คุยกับทูต | ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ การทูตที่ไม่ธรรมดาของเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน (1)

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2023 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงแต่งตั้งอาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) ซึ่งดำรงตำแหน่งอัครทูตมาร์เชียโนโปลิส (Marcianopolis) และเอกอัครสมณทูตประจำแอฟริกาใต้ (South Africa) บอตสวานา (Botswana) เลโซโท (Lesotho) นามิเบีย (Namibia) และเอสวาตินี (Eswatini) มาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน ประจำประเทศไทย

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะดำรงตำแหน่งเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยเป็นลำดับที่ 11 แล้ว ยังดำรงตำแหน่งที่กัมพูชา และเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศลาวด้วย

จึงนับเป็นเกียรติอย่างสูงในโอกาสที่ท่านกรุณาปลีกเวลาจากปฏิทินภารกิจที่แน่นขนัดมาให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ณ สถานเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

ซึ่งด้านในเป็นบริเวณสวนสวย มีต้นไม้สูงใหญ่เขียวชอุ่ม ร่มรื่นเสมือนโอเอซีสกลางกรุง นำความสดชื่นให้กับพื้นที่ใช้สอยทั้งในส่วนที่พักอาศัยและส่วนสำนักงานที่เรียงรายอยู่โดยรอบโอบล้อมด้วยรั้วสูง ริมถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับนครรัฐวาติกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1969 โดยมีอาร์ชบิชอป ฌ็อง ฌาโด (Archbishop Jean Jadot) เป็นเอกอัครสมณทูตวาติกันท่านแรก (ขณะนั้นยังเรียกว่าเอกอัครราชทูตวาติกัน หรือ Pro-Nuncio) โดยมาประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1969 ความรับผิดชอบรวมถึงมาเลเซียและลาวด้วย

ฝ่ายไทยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดูแลความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1983 คือ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู

นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอกอัครสมณทูตมาประจำแล้วทั้งสิ้น 11 คน

อาร์ชบิชอป ฌ็อง ฌาโด (Archbishop Jean Jadot) เป็นเอกอัครสมณทูตวาติกันท่านแรก (ภาพที่ 3 จากขวา)

ความเป็นมา

“พ่อเกิดและโตในโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกาเกือบตลอดชีวิต ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแผ่ศาสนา ได้รับบวชเป็นบาทหลวงในสังฆมณฑลทัลซา (Tulsa) และเป็นสมณทูตวาติกันมาตั้งแต่ปี 1999 ต่อมา ทำหน้าที่เป็นเอกอัครสมณทูตประจำแอฟริกาใต้เป็นเวลากว่าเจ็ดปี และเพิ่งย้ายมาประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมกัมพูชา และลาว”

“พ่อ แม่ และครอบครัวของเราเป็นครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด ตอนพ่อเรียนที่มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจเรียนเป็นแพทย์ แต่ในระหว่างนั้นใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นานว่า เราอยากเป็นแพทย์จริงๆ หรือ จึงไปลองใช้ชีวิตเป็นนักบวช แล้วในที่สุด ตัดสินใจอยู่ต่อ บวชเป็นบาทหลวงมาจนถึงทุกวันนี้”

เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และได้รับการต้อนรับจากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

การเข้าเป็นสมณทูตวาติกัน

“ในการเป็นนักการทูตของวาติกัน เราไม่ได้สมัคร แต่ต้องได้รับเชิญ มีการรับนักบวชจากทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในกรุงโรม เนื่องจากเรามีข้อกำหนดด้านภาษาบางประการ ภาษาที่ใช้ในงานของเราเป็นภาษาอิตาลี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เราจะต้องเป็นนักบวชที่ดี โดยสันตะสำนักจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องทั้งหมด มีกระบวนการสัมภาษณ์ และหากได้รับการตัดสินว่าเหมาะกับการรับราชการทางการทูต จึงจะได้รับเชิญให้เข้าเรียนในโรงเรียนการทูต ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อตั้งในปี 1701”

