ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (7) วีเซ็นเต ครูภาษาสู่ครูเกษตร

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (7)

วีเซ็นเต ครูภาษาสู่ครูเกษตร

 

“ถนนวันนี้ราบเรียบกว่าเส้นเมื่อวาน แต่บางช่วงต้องขึ้นเขาเหมือนกัน เวลาเดินทางคงพอๆ กันครับ” อุปทูตสกลวัฒน์ ให้ข้อมูลระหว่างรอคณะออกเดินทางในเช้าตรู่วันใหม่

เป้าหมายไปเยี่ยมโรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau จังหวัดเบาเกา ฝั่งตะวันออกของเกาะติมอร์ ที่ครูวีเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ติมอร์-เลสเต คนที่ 4 พ.ศ.2564 สังกัดอยู่

เป็นโรงเรียนหลักหรือโรงเรียนแม่ข่าย ครูวีเซ็นเตเคยเป็นครูใหญ่มาก่อน มีโรงเรียนลูกข่าย ทำนองโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องร่วมอยู่อีก 7 แห่ง รวมครู 39 คน นักเรียน 1,997 คน

การเดินทางหลังออกจากเมืองหลวงกรุงดิลี วิ่งยาวตลอดไปตามถนนเลียบชายฝั่งทะเล ผ่านย่านชุมชน ผ่านโรงเรียนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ ตั้งแต่ พ.ศ.2557 ถึง 2562 3 โรง จากทั้งหมด 6 โรง

ได้แก่ โรงเรียน Escola Basica Central Hara โรงเรียน Escola Basica Filial Acanuno โรงเรียน Ensino Pre-escolar Acanuno (Pre-primary school) เขตเทศบาลดิลี

โรงเรียน Escola Basica Filial Dona Ana Lemos โรงเรียน Escola Basica Central Fatuquero เขตเทศบาลเอร์เมรา และโรงเรียน Escola Basica Central Saint Jose เขตเทศบาลเบาเกา

เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2557 และ พ.ศ.2562 ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีติมอร์มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จด้วยความชื่นชมยินดี พร้อมกันทุกคน

ร่วมติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียน สิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนการสอน พระราชทานแนวคิดการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและสุขอนามัย เพื่อพัฒนาสุขภาพกายและใจของเด็กและเยาวชนในโรงเรียน

มองผ่านหน้าสนามโรงเรียนเห็นธงชาติไทยคู่กับธงชาติติมอร์ปลิวไสว

สุภาพสตรีผู้มาเยือนโรงเรียนครูวีเซ็นเตร่วมกันเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิตวิชาทำนา

ขบวนวิ่งต่อไปผ่านสถานีขนส่ง รถโดยสารประจำทางไปจังหวัดต่างๆ จอดรอผู้โดยสารคึกคัก จอแจ ผ่านเขาลงสู่พื้นราบจังหวัดเบาเกา เขตยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ตั้งกองทหารติมอร์ มีสนามบิน ทหารประจำการอยู่ หลังจากกองกำลังสันติภาพสหประชาชาติที่มีทหารไทยร่วมอยู่ด้วยปฏิบัติภารกิจสำเร็จถอนตัวออกไปเมื่อติมอร์ประกาศเอกราช พ.ศ.2545

บทสนทนาของอุปทูต เรื่องเล่าระหว่างทางเลยน่าสนุก “ครูติมอร์สอนภาษาอินโดนีเซียให้ผมจนพูดได้ เคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนเขายังเป็นเด็กชอบมาวิ่งเล่น คลุกคลีกับทหารไทยชอบกินกบ เลยหาจับกบมาขาย ชอบทหารไทยมากเป็นกันเอง ทำให้คนติมอร์ชื่นชมและประทับใจมาถึงวันนี้”

“ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับติมอร์ดีมาก รวมถึงด้านการทหาร แต่ไม่มีทูตทหาร ทูตแรงงาน ส่วนทูตพาณิชย์ให้สถานทูตไทยในจาการ์ตา อินโดนีเซียรับผิดชอบ” ผมตั้งประเด็นบ้าง

คู่สนทนาอีกท่านเอ่ยขึ้นลอยๆ “งบประมาณที่มูลนิธิใช้ช่วยครู นักเรียน และโรงเรียนแต่ละปี เทียบไม่ได้เลยกับค่าล้อเครื่องบินรบสหรัฐทั้งหมดที่ส่งมาประจำและปฏิบัติการในแถบนี้”

ฟังแล้วทำให้ผมนึกย้อนไปถึงคำกล่าวต้อนรับของนักเรียนติมอร์วันก่อนอีกครั้ง “การศึกษาพิทักษ์ ปกป้องเสรีภาพได้ยิ่งกว่ากองทัพ”

ขบวนเดินทางต่อเกือบครึ่งวันรวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ถึงที่หมาย 11.30 น เสียงกลองจากขบวนพาเหรดบรรเลงเพลงดังกระหึ่ม เด็กๆ ตั้งแถวต้อนรับ หน้าตายิ้มแย้มสนุกสนาน ต่อคิวกันคล้องผ้าสวมคอให้แขกทีละคน ทีวีท้องถิ่นติดตามถ่ายทำต่อเนื่อง

ครูใหญ่คนใหม่ และครูวีเซ็นเตพาเดินเข้าห้องประชุมที่เดียวกับห้องสมุด ด้านหน้าติดป้ายพื้นสีม่วงรูปสัญลักษณ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พร้อมข้อความ “RENOVATION LIBRARY SUPPORTED THAI TEACHERS”

กล่าวยินดีต้อนรับคณะที่เดินทางมาเยี่ยมเยียน ประธานมูลนิธิกล่าวตอบ “บทบาทของมูลนิธิที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน และการเรียนของเด็ก ขณะเดียวกันยกระดับคุณภาพชีวิตไปด้วย โปรแกรมที่สองส่งเสริมการทำโครงการเก็บน้ำ จัดหาน้ำสะอาด หาพื้นที่ประปาภูเขา พื้นที่ชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ขนาด 500 สแควร์เมตร สามารถเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ เริ่มจากสวนของโรงเรียน ก่อนไปใช้เพื่อทำการเกษตร ต้องทำงานร่วมกับโรงเรียนอื่นๆ เป็นเครือข่าย”

ครูวีเซ็นเต อายุ 59 ปี สำเร็จปริญญาตรีศึกษาศาสตร์ ก่อนเป็นครูใหญ่ เริ่มเป็นครูตั้งแต่ พ.ศ.2527 ในโรงเรียนประถมศึกษา สอนภาษาอังกฤษ โปรตุเกส มีประสบการณ์การสอนและบริหารกว่า 30 ปี ได้รับราวัล The Best Teacher Award ในปี พ.ศ.2563 มีส่วนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกีฬาในโรงเรียน ฝึกอบรมครูและนักเรียนของประเทศ จัดตั้งห้องสมุดให้โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตโปรตุเกส พ.ศ.2559-2561

และปี 2563 โรงเรียนได้รับรางวัล 1 st ranked level EBU Certamen de Don อีก

 

ครูมักเป็นคนแรกที่ไปโรงเรียนและกลับเป็นคนสุดท้าย ส่งเสริมระเบียบวินัยและความไม่รุนแรงในโรงเรียน ได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษา เยาวชนและกีฬา ในการอุทิศตัวให้กับการสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายครู

ส่งเสริมให้เด็กและผู้หญิงมีส่วนร่วมในการศึกษาอย่างแข็งขัน สนใจการจัดการน้ำสำหรับชุมชนเพื่อปลูกพืชเป็นอาหาร โครงการอาหารกลางวัน แก้ปัญหาความขาดแคลนของเด็กติมอร์ ด้วยความหวังว่าจะนำความรู้และประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและนวัตกรรมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและเครือข่าย ไปประยุกต์ช่วยพัฒนาครูในติมอร์-เลสเต

ช่วงโควิด-19 โรงเรียนปิด ครูไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้านแจกหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยง หาสิ่งสนับสนุนให้กับครูของเด็ก พิมพ์ใบงานไปให้ที่บ้านให้ จดบันทึกสิ่งที่ต้องการความกระจ่างชัดเจนจากครู ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน เครื่องมือสร้างผลผลิต ปี 2564 โควิดยังระบาดไม่สามารถเดินทางได้ การพระราชทานรางวัลครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจึงจัดทางออนไลน์โดยใช้สถานทูตไทยเป็นที่ประกอบพิธี ครูผู้ได้รับรางวัลทุกคนอยูในประเทศนั้นๆ

ต่อมาปี 2565 มีการประชุมวิชาการออนไลน์ข้ามประเทศ ครูวีเซ็นเตซึ่งติดโควิดก่อนหน้านั้น เล่าสถานการณ์ในโรงเรียน ในชุมชน ผลกระทบทำให้เด็กและนักเรียนประสบความยากลำบาก ขาดอาหาร เดือดร้อนมาก

ครูรางวัลไทยและคนอื่นๆ ที่ร่วมประชุมอยู่ที่เมืองไทยฟังแล้วสะเทือนใจ น้ำตาไหล เลยช่วยกันเรี่ยไรเงินได้ 50,000 บาทในชั่วโมงนั้น มอบให้ไปช่วยเหลือนักเรียน และโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน ครูรางวัลคนที่สองและสามของติมอร์ช่วยประสาน

เมื่อคณะไปถึง ก่อนเริ่มบรรยาย ครูเอาใบเสร็จรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ใช้ไปทำอะไร เท่าไหร่ มามอบให้ ส่วนหนึ่งใช้ปรับปรุงห้องสมุด

ครูเล่าความคิดและประสบการณ์ทำงานหลังได้รับรางวัลว่า ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแลกเปลี่ยนกับครูรางวัลด้วยกันและครูคนอื่นๆ ปรับปรุงแปลงปลูกข้าวโพด เรียนรู้โมเดลขยายเครือข่ายด้วยแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์กับครูซานุดดิน ชวนชุมชนปรับปรุงผืนนาปลูกข้าวไร้สารเคมี ผลผลิตนำไปทำอาหารให้เด็กในโรงเรียน ให้ภริยามาช่วย

 

เสร็จรายการที่โรงเรียน ครูและคณะพาไปต่อที่แปลงนากว้างราว 5 ไร่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเท่าไหร่ ใช้เป็นแปลงนาสาธิตทำนาข้าวแก่นักเรียนและคนในชุมชน ข้าวออกรวงเหลืองอร่ามทั่วทุ่งรอการเก็บเกี่ยว แจกเคียวเกี่ยวข้าวให้ทุกคนที่ต้องการลงไปสัมผัสของจริง

ผมเดินสังเกตการณ์รายรอบด้วยรอยยิ้มเมื่อเห็นภาพครูสอนวิชาทำนาติมอร์กับนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทย กำเคียวก้มลงเกี่ยวข้าวเต็มกำมือ ยกชูขึ้นอวดเพื่อนร่วมทางใบหน้าอิ่มสุข

ลงจากเนินที่ตั้งเพิงต้อนรับแขกหลังคามุงหญ้าไปด้านล่าง รถไถนาเดินตามยี่ห้อคูโบต้าสีส้ม 2 คันจอดอยู่ สอบถามได้ความว่าครูนำเงินที่ได้รับรางวัลไปซื้อมาใช้ทุ่นแรงไถนา นำเข้าจากเมืองสุราบายา อินโดนีเซีย ช่วงก่อนโควิด คันแรกราคา 1,500 เหรียญสหรัฐ เทียบเป็นเงินบาทไทย 52,500 บาท หลังโควิดคันที่ 2 ราคาขึ้นไปเป็น 3,000 เหรีญสหรัฐ สูงกว่าราคาขายในเมืองไทยราว 40,000 มาก

“ราคาขนาดนี้ แล้วชาวนาจนๆ ในชุมชนจะมีกำลังซื้อมาใช้ได้อย่างไร ถ้าไม่ลงขันร่วมกันแล้วผลัดกันยืมใช้ หรือขอให้ครูวีเซ็นเตมอบให้เป็นสมบัติของชุมชม” ผมนึกในใจแต่ไม่ได้ถามครู ระหว่างร่วมวงกินอาหารพื้นเมืองข้าวต้มมัดลูกโยนมื้อกลางวันในเพิง ลมพัดเย็นสบาย ก่อนเดินทางต่อไปสู่จุดหมายโรงเรียนแห่งใหม่ช่วงบ่าย