ล้านนาคำเมือง : หวานเข้าใหม่ (ต้นเตยหอม)

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หวานเข้าใหม่”

แปลว่า “ต้นเตยหอม”

ที่คนล้านนาเรียกเตยหอมว่า “หวานเข้าใหม่” นั้นสามารถอธิบายดังนี้ คือ เรียก “หวาน” แปลว่า ว่าน ตามคุณลักษณะของต้นเตยหอม ซึ่งนับเป็นพืชล้มลุก ที่มีความเป็นสิริมงคล และมีสรรพคุณทางยา

ส่วนที่เรียกว่า “เข้าใหม่” แปลว่า “ข้าวใหม่” มาจากกลิ่นหอมของใบเตย ที่มีความหอม เช่นเดียวกับข้าวใหม่ หรือข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จมาใหม่ๆ

เตยหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanusamaryllifolius เป็นพืชที่ชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังเป็นโคลนเลน หรือจะปลูกบนบกก็ได้ เตยหอมไม่ต้องการแสงมาก ลำต้นมีรากค้ำจุนช่วยพยุงไม่ให้โค่นล้ม จึงสามารถขึ้นได้ในน้ำหรือที่เฉอะแฉะได้

ใบเตยหอมเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเป็นมัน รูปแถบยาวปลายแหลม มีร่องตามแนวเส้นกลางใบ ขอบใบมีหนามสั้นๆ โดยเฉพาะที่ปลายใบ มีกลิ่นหอม

เรานิยมใช้ใบเตยเป็นสีและกลิ่นธรรมชาติ แต่งกลิ่น แต่งสีขนมหวาน เตยหอมให้ทั้งสีเขียวและสีเหลือง

สีเขียวเป็นสีของ chlorophyll ได้จากน้ำคั้นใบสด ส่วนสีเหลืองเป็นสีของ xanthophyll ได้จากน้ำต้มใบ เนื่องจาก xanthophyll มีคุณสมบัติละลายน้ำได้จึงละลายออกมาเมื่อนำใบไปต้ม ส่วนคลอโรฟิลล์นั้นไม่ละลายในน้ำ หากอยากได้สีเขียวจึงต้องใช้วิธีคั้นน้ำจากใบสด

ในการแต่งสีขนมหวานด้วยใบเตยหอมนั้น เราจะมีผลพลอยได้จากกลิ่นหอมของเตยหอมด้วย

โดยกลิ่นหอมในเตยหอมนั้นไม่ใช่น้ำมันหอมระเหยเช่นพืชหอมชนิดอื่น แต่เป็นสารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติหอมระเหยในยางข้าว (ที่เกิดขึ้นในขณะหุง) ที่ชื่อว่า 2-acetyl-1-pyrroline ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในข้าวหอมมะลิที่มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ และจะพบเฉพาะในข้าวหอมมะลิที่ปลูกในประเทศไทยเท่านั้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมนอกจากพันธุ์ข้าวแล้ว สภาพแวดล้อมก็มีอิทธิพลในการสร้างกลิ่นหอมเช่นกัน

แต่ถ้าเก็บข้าวไว้นานๆ กลิ่นหอมของข้าวจะจางไปตามปริมาณยางข้าวที่ลดลง ดังนั้น บางครั้งเราจึงเห็นว่า มีบางคนใส่ใบเตยหอมเข้าไปในหม้อด้วยขณะหุงข้าวเพื่อเพิ่มความหอมให้กับข้าวเก่านอกเหนือจากการใส่เพื่อแต่งกลิ่นในข้าวเหนียวมูนกะทิ น้ำเชื่อมสังขยา เปียกปูน ตะโก้ ขนมชั้น บัวลอย เป็นต้น

ในอาหารคาวก็อาจพบได้บ้าง เช่น ไก่ห่อใบเตย หรือทอดไปพร้อมกับไก่เพื่อเพิ่มความหอมและช่วยดับกลิ่นคาว

นอกจากการใช้ประโยชน์แต่งสี แต่งกลิ่นในอาหารคาวหวานแล้ว

ในทางยา ใบของเตยหอมมีฤทธิ์เย็นช่วยลดไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เหมาะแก่การทำเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟ เมื่อดื่มเข้าไปก็จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นเย็นสบาย นอกจากนี้ กลิ่นหอมของเตยหอมยังมีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจอีกด้วย

ส่วนลำต้นของเตยหอมมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