“โรงเรียนการทูตตั้งขึ้นเพื่อการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ การทูตในแบบสันตะสำนัก ประวัติศาสตร์การทูตของพระสันตะปาปาและภาษาต่างๆ รวมทั้งกฎหมายของพระศาสนจักร (Canon law) ด้วย ดังนั้น หลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาระหว่างสองถึงห้าปี ก็จะถูกส่งไปประจำการเป็นครั้งแรก”

“ตอนนี้ มีโปรแกรมใหม่ที่เรียกว่าปีมิชชันนารี (a missionary year) ใช้เวลาอย่างน้อยสามปี ต้องเป็นนักบวชก่อนสามถึงห้าปี จึงจะเป็นนักการทูตวาติกันได้”

“ก่อนที่จะเป็นนักการทูตของวาติกัน เราจะต้องได้รับการบวชเป็นบาทหลวงก่อน ก่อนที่จะได้รับการบวชเป็นบาทหลวงเราจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และอีกสี่ปีสำหรับปริญญาขั้นสูงและเทววิทยา โดยปกติแล้วจะเป็นเวลาราวแปดปีก่อนที่จะได้รับการบวชเป็นบาทหลวง”

“ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีทางศาสนาของเรา งานของเรา ชุมชนในหมู่คณะของเรา ทั้งหมดคือครอบครัวของเรา ซึ่งเราก็มีชีวิตที่เป็นปกติสุข”

เมื่อเดินทางมาถึง สถานเอกอัครสมณฑูตวาติกันประจำประเทศไทย ถ.สาทรใต้ กรุงเทพฯ

ประเภทงาน

“หากดูประเภทงานที่เราทำ จะมีความ แตกต่างออกไปเล็กน้อย เพราะพ่อเป็นนักการทูตด้วย แต่ถ้าเป็นบาทหลวงทั่วไปอย่างวัดที่อยู่ใกล้ๆ เรา เช่น วัดเซนต์หลุยส์ บาทหลวงก็จะยุ่งอยู่กับชุมชนในการทำงานด้านต่างๆ การที่จะมีเวลากับครอบครัวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะไม่สามารถจัดสรรเวลาให้ตรงตามที่ชุมชนต้องการ”

“ในศาสนจักรคาทอลิก บาทหลวงเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต่อการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่อคริสต์ศาสนิกชน และด้วยเหตุนี้ งานต่างๆ มากมาย จำเป็นจะต้องมีบาทหลวงอยู่ด้วยเสมออย่างที่ไม่มีในประเพณีอื่น ดังนั้น แรงกดดันส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของเวลา”

“เรารับรู้เมื่อมาเป็นนักบวช ถือเป็นคำสัญญาของเรา การสัญญาเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่เราตกลงจะทำ ซึ่งเรามีเวลาหลายปีในการเตรียมตัว เมื่อเราตัดสินใจว่า เราต้องการเป็นนักบวช และตระหนักว่านี่คือสิ่งที่ต้องการทำ นั่นคือการเสียสละ”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

ความรู้สึกเมื่อทราบว่า จะต้องมารับตำแหน่งเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

“ประหลาดใจแต่ก็พอใจมาก แม้จะไม่เคยมาที่นี่เลย”

“อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่พ่อทำงานอยู่ที่วาติกัน ก็ได้ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในเป็นเวลาหลายปี ซึ่งรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย จึงมีความคุ้นเคยกับพื้นที่นี้ในระดับหนึ่ง”

“พ่อเป็นสมณทูตที่เคยทำงานในวาติกัน และที่แอฟริกาประมาณ 10 ปี ได้แก่ อียิปต์ ไนจีเรีย สำหรับแอฟริกาใต้ อยู่เกือบเจ็ดปี และคราวนี้เป็นครั้งแรกที่พ่อมาอยู่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ต่อไปคือ การร่วมมือเพื่อการก้าวเดินไปด้วยกันของพระศาสนจักรไทย และพระศาสนจักรสากล ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในบริบททางประวัติศาสตร์ที่มีการพัฒนามายาวนานระหว่างวาติกันและประเทศไทย รวมทั้งความสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาด้านมนุษยธรรมต่างๆ ที่มิใช่เป็นไปในลักษณะทางการเมือง •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin