สังคมก้าวเขย่งนิยม

บทความพิเศษ | พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ

 

สังคมก้าวเขย่งนิยม

 

ตามหลักการของวิชาสังคมวิทยาของนักสังคมวิทยามากมายลงความเห็นกันว่า สังคมเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีการเกิด การพัฒนา และการตาย

แบ่งออกเป็น 3 ยุค 3 สังคมคือ

 

1 สังคมประเพณีนำ (Teaditional Directed Society) เป็นสังคมยุคโบราณที่คนในสังคมมีจำนวนไม่มากนัก ความต้องการมีน้อยแต่มีทรัพยากรจำนวนมาก มีการดำรงชีพด้วยการหาอยู่หากิน หรือกินของทิพย์ก็ว่าได้ มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยทำมาในอดีตเป็นตัวกำกับ

ผู้คนต่างก็ยึดถือการกระทำหรือขนบธรรมเนียมของบรรพชนเป็นกรอบในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ก็หาอยู่หากิน ไม่มีการปลูกการเลี้ยง มีการแข่งขันน้อยมาก

บ้านเรือนก็ตั้งอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน อาศัยห้วยหนองคลองบึงและภูเขาหรือป่าอันเป็นแหล่งอาหารเป็นที่ตั้งบ้านตั้งเรือน

แม้แต่ชื่อหมู่บ้านก็ล้วนแต่เป็นชื่อสถานที่ที่พอจะให้อาหารการกินได้ เช่น บ้านหนองคู บ้านหนองขาม บ้านห้วยซัน

อาหารการกินส่วนมากจะเป็นปูปลา อาหารตามห้วย หนอง คลองบึง หรือบางหมู่บ้านอยู่ใกล้ภูเขา จะถือว่าป่าคือซูเปอร์มาร์เก็ต อยากกินเห็ด อยากกินหน่อไม้ ขึ้นโคกขึ้นป่า ได้สินค้ามาก็มาแลกมาเปลี่ยนกันกิน ไม่มีการนำมาค้าขาย

เป็นสังคมถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างพี่อย่างน้อง หยูกยาก็หาเครือไม้ ดอกไม้ ปรุงมาใช้เป็นยา

อีกทั้งยังมีประเพณีที่เป็นข้อห้ามไม่ให้กระทำ จะมีทั้งข้อห้ามด้านอาหารการกิน ว่าอะไรควรกินไม่ควรกิน อะไรเป็นพิษ อะไรเป็นโทษ ต่างก็อาศัยประเพณีที่เคยเล่าสู่กันมา

ผู้ปกครอง ชาวบ้านเลือกกันเองว่าใครเป็นคนที่อยู่ในศีลกินในธรรม เป็นที่ยอมรับเคารพนับถือของชาวบ้าน มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน การตัดสินความก็ยึดหลักความถูกต้องและการสมานฉันท์เป็นประการสำคัญ

สังคมชนิดนี้ มีอยู่ทั่วไป แทบทุกทวีป โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ต่อมาเมื่อคนมีมากขึ้น ข้าวปลาอาหารไม่พอกับความต้องการ จึงมีการนำสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติมาปลูกมาเลี้ยง จนกลายเป็นสังคมใหม่ขึ้น คือสังคมช่วยเหลือตัวเอง

หรือตัวเองเป็นผู้นำ (Inner Directed Society) เป็นสังคมที่ 2

 

สังคมชนิดนี้จะเรียกว่าสังคม ปลูกอยู่ปลูกกิน และเลี้ยงอยู่เลี้ยงกิน ก็ได้ เมื่อมีการปลูกการเลี้ยงการผลิตเกิดขึ้น ก็มีการค้าการขายตามมา สังคมทุนนิยมอ่อนๆ เริ่มเกิดขึ้น การอุปโภคบริโภค การทำมาค้าขายเพื่อหาเศรษฐทรัพย์ คือ เงิน ก็เกิดขึ้นเป็นตัวกลาง

สังคมชนิดนี้ มีครอบครัวที่เข้มแข็งเป็นผู้ชี้นำ มีการปลูกการเลี้ยง การบริโภคในครัวเรือน หรือจะเรียกว่าสังคม อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็ว่าได้

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น เลิกหาอยู่หากิน หันมาปลูกอยู่ปลูกกิน เลี้ยงอยู่เลี้ยงกิน เป็นสังคมเกษตรกรรม จึงเรียกว่าสังคมศิวิไลซ์

สังคมชนิดนี้เกิดขึ้นตามลุ่มน้ำต่างๆ ก่อน เช่น ลุ่มน้ำไนล์ ยูเฟรติส ไตกริส หรือที่เรียกว่า เมโสโปเตเมีย และแม่น้ำสินธุ แม่น้ำฮวงโห เป็นต้น

คนอเมริกันอพยพจากยุโรปมาอยู่ในอเมริกาครั้งแรกเป็นสังคมชนิดนี้ มีการปลูกการเลี้ยงโดยเฉพาะการเลี้ยงวัวเป็นสังคมเคาบอยในอดีต เป็นสังคมเริ่มต้นของสังคมทุนนิยม มีการใช้เงินเป็นสื่อในการซื้อ/การขาย

ประเทศไทยมีหลายเผ่าพันธุ์ หลายวัฒนธรรมปะปนกันอยู่ มีทั้งมอญ เขมร จีน เวียดนาม และอื่นๆ แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีบรรพชนต่างกัน บางสังคมยังอยู่ในสังคมบรรพกาล คือหาอยู่หากิน บางเผ่าพันธุ์ยังอยู่ในสังคมปลูกอยู่ปลูกกิน บางเผ่าพันธุ์พัฒนาเกินกว่าเผ่าอื่นๆ รู้จักการทำมาค้าขาย ความแตกต่างของคนในสังคมที่แตกต่างกันนี้ เป็นเหตุให้การกระจายรายได้อันเกิดจากการพัฒนาด้วยแหเบอร์เดียว จึงได้ปลาชนิดเดียว ทั้งๆ ที่ปลาในบ่อมีหลายขนาด เป็นสิ่งที่ผู้อาสาจะเป็นผู้นำชาติ จะต้องรู้เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่รู้ก็กลายเป็นลัทธิเอาอย่างอย่างในปัจจุบัน

สังคมในชนบทก้าวกระโดดหรือก้าวเขย่ง จากสังคมหาอยู่หากินไปสู่สังคมซื้ออยู่ซื้อกิน อันเกิดจากความไม่รู้และเกิดจากลัทธิเอาอย่าง อย่างโบราณกล่าวไว้ว่า เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง ไม่มีอะไรดีเลย นอกจากจะทำให้สังคมที่ตนอาศัยอยู่ล้มเหลวแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโสเภณี ปัญหาเล็กขโมยน้อย

มากไปกว่านั้น ปัญหาคอร์รัปชั่น ก็ล้วนเกิดจากปัญหาก้าวเขย่งของคนในสังคมที่ต้องการเรียนลัด ต้องการมั่ง ต้องการมี แต่เรายังไม่พร้อม

น่าสงสาร ที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เข้าใจปัญหาสังคมดังกล่าว จึงพัฒนาไปตามตำราฝรั่งที่เรียนมา โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมเห่อฝรั่ง ถ้าฝรั่งพูดฝรั่งทำ ดูเหมือนจะถูกต้องหมด ไม่ต้องคิดวิเคราะห์หาเหตุผลว่าจริงหรือไม่จริง เราจึงยังอยู่กับที่อย่างที่เห็นๆ กันอยู่

 

สังคมที่ 3 เรียกว่าสังคมผู้นำอื่น (Outer Directed Society) เป็นสังคมที่คนเลียนแบบกัน คิดว่ามีสวยเดียวงามเดียว ทั้งๆ ที่คนเกิดมาด้วยความแตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันสักคน ถ้าเลือกหญิงสาวมา 10 คน สวยทั้ง 10 คน สวยคนละอย่าง แล้วเราจะมาประกวดนางงามเพื่อให้ได้สวยเดียวกันได้อย่างไร

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาไปมากมาย ถึงเกิดลัทธิเอาอย่าง มีการต่อเติม เสริมจมูกหน้าตา ให้เหมือนฝรั่งบ้าง เกาหลีบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ล้วนแต่หลงทางกันทั้งนั้น

พ่อแม่ให้มาอย่างไรควรจะภูมิใจในสิ่งนั้น อย่าลืมว่าลูกที่ออกมาตามธรรมชาติไม่ได้ศัลยกรรมเหมือนแม่ หน้าตาจะไปคนละอย่างกับแม่ แล้วแม่ภูมิใจหรือที่ตนเองกับลูกไม่มีส่วนคล้ายคลึงกันเลย ในประเทศจีนได้เกิดปัญหาหย่าร้างเกิดขึ้น อันเกิดจากภรรยาไม่ได้สวยจริง แต่เป็นสวยเก๊ ลูกออกมาไม่เหมือนแม่เป็นเรื่องเศร้ามาก

เด็กนักเรียนต่างจังหวัด รายได้ต่ำ รสนิยมสูง อยากได้เหมือนคนอื่นที่เขามั่งมี ต้องอ้อนวอนผู้ปกครองให้หาเงินซื้อให้ตนเอง จึงเกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้ามาหางานทำพิเศษ เพื่อให้ได้เงินมาปรนเปรอบำเรอลูกๆ ปัญหาบ้านแตกสาแหรกขาดก็เกิดจากปัญหาการก้าวเขย่งของสังคม

รัฐบาลถ้ารู้ปัญหา เศรษฐกิจ-สังคม จริง ควรจะมองปัญหานี้บ้าง แต่ตามที่สังเกตมักจะเข้าใจผิดว่า ธุรกิจคือเศรษฐกิจสังคม เพราะล้วนมาจากสังคมธุรกิจแทบทั้งสิ้น จะมาจากสังคมชนบทอยู่บ้าง แต่ก็เกรงใจนายทุนของพรรค จึงอยู่ในลักษณะน้ำท่วมปากพูดไม่ได้

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น จะเป็นผู้พิจารณาว่าอะไรควรไม่ควร ไม่ใช่ธุระ ไม่ใช่อยู่กันไปวันๆ

David Reisman นักสังคมวิทยาลือนามกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “Man are created different;they lose their social freedom and their individual autonomy in seeking to become like each other.”

“มนุษย์เกิดมาล้วนมีความแตกต่างกันแต่กำเนิด เขาสูญเสียเสรีภาพในสังคม อีกทั้งความเป็นเอกลักษณ์ของตน ก็เพราะว่าเขาเฝ้าแต่ลอกเลียนแบบชาวบ้านมากเกินไป”