ส่องข้อเสนอ..แก้ ‘หนี้ครู’ 1.4 ล้านล้าน วัดใจรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’

การแก้ไขปัญหา “หนี้สิน” ถือเป็น 1 ใน 4 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญ และประกาศจะเดินหน้าแก้ปัญหาทันทีหลังเข้าทำงาน โดยเริ่มจากการ “พักหนี้เกษตรกร” จากนั้นจะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และตำรวจ เป็นอาชีพต่อไป

ปัจจุบัน “ครู” ทั่วประเทศมีกว่า 9 แสนคน มีครูกว่า 80% กำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาลกว่า 1.4 ล้านล้านบาท…

สำหรับ “เจ้าหนี้” รายใหญ่สุดของครู ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5.64%

เจ้าหนี้ที่รองๆ ลงมา คือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.9% ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 7.12% และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.4%

ในการแถลงข่าวภายหลังมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “ครูอุ้ม” รับลูกนายกฯ ประกาศลุยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นงานแรกๆ

โดยเริ่มจากให้ “ต้นสังกัด” ประสานให้ครูได้ “รีไฟแนนซ์” หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาก็คือ ครูอุ้มประกาศว่ารัฐบาลจะ “จ่ายดอกเบี้ย” ให้แก่ครูที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยครูจะชำระเพียงเงินต้น

เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ…

โดยจะแยกปัญหาหนี้สินของครูออกเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือตามสภาพความเป็นจริง

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ จะต้องไม่ให้ครูก่อหนี้ใหม่!!

 

สําหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบหมายให้นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เข้ามาดูแล และผลักดันการแก้ไขปัญหา ซึ่งนายสุรศักดิ์จะรับหน้าที่เข้าไปดูโครงสร้างหนี้ทั้งหมด ตั้งแต่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ว่ามีสถาบันใดบ้าง และยอดหนี้ของครูทั้งระบบ

โดยเตรียมตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และคณะอนุกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ปัญหาหนี้สินครู

ซึ่งนายสุรศักดิ์มองว่า โดยหลักการของการแก้ปัญหาหนี้สินแล้ว จะต้องไม่ให้ครูสร้างหนี้เพิ่ม ส่วนหนี้ใหม่ ศธ.อาจต้องเป็นตัวแทนเจรจาสถาบันการเงิน ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารอื่นๆ เพื่อดูเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ และแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสม

“อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนตัวเข้าใจ แต่ถ้าไม่ดำเนินการเลย ก็คงไม่ได้ และผมต้องพยายามให้ดีที่สุด แม้จะแก้ไม่ได้ ก็ต้องพยายามไม่ให้หนี้ใหม่เกิดขึ้น โดยจะเข้าไปดูเรื่องโครงสร้าง เพื่อลดภาระให้กับครูทั่วประเทศ” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ไม่ใช่เพิ่งคิดที่จะทำ แต่คิดกันมาในหลายรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีรัฐบาลใดที่สามารถแก้ปัญหาโลกแตกนี้ได้

เพราะจะว่าไปแล้ว รัฐบาลและรัฐมนตรีที่ดูแล ศธ.มักจะชูนโยบายแก้หนี้ครู และนำมาผลักดันในช่วงใกล้ๆ ครบวาระ หรือในช่วงใกล้การเลือกตั้ง เนื่องจากครูถือเป็นฐานเสียง หรืออาจเป็นหัวคะแนนแบบอ้อมๆ ที่มีเพาเวอร์ และยังสามารถชี้นำเด็กๆ รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้อีกด้วย

ทำให้การผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของนักการเมือง จึงดูเหมือนจะไม่จริงจังมากนัก และไม่ได้ผล เพราะมักจะสั่งลุยกันช่วงการหาเสียงเท่านั้น

ล่าสุด นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) มองว่า ที่รัฐบาลไม่เคยประสบความสำเร็จในการแก้หนี้ครู เพราะไม่รู้สภาพที่แท้จริงของหนี้สินครู ที่มีหลายลักษณะ มีทั้งลูกหนี้ชั้นดี และมีส่วนน้อยที่เป็นหนี้เสีย ก่อให้เกิดปัญหา และคนกลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ

พร้อมเสนอให้เริ่มจาก “สำรวจสภาพหนี้” ที่แบ่งได้ 6 ประเภท ได้แก่ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้, หนี้เพื่อการสร้างอนาคต คือหนี้ที่กู้ไปสร้างบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ เป็นหนี้สินที่ครูชำระได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา, หนี้สินที่เกิดก่อนมาเป็นครู เช่น เงินกู้ยืมเรียน เมื่อเป็นครูแล้วชำระหนี้ได้ แต่ควรติดตามเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่ และหนี้ในการเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งถือว่าบุคคลนั้นมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว แต่ควรติดตาม กำกับไม่ให้ก่อให้เกิดหนี้ใหม่

ซึ่งหนี้สิน 4 ประเภทแรกนี้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือ!!

 

สําหรับหนี้ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ ได้แก่ หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน หนี้สินเกิดจากการฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน เช่น หวย ล็อตเตอรี่ หนี้สินประเภทนี้ทำให้ครูหมดอนาคต และไม่มีความสามารถในการใช้หนี้ รัฐบาลควรแก้ไข

และหนี้สินที่เกิดจากภาระการค้ำประกัน ทำให้ครูไม่มีความสามารถในการชำระ เป็นหนี้ที่เกิดจากความประมาท ไม่คาดคิด รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ!!

ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ หนี้ที่เกิดจากความไม่มีวินัย ให้ ศธ.มอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นเจ้าภาพรวบรวมหนี้สินทั้งหมดที่อยู่ในข้อนี้ แล้วจัดลำดับความจำเป็น ระยะเร่งด่วน และระยะยาว อาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นเจ้าหนี้ และความร่วมมือจากครูที่เป็นหนี้ โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหาทางแก้ไข เน้นสร้างวินัยทางการเงิน และไม่สร้างหนี้สินใหม่

ส่วนหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากความฟุ่มเฟือย หรือยากจนมาแต่อดีต แต่เกิดจากความหวังดีต่อบุคคลต่างๆ ในการเป็นผู้ค้ำประกันให้ ต้องแก้ไขแตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยแก้ “กฎหมายการค้ำประกัน” ให้สถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้ ต้องบังคับให้ผู้กู้ชำระหนี้จนถึงที่สุดก่อน ถ้าผู้กู้ไม่มีความสามารถ ก็ควรสืบทรัพย์ไปถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวตัวเอง ก่อนจะบังคับคดีเอากับครูผู้ค้ำประกัน

ถึงขั้นตอนนี้ ควรมอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหาแนวทางในการช่วยครูชำระหนี้!!

 

ขณะที่แนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ จะต้องเรียกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของครูทั้งหมด มาทำข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ชำระได้ รวมทั้งรวมหนี้สินให้อยู่ในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก

โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลักรวบรวมหนี้ รวมถึงต้องสร้างวินัยทางการเงินให้กับครู อบรมสร้างจิตสำนึกให้ครูตระหนักในการใช้เงินอย่างพอเพียงกับฐานะ ตั้งคณะทำงานกำกับลูกหนี้ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินอื่นๆ ในการไม่ปล่อยให้ครูไปก่อหนี้สินใหม่ขึ้นมาอีก

ที่สำคัญ ให้นำเรื่องหนี้สินครูมาเป็นตัวชี้วัดในการดำเนินการทางวินัย และจรรยาบรรณวิชาชีพครู โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกกฎหมาย ระเบียบ เพื่อควบคุมกำกับ วินัยของครู มีบทลงโทษครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย เชื่อว่าครูจะไม่กล้าก่อหนี้ที่ไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครูอีก

ต้องติดตามว่า นโยบายแก้หนี้ครูในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา จะทำได้จริง หรือแค่หลอกให้ครูดีใจเก้อ เหมือนที่ผ่านมา!! •

 

| การศึกษา