อุษาวิถี (48) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ส่วนรายได้หรือผลประโยชน์ของขุนนางนั้น นอกจากจะเป็นเบี้ยหวัดรายปีที่ได้รับจากกษัตริย์แล้ว แหล่งสำคัญยังมาจากส่วยสาอากรและการค้าขายที่ได้มาตามหน้าที่ โดยจะแบ่งอีกส่วนหนึ่งเข้าคลังไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่นี้ เมื่อขุนนางตายไป ครอบครัวของขุนนางจะต้องทำบัญชีแจ้งทรัพย์สินทั้งหมดแก่กษัตริย์เพื่อพิจารณา ว่าจะเรียกทรัพย์สินส่วนใดกลับคืนไปบ้าง

ถึงแม้จะมีเงื่อนไขเช่นที่ว่าก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วขุนนางก็ยังคงนับได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์อยู่ไม่น้อย ขุนนางจึงมีชีวิตที่จะเป็นรองก็แต่กับกษัตริย์เท่านั้น

ดังที่มีการเปรียบเปรยว่า ชีวิตขุนนางเป็นชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตของกษัตริย์ เพียงแต่ย่อส่วนลงให้สมกับฐานะ ได้รับการศึกษาทำนองเดียวกับเชื้อพระวงศ์ ได้บวชเรียนกับพระภิกษุที่มีชื่อ และได้รับการฝึกปรือเข้ารับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย

ในแง่นี้ก็เท่ากับว่า ขนบจารีตของขุนนางสัมพันธ์กับขนบจารีตของกษัตริย์หรือเจ้านายอย่างแน่นแฟ้น

แต่ด้วยเหตุที่ขุนนางมีหน้าที่ในการควบคุมไพร่โดยตรง อีกด้านหนึ่งขุนนางจึงมีความใกล้ชิดกับขนบจารีตของไพร่มากกว่ากษัตริย์ หรือเจ้านายไปด้วยเช่นกัน

 

4 ไพร่ หมายถึงสามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นมูลนาย (คือเจ้านายหรือขุนนาง) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือ ชาวนาที่มีอยู่ร้อยละ 80-90 ของสยามประเทศ

ในสมัยรัฐอยุธยาไพร่มีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งคือ ไพร่สม เป็นไพร่ส่วนตัวของมูลนายที่มีหน้าที่รับใช้มูลนายของตน เช่น ซ่อมแซมที่พักของมูลนาย เดินสาร ตามเป็นบริวาร ฯลฯ

อีกประเภทหนึ่งคือ ไพร่หลวง เป็นไพร่ของกษัตริย์ที่ให้ขุนนางเป็นผู้ดูแล มีหน้าที่ในการทำงานด้านโยธาให้แก่รัฐ เช่น ขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ ถนน วัดวาอาราม ฯลฯ

ความแตกต่างระหว่างไพร่ทั้งสองประเภทนี้อยู่ตรงที่ว่า ไพร่สมจะมีความได้เปรียบไพร่หลวง เพราะไพร่หลวงนอกจากจะต้องทำงานให้รัฐแล้ว การที่ถูกควบคุมดูแลโดยขุนนางนั้น ยังเป็นการเปิดช่องให้ขุนนางใช้ไพร่หลวงไปทำงานให้แก่ตนเองอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ไพร่หลวงจึงไม่มีสามัญชนคนใดต้องการที่จะเป็น และมีบางครั้งที่ไพร่หลวงทำการติดสินบนมูลนายเพื่อให้รับตนเป็นไพร่สม

ส่วนหน้าที่ที่เหมือนกันระหว่างไพร่ทั้งสองประเภทก็คือ การส่งส่วยสาอากรและสิ่งของต่างๆ มากำนัลเป็นบรรณาการแก่มูลนายของตน นอกจากนี้ ยังอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเมื่อเกิดศึกสงครามขึ้นมาอีกด้วย

ในชั้นหลังต่อมาในราวกลางสมัยรัฐอยุธยา ได้ปรากฏมีไพร่หลวงที่มีถิ่นฐานห่างไกลจากพระนคร การเกณฑ์แรงงานเป็นไปค่อนข้างลำบาก รัฐอยุธยาจึงอนุญาตให้ไพร่หลวงเหล่านี้ส่งส่วยสาอากรในรูปของทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อุดมสมบูรณ์ในถิ่นที่ไพร่หลวงเหล่านี้พำนักอยู่

ต่อมาจึงเรียกไพร่หลวงเหล่านี้ว่า “ไพร่ส่วย”

 

จนเมื่อลุล่วงมาจนถึงปลายสมัยรัฐอยุธยา ก็ได้มีการอนุญาตให้ไพร่หลวงสามารถส่งส่วยสาอากรด้วยการจ่ายเป็นเงินขยายออกมาอีก ไพร่กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า “ไพร่ส่วยเงิน” โดยเรียกไพร่ส่วยในกลุ่มแรกว่า “ไพร่ส่วยสิ่งของ”

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ดังกล่าวของไพร่ที่มีต่อมูลนายจะมีเวลาที่แน่นอนในแต่ละปี โดยเวลาที่ว่านี้จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยรัฐอยุธยาไพร่จะทำหน้าที่ของตนแก่มูลนายคิดเป็นเวลารวมหกเดือน

เวลาที่เหลือของไพร่จึงมิใช่อะไรอื่น หากคือการทำไร่ไถนาในฐานะ “ชาวนา” ของสยามประเทศ ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือ การทำการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อจ่ายเป็นภาษีอากรแก่รัฐ และเพื่อเป็นค่าเช่านาแก่มูลนายผู้เป็นเจ้านา

ในส่วนสิทธิของไพร่นั้นมักจะสัมพันธ์กับมูลนายที่ตนสังกัด เช่น หากไพร่ต้องการฟ้องร้องคดี มูลนายจะต้องดำเนินการให้ มูลนายจะต้องให้ไพร่ยืมเงินในระหว่างการทำราชการกับมูลนายแล้วเกิดเงินขาดมือขึ้น

หรือไพร่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกข่มเหงรังแกใดๆ จากผู้อื่น เป็นต้น

 

แม้จะไม่ใช่สิทธิที่มีรายละเอียดมากพอที่จะยืนยันได้ถึงชีวิตที่ดีของไพร่ก็ตาม แต่เท่าที่มีอยู่ของสิทธิจากที่กล่าวมา ก็ยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่าไพร่จะรอดพ้นไปจากการถูกเอาเปรียบจากมูลนายไปได้

ด้วยเหตุนี้ บางสมัยของรัฐอยุธยาจึงได้มีการออกกฎหมายต่างๆ มาควบคุมระบบไพร่ดังกล่าว เช่น ให้มูลนายเอาใจใส่ทุกข์สุขของไพร่ในสังกัด ห้ามมูลนายกักขังไพร่ไว้ใช้งานประดุจทาส ฯลฯ

ด้วยสภาพความเป็นจริงเช่นนี้ มูลนายจึงได้เปรียบไพร่อย่างมากมาย การหลีกเลี่ยงต่อทารุณกรรมจากมูลนายสำหรับไพร่ที่ได้ผลที่สุดก็คือ การหนีหาสังกัดใหม่ยังถิ่นอื่น หรือไม่ก็ขายตัวเป็นทาสทางหนึ่ง และการบวชเรียน ด้วยการเป็นพระภิกษุจะไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน อีกทางหนึ่ง

ทางหลังนี้ควรกล่าวด้วยว่า อาจจะไม่ใช่หนทางที่เอื้อให้ไพร่ได้เลื่อนฐานะของตนสูงขึ้นมากนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้วการบวชเรียนด้วยเป้าหมายเช่นนั้น โดยมากมักจะผ่านพระภิกษุที่มีชื่อเสียง ที่ซึ่งในที่สุดแล้วพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมักจะผูกพันกับมูลนายหรือขุนนางเสียโดยมาก

และทำให้ผู้มีโอกาสบวชเรียนกลายเป็นลูกหลานของมูลนายหรือขุนนางไปโดยปริยาย

 

จากสภาพชีวิตเช่นนี้จึงทำให้เห็นได้ชัดประการหนึ่งว่า โลกของไพร่นั้น แม้จะต้องผูกติดกับสถาบันทางการเมืองอย่างแน่นแฟ้นก็ตาม แต่ในแง่ของความเป็นอยู่แล้วเหมือนกับอยู่กันคนละโลกโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่บ่งชี้โลกเฉพาะของไพร่ประการหนึ่งก็คือ ขนบจารีตที่มีรากฐานมาจากสังคมชาวนาของไพร่เอง ขนบจารีตนี้เป็นผลผลิตของการผสมผสานความเชื่อเดิมของท้องถิ่น เข้ากับกระแสวัฒนธรรมอินเดีย โดยผ่านศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เป็นขนบจารีตที่สามารถเห็นได้ในท้องถิ่นต่างๆ แตกต่างกันไป

ตัวอย่างเช่น การทำบุญสู่ขวัญข้าว พิธีแห่นางแมวขอฝน บุญบั้งไฟ ประเพณีบุญเข้ากรรม ประเพณีบุญคูณลาน ประเพณีบุญสรงน้ำ เพ็ญเดือนหก ประเพณีเดือนเก้า พิธีสารทเดือนสิบ ประเพณีเดือนสิบเอ็ด-สิบสอง การใต้ประทีปและปล่อยเฮือไฟ (เรือไฟ) หรือพิธีแรกนา เป็นต้น