัฐบาลจีน จึงเป็นที่มาของชื่อ SAIC Motor Corporation Limited

ส่วนแบรนด์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปี จนกระทั่งปี 2550 แบรนด์ MG ได้ขายและกลายเป็นสินค้าจีน โดย Nanjing Automobile Group (ต่อมาปี 2551 ปรับโครงสร้างและได้ควบรวมกิจการเข้ามาอยู่ใน SAIC)

อีกกรณี เป็นธุรกิจยานยนต์เอกชนจีน – GWM (Great Wall Motors) เข้ามาปักหลักในไทย รายที่ 2 (2563) ด้วยการเข้าซื้อโรงงานเก่าที่จังหวัดระยองของ GM (General Motors) แห่งสหรัฐอเมิกา ซึ่งได้ประกาศถอนการลงทุนจากไทย ต้นปีต่อมา (2564) ได้เปิดตลาดครั้งแรกในไทย ประเดิมด้วยรถยนต์สันดาป แล้วตามมาด้วยรถยนต์ไฟฟ้าอย่างกระชั้นชิด

GWM ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 4 ทศวรรษที่แล้ว ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ กลายเป็นผู้นำรถกระบะในประเทศจีน พัฒนาการธุรกิจเป็นไปตามกระแสธุรกิจใหญ่ในจีน เติบโตอย่างขนานใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วงเวลา “วิกฤตเป็นโอกาส” คาบเกี่ยววิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในประเทศไทย

และเป็นไปตามโมเดลเดียวกัน GWM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong Limited หรือ SEHK) ในปี 2546

 

อีกจังหวะก้าวตามโมเดลเครือข่ายธุรกิจจีนซึ่งกำลังเติบโต คือแผนการขยายเครือข่ายออกนอกประเทศ

กิจการ MG ในอังกฤษ ภายใต้ SAIC ดำเนินไปช่วงหนึ่ง ในนาม MG Motor สำนักงานใหญ่อยู่ที่ Birmingham

มีเหตุการณ์สำคัญเปิดตัวในฐานะเครือข่ายธุรกิจจีนอย่างเป็นจริงเป็นจัง (ปี 2555) ตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่อังกฤษ โดย Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นได้เดินทางไปเป็นประธาน

ขณะ GWM เปิดตัวในตลาดยุโรปครั้งแรกในปี 2549 ตามมาจังหวะก้าวสำคัญสร้างฐานการผลิตนอกประเทศครั้งแรก ที่ประเทศบัลแกเรีย (2554) ก่อนจะมาซื้อโรงงาน GM ทั้งในอินเดียและไทย (2563)

ทั้งสองปรับตัวอย่างรวดเร็ว GWM เข้าสู่ยุคต้นยานยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศจีนราวปี 2550 ขณะ SAIC ในแบรนด์ MG ตามมาในปี 2551

สำหรับในประเทศไทย ดูไปแล้วสอดคล้องกับจังหวะที่เป็นไป และเดินตามรอยอย่างห่างๆ บางมิติในจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างที่ว่าไว้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle หรือ EV) จีนนับเป็น “ชิ้นส่วน” แห่งภาพสะท้อนการพัฒนาอย่างจริงจังนับทศวรรษในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังโดยรัฐบาล ก่อให้เกิด Start Up มากมายหลายร้อยราย ทั้งรายเก่าที่มาจากยานยนต์สันดาป

นับเป็นกระบวนการคัดเลือกอันเข้มข้นและแข่งขันทางธุรกิจกันอย่างดุเดือด เกินกว่าโลกทุนนิยมจะจินตนาการก็ว่าได้

ในที่สุด (ข้อมูลในปี 2561) จีนได้เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก

 

รถไฟฟ้าจีนมาถึงไทยครั้งแรกโดย SAIC ในปี 2563 ตามมาด้วย GWM ในปีถัดมา ว่ากันตามโมเดลธุรกิจ ว่าเฉพาะโครงสร้างการจัดจำหน่ายและบริการ ยึดถือกันอย่างที่เป็นมาอย่างที่เป็นไปในรถสันดาป โดย “โมเดลญี่ปุ่น” เป็นต้นแบบก็ว่าได้

