แลนด์บริดจ์เพื่อใคร?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ฟังคำสัมภาษณ์ของคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามันแล้ว เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า คุณสุริยะเดินหน้าลุยให้โครงการนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” อย่างแน่นอน ในระหว่างนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังศึกษาโครงการ

โครงการแลนด์บริดจ์ มีเป้าหมายเป็นประตูการค้านำเข้าส่งออกของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองรับสินค้าจากจีน ลาว อินเดียไปยังยุโรป หรือสินค้าจากยุโรปมายังอาเซียน

แลนด์บริดจ์ช่วยย่นระยะทาง ลดระยะเวลาในการขนส่ง เป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ใช้รถไฟและมอเตอร์เวย์เป็นตัวเชื่อมระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง

โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จาก 2 เปอร์เซ็นต์เป็น 10%

สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 5 แสนล้านบาท เกิดการสร้างงาน เพิ่มอาชีพใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

จุดก่อสร้างท่าเรือที่ศึกษาแล้วพบว่าเหมาะสม ในฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร และฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.เมือง จ.ระนอง

งบประมาณในการสร้างแลนด์บริดจ์ ประเมินเบื้องต้น 1 ล้านล้านบาท แบ่งซอยเป็น 4 เฟส

เฟสแรกสร้างท่าเรือฝั่งแหลมริ่ว ใช้งบฯ 118,519 ล้านบาท ท่าเรือแหลมอ่าวอ่าง 141,716 ล้านบาท, พัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า ฝั่งจังหวัดชุมพร ใช้งบฯ ราว 38,000 ล้านบาท ฝั่งจังหวัดระนอง 22,000 ล้านบาท ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร และรถไฟรางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร เชื่อมจังหวัดชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89.35 กิโลเมตร ลงทุนราว 223,626 ล้านบาท

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบในหลักการ จากนั้นนำข้อมูลโครงการไปโรดโชว์ชวนเชิญนักลงทุนต่างชาติ และต้นปีหน้า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ และเสนอร่างกฎหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้เข้าสู่สภา

ถ้าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเปิดประมูล และลงนามก่อสร้างในปีเดียวกัน ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีแล้วเสร็จเปิดใช้งานในไตรมาส 4 ของปี 2573

 

คุณปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. บอกว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ อาจต้องให้ระยะเวลาสัมปทานนาน 50 ปี

เวลานี้ สนข.กำลังจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) และลงพื้นที่สำรวจรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

คุณปัญญาบอกว่า จากการชี้แจงและรับฟังความเห็นข้อห่วงใยของประชาชนในทุกหมู่บ้าน ภาคเอกชน หอการค้าฯ มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี เช่น พื้นที่ประมงหากมีผลกระทบ สูญเสียรายได้จะมีแผนรองรับ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบแต่ละกลุ่มไว้

ผู้ที่มาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ต้องนำรายชื่อเข้าสู่ระบบงานเพื่อให้ประชาชนเหล่านี้มีรายได้ต่อไป

ผมคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์ สนข.ได้รายงานสรุปผลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมริ่ว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อ.หลังสวน จัดทำรูปแบบค่อนข้างดี แต่เนื้อหานั้นค่อนข้างทำความเข้าใจยาก

รายงานชิ้นนี้ จัดลำดับข้อมูลด้านต่างๆ เช่น เหตุผล ความจำเป็นและความเป็นมาของโครงการ รวมถึงที่ตั้งของโครงการ มีผังแม่บทในการใช้พื้นที่ แหล่งเงินทุน

ผู้จัดทำให้เหตุผลว่าแหลมริ่ว เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งอ่าวไทยว่า เกณฑ์การเลือกพื้นที่พัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก เป็นไปตามแนวทางของ UNCTAD และ PIANC Outline Master Planning Process for Greenfield Ports

แต่ในรายงานไม่ให้รายละเอียด UNCTAD และ PIANC คืออะไร ทำไมต้องใช้หลักเกณฑ์ของ UNCTAD (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา) และ PIANC (สมาคมโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำของโลก)

ส่วนสาเหตุที่จะต้องทำ EHIA เพราะการก่อสร้างท่าเรือแหลมริ่วต้องถมที่ดินในทะเลหรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด ที่มีขนาดตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป

 

นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าที่เรือเข้าเทียบได้ ตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่หน้าท่าตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป หรือมีการขุดร่องน้ำตั้งแต่ 1 แสนลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องทำ EHIA

ในรายละเอียดของการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งเป็นประเภทท่าเรือในทะเลเปิด (Open Coastal Ports) อยู่นอกชายฝั่ง จะต้องก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำแอ่งจอดเรือและแอ่งกลับลำเรือ นำมาถมทะเลบริเวณแหลมริ่ว เขื่อนกันคลื่นมี 2 จุด ยาว 5,400 เมตร และอีกจุด 685 เมตร ต้องขุดลอกร่องน้ำเดินเรือยาว 9.7 กิโลเมตร ลึก 17 เมตร

ต้องถมทะเลราว 5,808 ไร่ กอบด้วยพื้นที่ท่าเทียบเรือ 4,788ไร่ และพื้นที่พัฒนาอเนกประสงค์ 1,020 ไร่

ทีมงานสำรวจความคิดเห็นได้ศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ในรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ ต.บางน้ำจืด ต.ปากน้ำ อ.หลังสวน และ ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ซึ่งในวันประชุมมีผู้เข้าร่วม 722 คน

ประเด็นคำถามของประชาชนต้องการรู้ว่าโครงการนี้คุ้มทุนหรือไม่ เพราะเรือสินค้าที่เข้าเทียบท่าเป็นเรือสินค้าขนาดเล็ก ฝ่ายผู้ชี้แจงอ้างตัวเลขของสหประชาชาติว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้น การขนส่งสินค้าจะมีการกระจายสินค้าไม่น้อยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์

 

เรื่องการวางท่อขนส่งน้ำมัน ชาวบ้านถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ ผู้ชี้แจงยืนยันไม่มีแผนพัฒนาโรงกลั่งน้ำหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมบนพื้นที่ถมทะเล การพัฒนาพื้นที่หลังมีท่าเรือแล้วจะเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มผลผลิตในพื้นที่ เช่น แปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล ฯลฯ

ข้อกังวลของประชาชนกรณีอำเภอพะโต๊ะ มีผลผลิตที่สำคัญคือทุเรียนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หากการพัฒนาแนวเส้นทางของโครงการไม่เหมาะสมจะกระทบต่อแหล่งน้ำระบบนิเวศ ทั้งช่วงก่อสร้างและดำเนินการนั้น

ผู้จัดประชุมชี้แจงว่า จะต้องศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA เพื่อระบุผลกระทบและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นชอบก่อนจะขออนุญาตก่อสร้าง

ข้อกังวลของชาวอำเภอหลังสวนและอำเภอพะโต๊ะ ไม่ได้มีเพียงเฉพาะในห้องประชุม แต่จัดทำเป็นหนังสือยื่นถึงคุณปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ “ชุมพร-ระนอง” •