ศิลปะจากซากแมลงวันแห่งความตาย : อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ศิลปินผู้ไม่จำเป็นต้องแบกสัมภาระแห่งความเป็นไทย (1) ศิลปะจากซากแมลงวันแห่งความตาย

โดยปกติเมื่อพูดถึงศิลปินไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในระดับสากล ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงศิลปินไทยที่หยิบยกเอาเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยไปนำเสนอบนเวทีโลก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม

ความเชื่อ ความศรัทธาของไทย

ไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม การเมือง และวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย อย่างอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร เพราะเราย่อมรู้จักเรื่องของตัวเราเองดีที่สุด จริงไหม?

แต่ก็มีศิลปินไทยบางคนที่ไม่จำเป็นต้องหยิบยกเอาความเป็นไทยไปนำเสนอ หากแต่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นสากล ซึ่งก็สามารถประสบความสำเร็จในเวทีศิลปะระดับโลกได้เช่นเดียวกัน

หนึ่งในนั้นมีศิลปินไทยคนหนึ่ง ที่สร้างชื่อบนเวทีศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก ด้วยผลงานที่ประกอบด้วยซากศพแมลงวันตัวเล็กๆ แค่สองตัวเท่านั้นเอง

ผลงานที่ว่านั้นคือ Sleeping Sickness (2012) ของศิลปินผู้มีชื่อว่า

ปรัชญา พิณทอง

ศิลปินหนุ่มผู้ถือกำเนิดในจังหวัดอุบลราชธานี แต่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ

เขาจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์จาก St?delschule Frankfurt เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

ปรัชญาเคยแสดงผลงานทั้งเดี่ยวและกลุ่มในหลายประเทศทั่วโลก และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 13 ในปี 2012 ที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในศิลปินรับเชิญในมหกรรมศิลปะ Documenta 13 ปรัชญามีหัวข้อในการนำเสนองานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับบริบทของสามทวีปคือ ยุโรป, เอเชีย และแอฟริกา

เขาทำการค้นคว้าและค้นพบว่าในพื้นที่แถบทะเลทรายของแอฟริกามีโรคระบาดร้ายแรงชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Sleeping Sickness หรือ ไข้หลับ (หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า African trypanosomiasis) โดยโรคนี้มีพาหะเป็นแมลงวันดูดเลือด (Tsetse fly) ชนิดหนึ่ง (แมลงประเภทเดียวกับเหลือบ) ที่แพร่เชื้อโรคแก่คนและสัตว์ในแอฟริกาด้วยการกัดและดูดเลือด โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ มึนงง จนกระทั่งหลับและเสียชีวิต (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคนี้)

ประชากรในทวีปแอฟริกาตกอยู่ในความเสี่ยงต่อโรคระบาดนี้ถึง 70 ล้านคนใน 36 ประเทศ ในปี 1990 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 34,000 คน (ก่อนจะลดลงเหลือ 3,500 ในปี 2015)

ด้วยการนี้ ปรัชญาเดินทางไปยังแอฟริกาและเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปดักจับและเก็บตัวอย่างแมลงวันดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรคไข้หลับ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรค เพื่อทำการวิจัยหาวิธีในการกำจัดแมลงพาหะเหล่านั้น

เขาพบว่าอุปกรณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นใช้ดักจับแมลงวันดูดเลือด ซึ่งดูคล้ายกับเต็นท์โฮมเมดที่แขวนถุงใส่ปัสสาวะของปศุสัตว์เพื่อล่อแมลงวันนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และใช้เวลาในการติดตั้งนานเกินไป ซึ่งยิ่งใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นั้นนานเท่าไหร่ นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกแมลงวันดูดเลือดกัดและแพร่เชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น

หลังจากนั้น ปรัชญาเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ และติดต่อบริษัทผู้ผลิตเต็นท์พักแรมท้องถิ่นในประเทศไทยที่เขารู้จัก และสั่งผลิตอุปกรณ์ดักจับแมลงวันแบบพกพา ที่สร้างขึ้นจากการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย โดยออกแบบให้สามารถพับเก็บและกางติดตั้งได้อย่างสะดวกรวดเร็วในเวลาอันสั้น

โดยเขาใช้เงินสนับสนุนสำหรับการผลิตผลงานศิลปะที่จะนำไปแสดงในมหกรรมศิลปะ documenta เป็นทุนในการผลิตอุปกรณ์ดักจับแมลงวันดูดเลือดแบบใหม่ที่ว่านี้ขึ้นในจำนวน 500 หลัง

และส่งทั้งหมดไปให้นักวิทยาศาสตร์และชาวบ้านในแอฟริกานำไปประยุกต์ใช้งานต่อ

และสิ่งที่ปรัชญานำมาแสดงในมหกรรมศิลปะ documenta ครั้งที่ 13 ก็หาใช่อุปกรณ์ดักแมลงที่ว่าไม่

หากแต่เขาเลือกนำเอาซากแมลงวันดูดเลือดสองตัว โดยเป็นตัวเมียในวัยเจริญพันธุ์และตัวผู้ที่เป็นหมัน วางเคียงคู่กันบนฐานแสดงงานที่ปูด้วยหินอ่อน และครอบด้วยกล่องกระจกใส โดยมีคำอธิบายผลงานอย่างย่นย่อ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ซึ่งผลงานชิ้นนี้สร้างความงุนงงสงสัยแม้แต่กับนักชมงานศิลปะผู้คร่ำหวอดที่เดินทางมาชมงานในนิทรรศการนี้ก็ตาม

ในปีเดียวกัน ปรัชญานำผลงาน Sleeping Sickness ไปจัดแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยว Biennale d”Art Contemporain, La Cri?e ที่ Centre d”Art Contemporain Rennes, เมืองเรนส์ ประเทศฝรั่งเศส

โดยในคราวนี้ เขานำต้นแบบของอุปกรณ์ดักจับแมลงดูดเลือดที่เขาส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกามาแสดงในงานด้วย

ในห้องแสดงนิทรรศการดังกล่าว ประกอบด้วยอุปกรณ์ดักจับแมลงดูดเลือดหน้าตาคล้ายเต็นท์ผ้าใบขนาดเล็กสีน้ำเงินที่ตั้งอยู่บนพื้น

กระเป๋าใส่เต็นท์ที่แขวนอยู่บนผนัง จอโทรทัศน์ที่เแพร่เสียงสารคดีเกี่ยวกับการตระหนักรู้ภัยการระบาดของไข้หลับภาษาแอฟริกันที่ลบภาพออกและใส่แต่เพียงคำบรรยายภาษาอังกฤษปรากฏอยู่บนพื้นสีดำบนจอ

นอกจากนั้น ยังมีภาพวาดลายเส้นกายวิภาคของแมลงวันดูดเลือด พาหะของไข้หลับ ที่ปรัชญาติดต่อให้นักวาดภาพวิทยาศาสตร์สายกีฏวิทยาผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพกายวิภาคแมลงในระดับโลกอย่าง วิชัย มะลิกุล เป็นผู้วาดขึ้นมาให้

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง อุปกรณ์ดักจับแมลงวันดูดเลือดจำนวน 500 หลังของปรัชญาก็ถูกนำไปใช้งานในแซมเบีย, เอธิโอเปีย และแทนซาเนีย เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ใหม่ชิ้นนี้

และในระหว่างแสดงงานที่ฝรั่งเศส คนท้องถิ่นในแอฟริกาเหล่านั้นก็จะถูกเชื้อเชิญให้ส่งภาพของอุปกรณ์ดักจับที่ถูกติดตั้งและใช้งานในพื้นที่จริง เพื่อนำมาจัดแสดงในพื้นที่แสดงงานคู่กับผลงานชิ้นอื่นๆ

ผลงานของปรัชญาเป็นการผสมผสานอย่างชาญฉลาดของวิทยาศาสตร์และการตีแผ่ประเด็นทางสังคมและการเมืองระดับโลก

การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคภัยของเขาไม่จำเป็นต้องช็อกผู้คนด้วยการแสดงภาพอันน่าสยดสยองของผู้ป่วย หรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรคร้ายนี้

หากแต่ผลงานของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและกำจัดโรคภัยนั้นอย่างตรงไปตรงมาเลยก็ว่าได้

และด้วยผลงานชุดนี้ ปรัชญาทำให้ผู้ชมอย่างเราตระหนักว่า แค่เพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างแมลงวันก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตของพลเมืองในโลกได้

ที่สำคัญที่สุดโครงการศิลปะของปรัชญาไม่ได้จบสิ้นลงในช่วงเวลาแสดงนิทรรศการเท่านั้น หากแต่มันมีลมหายใจต่อเนื่องและแทรกซึมเข้าไปในโครงสร้างทางสังคม บริบททางภูมิศาสตร์ ระบบสาธารณสุข หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจในระดับโลก

ปรัชญานำพาศิลปะเข้าไปใกล้ผู้คน ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับวิถีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น เขายังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของมนุษยชาติ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีของงานศิลปะที่ผูกพันอย่างแนบแน่นกับผู้คนและสังคม

เช่นเดียวกับประติมากรรมสังคม (Social Sculpture) ของ โจเซฟ บอยส์ นั่นเอง