โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์ : ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์

: ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (2)

 

หนังสือ Religious Objects in Museums : Private Lives and Public Duties ของ Crispin Paine ชี้ให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนาที่เปลี่ยนไป ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก

ในอดีต พิพิธภัณฑ์คือพื้นที่ที่เปลี่ยนความหมายวัตถุและรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ให้กลายมาเป็นโบราณวัตถุที่มุ่งแสดงเฉพาะมิติของความสวยงาม เป็นหลักฐานของอารยธรรมเก่าแก่ หรือใช้เพื่อประกาศความเหนือกว่าของสังคมตะวันตก

แต่ในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ศรัทธาทางศาสนาหลายกลุ่มเริ่มเรียกร้องและต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนิยามความหมายและสถานะของโบราณวัตถุให้ย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับบริบททางศาสนาตามความเชื่อของตนเอง

ขณะเดียวกัน ภัณฑารักษ์ในโลกสมัยใหม่ก็เริ่มตระหนักว่าโบราณวัตถุเหล่านี้จะสามารถเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้งแท้จริงก็เฉพาะในบริบททางศาสนาที่โบราณวัตถุเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเท่านั้น มิใช่ในบริบทของการจัดแสดงวัตถุแบบที่พิพิธภัณฑ์ในอดีตนิยมทำกัน

กระแสที่เกิดขึ้นร่วมกันดังกล่าวทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเริ่มหันมาสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างโบราณวัตถุกับผู้เข้าชมในรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะกึ่งๆ คล้ายๆ จะเป็นการจำลองบรรยากาศหรือความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมของโบราณวัตถุที่เคยเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

การสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย
ที่มา : ช่อง YouTube : Udita India

คุณ Paine ยกตัวอย่างประเด็นนี้เพิ่มเติมในปี พ.ศ.2560 (ดูในบทความ Religious Objects in Museums : An Interview with Crispin Paine ตีพิมพ์ใน Glencairn Museum News) ว่า พิพิธภัณฑ์บางแห่งยอมให้มีการสวดภาวนาต่อหน้าโบราณวัตถุ

เช่นกรณีอัฐิธาตุของศาสดาพยากรณ์ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังโทพคาปึ (The Topkapi Palace Museum) ประเทศตุรกี ซึ่งแต่เดิมเคยจัดแสดงในฐานะโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ตามแบบโลกสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันอัฐิธาตุได้รับการปฏิบัติในฐานะวัตถุศักดิ์สิทธิ์ และมีการอ่านอัลกุรอานเพื่อสรรเสริญอยู่ข้างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง

บางแห่งยอมให้มีการถวายเครื่องสักการบูชา เช่นกรณีพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลไทยมอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย (ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกรูปแบบศิลปะไทย) ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีผู้แสวงบุญชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางมาเพื่อทำการสักการบูชา แม้ว่าจะมีป้ายติดอยู่ด้านข้างระบุว่า “ห้ามถวายสิ่งของใดๆ ทั้งสิ้นโดยเด็ดขาด”

หรือบางแห่ง เช่น สถาบันสมิทโซเนียน (The Smithsonian Institution) ยอมให้ชนพื้นเมืองเข้ามาประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเองได้ต่อหน้าโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

การสักการบูชาประติมากรรมหินรูปองค์พระคเณศ 4 กร ในกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” ภายในห้องศรีวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ที่มา : เพจ Education.National Museum Bangkok เที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วย 2 เหตุผลหลัก ที่แตกต่างกัน

เหตุผลประการแรก คือ เหตุผลเชิงวิชาการ (เช่นกรณีของสมิทโซเนียน) ที่ต้องการขยายกลุ่มผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และเพื่อช่วยให้ผู้มาเยี่ยมชมทุกคนเข้าใจว่าวัตถุนั้นๆ เมื่อตอนแรกสร้างถูกมองเห็น เข้าใจ และถูกปฏิบัติจากผู้คนอย่างไร

ตัวอย่างเช่น รูปเคารพของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างอย่างมากเมื่อสวมเสื้อผ้าและประดิษฐานอยู่ในบริบทดั้งเดิมของการกราบไหว้บูชา ซึ่งจะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากการยืนเปลือยเปล่าบนแท่นฐานภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งหากมีการยอมให้โบราณวัตถุสวมเสื้อผ้าและจำลองบริบทของการบูชา ย่อมจะช่วยให้เข้าใจงานชิ้นนี้ได้ดีขึ้น

ส่วนเหตุผลประการที่สอง คือ แรงขับดันทางสังคมภายใต้กระแสที่ผู้คนย้อนกลับไปหาและพึ่งพาความเชื่อทางศาสนา (ในทุกศาสนา) ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมที่นำไปสู่การย้อนคืนความหมายของโบราณวัตถุแบบสาธารณ์ให้กลับไปสู่การเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์แบบดั้งเดิมอีกครั้ง

(เช่นกรณี พระบรมสารีริกธาตุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเดลี และอัฐิธาตุของศาสดาพยากรณ์ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังโทพคาปึ)

 

ภายใต้เหตุผลแบบแรก เป้าหมายหลักคือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโบราณวัตถุให้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เข้าอกเข้าใจผู้คนและความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังการผลิตวัตถุสิ่งของเหล่านั้นให้มากขึ้น ขยายนิยามของพิพิธภัณฑ์ให้กว้างยิ่งขึ้น

อีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความพยายามที่จะเข้าไปทำลายทัศนะครอบงำในแบบโลกสมัยใหม่ที่มีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ที่มุ่งเข้าไปจัดการวัตถุสิ่งของโบราณทุกอย่างในทุกวัฒนธรรม ในรูปแบบและวิธีการเดียวกันทั้งหมด คือ การเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างให้กลายมาเป็นสิ่งของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แบบสาธารณ์

