ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (8) Newschool Child Friendly

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (8)

Newschool Child Friendly

 

ออกจากแปลงนาสาธิตใช้เวลาเดินทางต่อไม่นานถึงโรงเรียนอนุบาลเครือข่ายของโรงเรียนที่ครูวีเซ็นเตสังกัด แม้เล็กกว่า เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนน้อยกว่า แต่จิตใจ อัธยาศัยไมตรีของครู ผู้บริหาร จนถึงเด็กๆ ไม่ด้อยน้อยหน้าไปกว่ากันแม้แต่น้อย

ทันทีที่รถคันแรกจอดสนิท ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีก้าวลง เด็กน้อยหลายสิบคนตั้งแถวรอรับด้วยรอยยิ้มเข้ามาโค้งคำนับรุมล้อมสัมผัสมือ ก่อนช่วยกันมอบผ้าทอหลากสีสวมคอให้ทุกคนที่ทยอยเดินตามมา

จากนั้นพากันไปโรงอาหาร ด้านหน้าติดป้ายผ้า Final Stage This Building Sopported 1 Contribution Parents 2 Ministry of Education 3 Thai Teachers ประกาศรายนามผู้สนับสนุน 3 กลุ่มหลักที่ทำให้อาคารสำเร็จ เป็นที่เลี้ยงอาหารเด็กเรื่อยมา

ด้านบนขวาเป็นรูปธงชาติติมอร์ ดาวห้าแฉกบนพื้นดำ เหลืองแดง ซ้ายเป็นรูปตราสัญลักษณ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อยู่คู่กัน

ครูใหญ่พาเข้าห้องอาหาร เด็กเล็กหญิงชายหลายสิบคนสายตาใสซื่อบริสุทธิ์มองผู้มาเยือนอย่างอ่อนโยน นั่งเรียงรายรอรับการทักทายและป้อนอาหารให้พวกเขาอย่างอบอุ่น

บรรยากาศแห่งความรัก ไร้เดียงสา น่าเอ็นดู ความเป็นแม่ พ่อ พี่น้อง เพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ตลบอบอวลทั่วห้องท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงพูดคุย ชวนให้เด็กน้อยอ้าปากกว้างรับอาหารจากมือคนป้อนคนแล้วคนเล่า บางส่วนก็ตักกินเองอย่างมีความสุข

คณะครูไทยช่วยกันป้อนอาหารเด็กเล็กโรงเรียนอนุบาล ที่จังหวัดเบาเกา

ด้านนอก นักเดินทางร่วมคณะอีกบางส่วนเดินสัมผัสบรรยากาศโรงเรียนที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มหลังอาคารเรียน ด้านหน้าใกล้บันไดอาคาร แท็งก์เก็บน้ำสีแดง เขียนข้อความ UNICEF GPE ตั้งรอให้ครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองมาเปิดก๊อกใช้ได้ตลอดเวลา

คุณหมอสุภกร กรรมการมูลนิธิ อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นวัตกรความคิดใหม่ๆ บอกกับผมว่า GPE มาจากคำเต็ม Global Partnership Education เปรียบเหมือน กสศ.โลกนั่นแหละ

การเข้ามาให้ความช่วยเหลือติมอร์ ฟื้นฟูบรูณะประเทศหลังประกาศเอกราช ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ มีทั้งธนาคารโลก ยูนิเซฟ องค์กรรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ออสเตรเลีย นอกจากด้านการศึกษาแล้ว รวมถึงด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต

ผ่านการรวบรวมข้อมูลของยูเอ็นดีพี พบว่า ประชากรของประเทศต่างๆ ที่มีฐานะรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนมากไปหาน้อย ตามลำดับ ได้แก่ 1.ติมอร์ 2.พม่า 3.ลาว 4.มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ 5.กัมพูชา 6.เวียดนาม อินโดนีเซีย 7.ไทย 8.จีน

ที่ติมอร์ เด็กมีภาวะทุพโภชนาการบกพร่องเรื้อรังจากการขาดอาหาร เตี้ย แคระแกร็น สูงมากในระดับโลก เติบโตไม่สมวัย พุงโต ก้นปอด อยู่ในระดับต้นๆ เหตุมาจากแม่ไม่ได้รับสารอาหารที่สมบรูณ์เพียงพอเพราะความยากจน

มีปัญหาแม่วัยใสอายุระหว่าง 15-19 ท้องก่อนวัยอันควรสูง วุฒิภาวะไม่พอดูแลลูก ไม่มีความรู้เพียงพอทำให้กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

ประชากร 30% เกือบครึ่งประเทศอยู่ภายใต้เส้นความยากจน เยาวชนในชนบทอายุ 15-24 ปีไม่รู้หนังสือ 37% คนในเมือง 6% ไม่รู้หนังสือ

เด็ก 70% ไม่มีความรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น 66% ของโรงเรียนพื้นฐานไม่มีห้องน้ำที่ใช้การได้ 40% ของโรงเรียนเหล่านี้ไม่มีน้ำดื่มที่สะอาด

ยูนิเซฟคาดหมายว่า ถ้าเด็กมีการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 1% จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% ส่งผลต่อไปให้รายได้ประเทศเพิ่มอีก 18% ต่อปี

ปี 2020 มีประชากร 1.3 ล้านคน 44% เป็นเด็กอายุ 0-17 ปี 24% อายุ 10-19 ปี 20% ของเด็กเข้าเรียนอนุบาล 80% ไม่ได้เข้าอนุบาล เท่ากับ 42% ของประชากรติมอร์ การพัฒนาการศึกษาจึงเน้นที่การสร้างคุณภาพการศึกษาปฐมวัย

 

ความช่วยเหลือของยูนิเซฟดำเนินโครงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการติมอร์ พัฒนาการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน พ.ศ.2551 ช่วยทำให้เกิด พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2553 เกิด พ.ร.บ.การศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2557 เกิดนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย

พร้อมกันนั้นดำเนินโครงการ WASH

WA หมายถึงน้ำ WATER

S หมายถึง Sanitation ระบบสุขภิบาล

H หมายถึง Hygiene สุขอนามัย

โดยทำทั่วโลก เริ่มที่ติมอร์ตั้งแต่ พ.ศ.2559

ต่อมา พ.ศ.2560 เกิดนโยบายความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษานำไปสู่การปฏิบัติ

ภายใต้แนวคิด หลักการแรก การศึกษาจะช่วยเสริมศักยภาพชุมชน เมื่อเด็กๆ มีความรู้ พ่อแม่ ผู้ปกครองก็จะเอาลูกมาเรียน ร่วมกับหลายหน่วยงานช่วยสร้างโรงเรียน ปรับปรุงห้องเรียนด้วยรูปแบบโรงเรียน Child Friedly Approach พัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเอาเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เกิด Newschool โรงเรียนโฉมใหม่ที่เป็นมิตรต่อเด็ก (CFS) หรือ Eskola Foun เริ่มในปี พ.ศ.2552

หลักการที่ 2 ยกระดับบริหารจัดการโรงเรียน 3.โรงเรียนปลอดภัย ให้สภาพแวดล้อมส่งเสริมการเรียนรู้ 4.ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วม 5.สุขาภิบาลถูกหลักสุขอนามัย น้ำดื่มสะอาด ห้องน้ำเพียงพอ นำเอาแนวคิดนี้ไปขยายผลทุกโรงเรียน

นอกจากนั้น โครงการ Child Friendly ยังช่วยแก้ปัญหาพายุไซโคลน วาตภัย อุทกภัย ที่เกิดขึ้นบ่อย กระทบต่อชุมชน เด็กเรียนรู้ร่วมกันให้ชุมชนมาช่วย ทำให้สุขภาพจิตเด็กและคนในชุมชนดีขึ้น

ขณะเดียวกันเอากีฬามาช่วย ใช้การเล่นเป็นฐาน (Play Based) สอดแทรกการเรียนรู้เข้าไป ให้เด็กวาดรูป ระบายคลายเครียด ทำสมาธิ ร้องเพลง จัดกิจกรรมฝึกอาสาสมัครในชุมชน ชวนพ่อแม่เข้ามามีบทบาทช่วยสร้างบรรยากาศ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

 

เสร็จภารกิจเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก สมาชิกในคณะต่างทยอยเดินออกมาพร้อมรอยยิ้มแห่งปีติสุขที่ได้ป้อนอาหารเด็กๆ

ก่อนออกเดินทาง ครูชายคนหนึ่งเดินไปเปิดก๊อกน้ำ น้ำหมด แหงนมองไปบนแท็งก์และหลังคาอาคาร ยังขาดรางน้ำฝนและท่อต่อน้ำเข้า หรือท่อที่เดินต่อมาจากแท็งก์เก็บน้ำใหญ่ด้านหลัง

แม้ครู โรงเรียน ชุมชนจะพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดก่อนก็ตาม แต่เหตุเพราะความแห้งแล้ง ป่าเขาหัวโล้น ทำให้ทั้งน้ำฟ้าและน้ำป่ามีน้อยไม่เพียงพอ หรือเกิดจากระบบการกักเก็บที่ดียังไม่ทั่วถึง ทำให้น้ำถูกปล่อยทิ้งเสียเปล่าจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่งของสนาม ครูแบงก์ สัญชัย หนองตรุด รองผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นักเล่าเรื่องด้วยภาพ เดินท่อมๆ ไปทั่วบริเวณ ก่อนบรรจงกดชัตเตอร์บันทึกภาพลูกฟุตบอลสีหม่นขาด รูโหว่ ข้างในอัดแน่นด้วยเส้นฟางหญ้า กระจุกปลายโผล่ออกมาให้เห็นชัด วางนิ่งรอนักเตะอยู่บนพื้น

เขาต้องการสื่ออะไร ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพสื่อความหมายยิ่งกว่าตัวอักษรพันคำ” ขึ้นมาอีกครั้ง ระหว่างก้าวขึ้นรถเดินทางกลับเข้าเมืองหลวง ปิดรายการเยี่ยมโรงเรียนหลังสุดในชนบทเบาเกา