จากนั้นไม่นาน (21 มีนาคม 2565) ทั้งสองราย กลายเป็นกรณีแรก ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยอย่างแท้จริง ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้ากับจังหวะก่อนใครๆ เมื่อรัฐบาลไทยเพิ่งเปิดแพ็กเกจสนับสนุนกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้าครั้งใหญ่

อีกรายที่สำคัญควรกล่าวถึง ตามมาติดๆ ในปลายปี 2563-BYD ในแผนการเดียวกัน เข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 100% ของรัฐบาลไทย ตามสูตรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% จากจีน ขายในราคาซึ่งได้รับส่วนลด 150,000 บาท บวกภาษีสรรพสามิตในอัตราลดลงจาก 8% เหลือ 2% โดยปฏิบัติตามเงื่ชื่อนไข มีการผลิตในประเทศทดแทนในตามจำนวนนำเข้า ภายในปี 2567 หรือ 1.5 เท่าภายในปี 2568

ตามแผน BYD จะผลิตและจำหน่ายทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid) ขณะโคงสร้างการบริหารโดยเฉพาะด้านการตลาดได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจไทยซึ่งมีประสบการณ์กับเครือข่ายยานยนต์ญี่ปุ่นมานานหลายทศวรรษ

BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กิจการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษ กลายเป็นผู้นำธุรกิจในตลาดผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตถ่านชาร์จรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อปี 2545 เมื่อซื้อกิจการยานยนต์ Tsinchuan Automobile พร้อมๆ กับการเข้าตลาดหุ้นฮ่องกง (SEHK) โดยในช่วงแรก BYD ยังคงเน้นผลิต และจำหน่ายรถยนต์สันดาป

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในยุคเดียวกันอย่างที่ว่ามา ปี 2551 BYD เริมผลิตรถยนต์แบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ในโมเดลที่น่าสนใจ อาศัยความชำนาญการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ตามมาด้วยรถไฟฟ้า (BEV) ในปีถัดมา ช่วงเดียวกันนั่นเอง เริ่มส่งออกต่างประเทศ ในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง

เพียงราวทศวรรษเดียว (ปี 2565) BYD ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก เป็นหนึ่งเครือข่ายยานยนต์จีนร่วมประกาศแผนการยุติการผลิตรถรุ่นเครื่องยนต์สันดาปในปี 2583

 

ข้างต้น ว่าด้วยการมาถึงเครือข่ายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย นับเป็นเพียงหัวขบวนบรรดาเครือข่ายยานยนต์ไฟฟ้าจากแหล่งเดียวกัน กับการลงหลักปักฐานอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี จนไทยได้ชื่อว่า เป็นฐาน (Hub) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจีน

เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมซึ่งทรงพลัง และทรงอิทธิพล เป็นคุณูปการสังคมไทยกับประสบการณ์วงกว้างในรอยต่อ ดูไปแล้ว ประหนึ่งเป็นกระบวนการใหญ่ ซึ่งโหมกระหน่ำ เป็นแรงกระตุ้นให้ยานยนต์สันดาปเร่งปรับตัว โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งมีฐานอันมั่นคงในไทยมาอย่างน้อยครึ่งศตวรรษ

อันที่จริงยังอยู่ในระยะต้นๆ ท่ามกลางการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ซึ่งเป็นไปอย่างเชี่ยวกราก ขณะเชื่อว่าเป็นรอยต่อที่ไม่ตัดขาด ด้วยโมเดลยานยนต์ไฟฟ้าจีน อ้างอิงและต่อยอดอย่างมีนัยยะสำคัญ มาจากบทเรียนยานยนต์สันดาปญี่ปุ่น

ดูเร็วเกินไป กับบทสรุปที่ว่า “สัญญาณยุคใหม่ยานยนต์กำลังจะมาถึง โดย ‘ผู้เล่น’ หน้าใหม่มาแรง จน ‘ผู้เล่น’ ขาใหญ่รายเก่า อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com