แต่ภายใต้เหตุผลแบบที่สอง ดูจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป เป้าหมายดูเสมือนว่าจะเป็นไปเพื่อเหตุผลเรื่องความศรัทธาเป็นสำคัญ รูปแบบมีความโน้มเอียงไปสู่การเน้นมิติของพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าเหตุผลเรื่องการขยายความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นต่อโบราณวัตถุ

 

ย้อนกลับมาที่กรณีกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ถามว่ากรณีนี้เหตุผลเบื้องหลังคืออะไร

กิจกรรมนี้มีแนวโน้มที่ใกล้เคียงกับเหตุผลแบบที่สองที่ต้องการย้อนกลับไปหามิติทางพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าเหตุผลแบบแรกที่เป็นเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโบราณวัตถุที่ลึกซึ้งขึ้น

ตัวกิจกรรมไม่ได้พยายามโยงย้อนกลับไปหาบริบทเดิมของโบราณวัตถุชิ้นนี้ที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในศาสนสถานแบบชวาตะวันออกแต่อย่างใด ไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจโบราณวัตถุชิ้นนี้ในที่ตั้งเดิมหรือการปฏิบัติบูชาแบบเดิมว่าเป็นอย่างไร และแน่นอน ไม่มีการนำเสนอนัยยะของงานชิ้นนี้ต่อสังคมชาวชวาตะวันออกยุคพุทธศตวรรษที่ 15-16 แม้เพียงเล็กน้อย

กิจกรรมที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการตอบสนองกระแสความเชื่ออย่างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานต่อโบราณวัตถุชิ้นนี้ แม้จะเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อเดิมของสังคมไทยที่มีมาอย่างยาวนานต่อองค์พระคเณศก็ตาม

ดังนั้น กิจกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นบนแรงผลักดันทางความเชื่อและมิติศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความรู้

ประเด็นที่อยากชวนให้คิดตามต่อก็คือ ในทัศนะผม หากการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบศักดิ์สิทธิ์ระหว่างโบราณวัตถุกับผู้ชมเป็นไปด้วยเหตุผลแบบแรก แนวโน้มต่อสังคมจะส่งผลกระทบในเชิงบวก

แต่หากเกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันในแบบที่สองเป็นสำคัญ ผลกระทบต่อสังคมมีแนวโน้มระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในเชิงลบ

การปล่อยให้โบราณวัตถุย้อนกลับไปมีสถานะศักดิ์สิทธิ์มากจนเกินไปจนขาดสมดุล จะทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปในสังคมไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโบราณวัตถุได้ในแบบทางโลกเพื่อการศึกษาค้นคว้าหาความรู้อีกต่อไป

ลองนึกดูนะครับ หากประติมากรรมหินพระคเณศชิ้นนี้ถูกสักการบูชาในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ การเรียกร้องการปฏิบัติของผู้เข้าชมต่อวัตถุชิ้นนี้ก็จะเริ่มซีเรียสมากขึ้นตามไปด้วย

ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานที่ผ่านมา ระบุข้อความเรื่องการแต่งกายที่ต้องสุภาพ ซึ่งแน่นอน สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขที่ยังไม่สิ่งผลกระทบอะไร แต่อยากให้คิดตามว่า หากโบราณวัตถุชิ้นนี้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นๆ ข้อเรียกร้องย่อมมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ไม่ควรเข้าไปยืนส่องใกล้ๆ เพราะเป็นการไม่เคารพ

ในขณะที่การเข้าไปยืนพินิจโบราณวัตถุอย่างใกล้ชิด เป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญต่อการศึกษาโบราณวัตถุ

อาจจะมีการกั้นบริเวณโดยรอบตัวโบราณวัตถุมากขึ้น ในแบบที่รูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมักจะทำกัน จนไม่สามารถเดินเข้าไปศึกษาได้

หรือแม้แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิชาการในอนาคตอาจจำเป็นต้องทำเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

เช่น สแกน เก็บตัวอย่างผิววัสดุ ฯลฯ ก็คงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ หากโบราณวัตถุชิ้นนี้กลายเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์ ฯลฯ

 

หลายคนอาจมองว่าที่พูดมาเป็นการคิดลบมากเกินไป แต่หากลองคิดง่ายๆ จากตัวอย่างจริงที่มีอยู่เราก็จะเข้าใจได้ทันที

พระพุทธสิงหิงค์ ซึ่งมีสถานะเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์ ปัจจุบันถูกประดิษฐานภายในบุษบกที่ตั้งอยู่สูง ในตำแหน่งที่เราไม่สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้แบบโบราณวัตถุได้

ในขณะที่พระพุทธรูปภายในห้องจัดแสดงล้านนาและเทวรูปในห้องสุโขทัย ถูกจัดแสดงเอาไว้ในระดับสายตาและใกล้ชิดผู้ชมจนเราสามารถพิจารณาพุทธลักษณะ วัสดุ และฝีมือช่างได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้มากกว่า

กล่าวอย่างรวบรัด หากโบราณวัตถุมีนัยยะของการเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์มากเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการศึกษาหาความรู้มากขึ้นเท่านั้น

ไม่ใช่ต้องการปฏิเสธนัยยะศักดิ์สิทธิ์นะครับ แต่สิ่งที่อยากเสนอคือ การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสถานะของการเป็นโบราณวัตถุแบบสาธารณ์ กับรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

และเป็นประเด็นที่พิพิธภัณฑ์ของไทยต้องตระหนักถึงให้มากขึ้นท่ามกลางบรรยกาศที่เรียกร้องการย้อนกลับไปสู่การสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในทุกปริมณฑลทางสังคม