คดีฆาตกรรมในบ้านสิบเหลี่ยม

วัชระ แวววุฒินันท์

ชื่อนี้เป็นชื่อของหนังสือแนวสืบสวนของญี่ปุ่น ที่เขียนโดย “อายาสึจิ ยูกิโตะ” แปลโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

หนังสือเรื่องนี้มีอายุ 36 ปีแล้ว แม้จะนานขนาดนั้นแต่เมื่อหยิบมาอ่านตอนนี้ก็ยังทันสมัยอยู่ ทั้งการเดินเรื่องและสำนวน ฉบับแปลที่ขายในเมืองไทยได้รับการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2564 ข้ามมาสองปีก็พิมพ์ไปแล้วถึง 12 ครั้ง

เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมจากผู้อ่านแนวนี้ได้อย่างดี ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเองก็ขายไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านเล่ม

ในตลาดบ้านเราพบว่า หนังสือที่มาจากประเทศญี่ปุ่น หากไม่นับนิยายแนวโรแมนติก และนิยายวายแล้ว ก็เป็นแนวสืบสวนนี่แหละที่ได้รับความนิยมไม่น้อย

ที่มีคนชอบอ่านหนังสือแนวนี้ นอกเหนือจากความสนุกแล้ว ข้อสำคัญเหมือนกับการได้ทดสอบสติปัญญาความคิดของผู้อ่านไปในตัวด้วยว่า “ใครกันเป็นฆาตกร?” ซึ่งเป็นความท้าทายเพิ่มรสชาติของการอ่านได้อย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าทายถูกก็เหมือนเราเป็นผู้ชนะเป็นรางวัลจากการอ่านด้วย

เวลาอ่านหนังสือแนวนี้ แทบจะบังคับให้เราต้องอ่านอย่างระมัดระวังในทุกตัวอักษร เพื่อเก็บรายละเอียดที่อาจเป็นเบาะแสโยงไปถึงการฆาตกรรม และโยงไปหาตัวละครที่น่าสงสัยต่างๆ

แม้แต่การเล่าเรื่องแบบผ่านๆ ตามความรู้สึก ก็อาจจะกลายเป็นบทเฉลยที่สำคัญในตอนหลังได้

 

สําหรับนักอ่านญี่ปุ่นแล้วให้ความสนใจในนิยายแนวนี้มาตั้งแต่ยุคโชวะ (ช่วงปี 1926-1989) โดยเขียนเป็นนิยายนี่แหละ แต่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นมังงะ และอนิเมะ ซึ่งถูกโฉลกกับคนอ่านรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี การผลิตเป็นนิยายอ่านก็ได้รับความสนใจไม่น้อยเลย

การ์ตูนแนวสอบสวนฆาตกรรมว่ากันว่า เป็นงานเขียนที่ช่วยให้คนที่เก็บกดได้ระบายออก เพราะบางเรื่องนั้นกระทำในชีวิตจริงไม่ได้ตามจารีตประเพณีและความเชื่อที่แข็งแรงของญี่ปุ่น

สิ่งที่ปรากฏในการ์ตูนคือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน หรือเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม หรือพฤติกรรมที่จารีตของสังคมกดทับไว้

ก็อย่างที่รู้ว่า ผู้คนในสังคมญี่ปุ่นนั้นเครียดและเก็บกดเพียงใด คนจึงมีโอกาสระบายออกจากการ์ตูนแนวนี้ และขยายไปสู่นิยาย

สำหรับตัวผู้เขียนคือ “อายาสึจิ ยูกิโตะ” นั้นปัจจุบันอายุ 62 ปีแล้ว เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “Honkaku Mystery” ซึ่งเป็นคลับนักเขียนของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในนักเขียนที่เป็นตัวแทนของการเคลื่อนไหวแนวอนุรักษนิยมใหม่ ในการเขียนเรื่องลึกลับจนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

เขาสร้างผลงานออกมามากมายและได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะกับชุดฆาตกรรมในสถานที่แคบๆ หรือจำเพาะ ซึ่งเรื่อง “คดีฆาตกรรมในบ้านสิบเหลี่ยม” ในชื่อเรื่องว่า “The Decagon House Murders” ก็เป็นหัวหอกในเรื่องชุดนี้

ผลงานเล่มนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนวนิยายลำดับที่ 8 ใน ‘นวนิยายลึกลับ 100 อันดับแรกของตะวันออกและตะวันตก’

และยังเป็นผลงานที่ทำให้ตลาดนิยายสืบสวนของญี่ปุ่นในช่วงนั้นที่กำลังแผ่วลงไปกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง

 

บนหน้าปกของฉบับที่พิมพ์ล่าสุดเขียนคำโปรยไว้ว่า

“บ้านบนเกาะร้างที่ซ่อนความลับทุกอย่างเอาไว้ นักศึกษาทั้งเจ็ดอาจต้องตาย หากพยายามเปิดเผยความลับนั้น”

บ่งชี้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบนเกาะร้าง ซึ่งเป็นกลวิธีทั่วไปของผู้เขียนแนวนี้ที่มักเลือกฉากหลังเป็นที่ที่เหยื่อต้องติดอยู่ในที่แห่งนั้น หาทางหนีได้ยากหรือไม่มีเลย ซึ่งเรามักเห็นได้จากเรื่องแนวนี้ของ อกาธา คริสตี้ เช่น เกิดในขบวนรถไฟ จาก “murder on the orient express”, บนเรือ จาก “Death On The Nile” หรือจากนักประพันธ์ท่านอื่น ที่เขียนให้เกิดใน กระท่อมกลางป่า, ถนนสายเปลี่ยว, โรงเรียนตอนปิดเทอม หรือ แม้แต่บนเครื่องบิน

สำหรับ “ความลับ” ที่ว่านี้ก็คือ บนเกาะนี้ได้เกิดคดีฆาตกรรมสี่ศพมาก่อนเมื่อหกเดือนที่แล้ว เป็นฆาตกรรมที่โหดเหี้ยม ศพหนึ่งเป็นคุณนายของเจ้าของคฤหาสน์สีน้ำเงินบนเกาะนี้ ถูกฆ่ารัดคอและตัดมือซ้ายออกไป ฝ่ายสามีก็ถูกฆ่าแล้วถูกเผา ส่วนอีกสองคนเป็นสองสามีภรรยาที่เป็นพ่อบ้านแม่บ้านก็ถูกฆ่าตายเช่นกัน

หลังจากฆาตกรฆ่าสี่คนแล้วก็ได้จุดไฟเผาคฤหาสน์นั้นจนไม่เหลือซาก

ผู้ต้องสงสัยคือ “คนสวน” ที่หลังจากเกิดเรื่องก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

เกิดอะไรขึ้นบนเกาะแห่งนี้ และทำไมนักศึกษาเจ็ดคนต้องไปที่นั่นด้วย

 

ตัวละครเจ็ดคนที่ว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเป็นสมาชิกของ “ชมรมวิจัยนิยายสืบสวน” ซึ่งรวบรวมเอาผู้ที่มีความสนใจและสนุกกับการอ่านเรื่องราวแนวสืบสวนฆาตกรรม รวมทั้งศึกษาจากคดีดังๆ ที่เกิดขึ้นจริงด้วยมาทำกิจกรรมกัน

พวกเขารู้สึกสนุกในการคิดหาว่า “ใครคือฆาตกร?” และ “อะไรคือเหตุจูงใจ?”

ที่พวกเขาดั้นด้นมาที่เกาะร้างนี้ ไม่ใช่เพื่อสืบค้นเรื่องฆาตกรรมเดิม แต่เหมือนมาเข้าค่ายเก็บตัว ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของสถานที่จริงของเหตุฆาตกรรมที่เป็นปริศนา เพียงเพื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้สามารถเขียนบทความหรือนิยายเกี่ยวกับการสืบสวนลงในนิตยสารของชมรม

การมาพักอยู่ตามลำพังไร้การติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลา 7 วัน จึงเหมือนเป็นการมาพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศในสายตาของพวกเขา

โดยหารู้ไม่ว่ามันได้กลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาต้องมาจบชีวิตลง

สถานที่ที่พวกเขาพักคือ “บ้านสิบเหลี่ยม” ที่ได้กลายเป็นสถานที่ที่เกิดคดีฆาตกรรมในเวลาต่อมา

ผู้ออกแบบคือเจ้าของเกาะ ซึ่งก็คือตัวสามีที่ตายไปในฆาตกรรมครั้งแรก เขาเป็นสถาปนิกที่มีความคิดในการออกแบบที่แปลกแหวกแนว มักซ่อนกลไกเอาไว้ในงานออกแบบนั้น บ้านทรงสิบเหลี่ยมบนเกาะหลังนี้ก็เป็นฝีมือของเขา ด้วยลักษณะการออกแบบทำให้เมื่อเข้าไปอยู่ภายในจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจที่แปรปรวนได้ง่ายของผู้อยู่อาศัย

ในบ้านจะมีห้องที่รายล้อมโถงตรงกลางจำนวน 10 ห้องตามจำนวนเหลี่ยมของบ้านพอดี โดยเป็นห้องนอน 7 ห้องเท่ากับจำนวนของนักศึกษาทั้งเจ็ด ส่วนอีกสามห้องเป็นโถงทางเข้าบ้าน เป็นครัว และเป็นห้องอาบน้ำพร้อมห้องสุขาและส่วนแต่งตัว

ผู้เขียนได้แนะนำตัวละครทั้งเจ็ดให้เรารู้จักผ่านชื่อปลอมที่ใช้เรียกกัน โดยเอาชื่อของนักเขียนนิยายสืบสวนชาวตะวันตกมาใช้ ที่เรารู้จักแน่ๆ คือ “อกาธา” ส่วนคนอื่นก็มี “ออร์กซี” สองคนนี้เป็นผู้หญิง

อีก 5 คนเป็นชาย ได้แก่ “เอลลอรี”, “คารร์”, “เลอรู”, “โป” และ “แวน”

 

ทว่า การเล่าเรื่องไม่ได้เล่าผ่านเฉพาะตัวละครทั้งเจ็ดนี้เท่านั้น หากเริ่มต้นที่ตัวละครอีกคนที่เป็นสมาชิกของชมรม ที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย ชื่อว่า “คาวามินามิ ทากาอากิ” เช้าวันหนึ่งเขาได้รับจดหมายปริศนาส่งมาด้วยข้อความสั้นๆ แต่น่าฉงนฉงายว่า

“ชิโอริที่พวกแกฆ่า คือลูกสาวของฉัน”

และด้านหลังซองลงชื่อเพียงว่า “นากามูระ เซอิจิ”

คาวามินามิ เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวก็พบว่า ชิโอริ คือ รุ่นน้องผู้หญิงในชมรม ที่เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดในงานปาร์ตี้ของชมรมเมื่อปีที่แล้ว ทำไมผู้ส่งจดหมายจึงบอกว่า ชิโอริถูกฆ่า

และน่าสะพรึงกลัวขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า “นากามูระ เซอิจิ” คือสถาปนิกเจ้าของเกาะร้างที่เสียชีวิตในเหตุฆาตกรรมนั้น

ใครกันที่ช่างล้อเล่นเช่นนี้ หากคิดว่าเป็นการหยอกเล่นที่โง่เขลา คาวามินามิก็คงฉีกจดหมายนั้นลงถังขยะ แต่เผอิญเขาเป็นคนที่ชื่นชอบและสนุกกับเรื่องแนวลึกลับสืบสวนนี้จริงๆ จึงลุกขึ้นมาสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม

และพบว่าไม่แต่แค่เขาเท่านั้น หากเพื่อนอีกคนในชมรมที่ชื่อ “โมริซุ เคียวอิจิ” ก็ได้รับจดหมายแบบเดียวกันด้วย และยิ่งชวนขบคิดไปใหญ่เมื่อข้อมูลจากการที่เขาได้โทรศัพท์ไปยังบ้านเพื่อนๆ ที่ออกไปที่เกาะ ก็ทราบจากคนที่บ้านว่าได้รับจดหมายเช่นกัน หนึ่งวันหลังจากที่พวกเพื่อนๆ ออกเดินทาง

ผู้เขียนได้พาเราไปรู้จักกับตัวละครอีกหลายคนผ่านการพยายามสืบค้นเบาะแสของจด หมายนี้รวมทั้งคดีฆาตกรรมสี่ศพบนเกาะร้างนั้น ซึ่งก็คือ “นากามูระ โคจิโร” ผู้เป็นน้องชายของเซอิจิ เจ้าของเกาะที่ถูกฆาตกรรม และมีชื่ออยู่ด้านหลังจดหมายนั้น

คาวามินามิพบว่า โคโจริ ก็ได้รับจดหมายเช่นกัน แต่ข้อความสั้นกว่า ด้วยประโยคที่ว่า “ชิโอริถูกฆ่า” ซึ่งตัวโคโจริเชื่อว่าจดหมายนี้เกิดจากการเล่นสนุกเท่านั้น เพราะเขาปักใจเชื่อว่าพี่ชายของเขาได้ตายไปแล้วจริงๆ คงไม่เป็นผีมาส่งจดหมายได้

ที่บ้านโคโจริ คาวามินามิ ได้พบเพื่อนของโคโจริชื่อ “ชิมาดะ” ที่ต่อมาได้กลายเป็นคู่หูนักสืบไปกับคาวานิมานิ เหมือนเชอร์ล็อก โฮมส์ กับหมอวอตสัน ยังไงยังงั้น

นี่คือตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ที่ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านกระบวนการสืบค้นความจริงและความเป็นไปได้ของคนกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับตัวละครเจ็ดคนบนเกาะที่ค่อยๆ ถูกฆาตกรรมวันละคน

 

ความน่ากลัวบนเกาะเริ่มจากการที่จู่ๆ ก็มีป้ายเจ็ดป้ายมาวางไว้บนโต๊ะในห้องโถงตรงกลาง ป้ายเหล่านั้นเขียนว่า เหยื่อรายที่หนึ่ง เหยื่อรายที่สอง เหยื่อรายที่สาม เหยื่อรายที่สี่ เหยื่อรายสุดท้าย นักสืบ และ ฆาตกร โดยไม่มีใครยอมรับว่าเป็นคนทำมันขึ้นมา

หากเป็นแค่ป้ายที่เขียนขึ้นมาเล่นๆ ก็คงไม่กระไร หากแต่วันต่อมามันก็ได้เกิด “เหยื่อรายที่หนึ่ง” ขึ้นมาจริงๆ เพราะมีสมาชิกคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างสยดสยองจากการถูกรัดคอ และถูกตัดมือข้างซ้ายไป ชวนให้คิดถึงฆาตกรต่อเนื่อง เพราะเหมือนกับที่เกิดกับคุณนายของเกาะนี้มาก่อน

แน่นอนที่ทุกคนจะต้องตื่นกลัวและหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะบนเกาะนี้ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีใครขึ้นมาบนเกาะนี้ได้ง่ายๆ ดังนั้น ฆาตกรก็ต้องเป็นหนึ่งในเจ็ดคนนี้แน่ๆ

ความฉลาดและกลวิธีการเขียนของผู้เขียนที่เดินเรื่องควบคู่กันไประหว่างคนบนแผ่นดินใหญ่ กับ คนบนเกาะ ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมาปะติดปะต่อกันเข้าก็ยิ่งชวนให้สงสัยคนนั้นคนนี้ตามแบบฉบับของนิยายสืบสวน

ที่พวกเขาเสาะหาคือ “แรงจูงใจ” อันเป็นตัวละครสำคัญที่สุดของเรื่องแนวนี้

คงจะพอเล่าคร่าวๆ ได้เท่านี้นะครับ หากมากกว่านี้จะเป็นการด้อยอรรถรสของคนอ่านไปโดยปริยาย ท่านใดสนใจไปหาอ่านได้นะครับ สนุกและชวนติดตามจริงๆ

และยิ่งเมื่อเรื่องได้ถูกเฉลยออกมา ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง โดยคราวนี้อ่านแบบรู้แล้วว่าใครเป็นฆาตกร เพื่อดูวิธีการหลอกล่อผู้อ่านของผู้เขียน และค่อยจินตนาการตามว่าเมื่อคนนี้เป็นฆาตกร เขาหรือเธอลงมือทำอย่างไร ตอนไหน และเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ใครที่ชอบอ่านนิยายแนวนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

ตอนนี้ในเมืองไทยได้เกิดเหตุฆาตกรรมใหญ่ขึ้นมาเหมือนกัน โดยเกิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มต้นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรณีบิ๊กโจ๊ก ได้ขยายผลออกไปมากมาย จนเหมือนกับได้เกิดการฆาตกรรมหมู่ขึ้นในวงการสีกากีขึ้นแล้ว

ใครอยากอาสามาเป็นนักสืบก็ลองดูนะครับ และเชื่อพันเปอร์เซ็นต์ว่าคนสืบจะพบกับ “แรงจูงใจ” เพียบเลยทีเดียว จนเลือกไม่ถูกว่าจะฟันธงว่าเป็นอันไหนดี

ดีไม่ดีคนสืบอาจจะขอยกธงขาวในตอนท้ายก็ได้ เพราะหากสืบต่อ คนที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นนักสืบเองก็ได้ ใครจะรู้เรื่องอย่างนี้ ฮา ฮา ฮา •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์