เปิดปมสังหารผู้นำซิกข์ ชนวนแตกหักอินเดีย-แคนาดา

เหตุมือปืนไอ้โม่ง 2 คน ดักยิงสังหาร ฮาร์ดีพ ซิงห์ ไนจาร์ ผู้นำชาวซิกข์ วัย 45 ที่หน้าวัดซิกข์ ในเมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา เมื่อเย็นวันหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กำลังเป็นชนวนเดือดที่ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย มหาอำนาจในเอเชียใต้ กับแคนาดา ชาติร่ำรวยในกลุ่มจี 7 ตึงเครียดหนัก

ถึงขั้นที่ต่างฝ่ายต่างสั่งขับนักการทูตของอีกฝ่ายที่ประจำอยู่ในประเทศตนเองออกไป โดยที่อินเดียยังระงับการออกวีซ่าให้กับพลเมืองแคนาดาเป็นการตอบโต้อีกทางหนึ่ง

การตอบโต้ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน เกิดขึ้นหลังจาก จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ชี้นิ้วกล่าวหาไปที่รัฐบาลอินเดียว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนายไนจาร์ ที่เป็นพลเมืองแคนาดาในดินแดนของแคนาดา ซึ่งเป็นการกระทำที่แคนาดายอมรับไม่ได้

ในคำกล่าวหาของทรูโดที่ทางการอินเดียปฏิเสธว่าเป็นเรื่องไร้สาระอย่างสิ้นเชิงนั้น ทรูโดอ้างว่าหน่วยข่าวกรองแคนาดามีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าสายลับของรัฐบาลอินเดียอยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารนายไนจาร์

แต่ก็ยังไม่มีการนำพยานหลักฐานที่ว่าออกมาแสดงให้เห็น เพียงแต่บอกว่าแคนาดาได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับ “ไฟว์อายส์” ชาติพันธมิตรสำคัญด้านข่าวกรองของตนเองที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แล้ว

พร้อมกับร้องขอให้ทางการอินเดียให้ความร่วมมือในการสอบสวนเรื่องนี้

 

ใจกลางแก่นรากของความขัดแย้งครั้งล่าสุดระหว่างอินเดียกับแคนาดาอยู่ที่ตัวฮาร์ดีพ ซิงห์ ไนจาร์ ผู้นำนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์รายนี้ ที่เกิดในรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ก่อนเขาจะอพยพย้ายถิ่นมาปักหลักอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบียในปี 1997 โดยยึดอาชีพเป็นช่างประปาและแต่งงานมีลูก กระทั่งได้สถานะพลเมืองแคนาดาในปี 2007

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ไนจาร์เป็นชาวซิกข์ ที่ถูกทางการอินเดียหมายหัวจากการเป็นแกนนำเคลื่อนไหวสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน โดยการเรียกร้องให้ตั้งรัฐอิสระคาลิสสถาน ขึ้นในดินแดนมาตุภูมิของชาวซิกข์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่มีประชากรคิดเป็นเพียง 2% ของประชากรทั้งประเทศในอินเดีย

การเคลื่อนไหวปลุกระดมให้ตั้งรัฐอิสระดังกล่าวของไนจาร์ ถูกโยงเข้าไปพัวพันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์อย่างกลุ่มบับบาร์ คัลซา อินเตอร์เนชันแนล (บีเคไอ) และกลุ่มคาลิสสถาน ไทเกอร์ ฟอร์ซ (เคทีเอฟ) ซึ่งทางการอินเดียตีตราเป็นกลุ่มก่อการร้าย นั่นทำให้ไนจาร์ถูกทางการอินเดียขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้ายในปี 2020

อินเดียยังกล่าวหาไนจาร์ว่าสร้างค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายขึ้นในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ที่ถือเป็นดินแดนที่มีชุมชนชาวซิกข์ใหญ่ที่สุดนอกประเทศอินเดีย ในปี 2022

สำนักงานสอบสวนแห่งชาติอินเดียยังตั้งเงินรางวัลสูงถึง 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ที่ให้เบาะแสข้อมูลเกี่ยวกับตัวไนจาร์ด้วย

 

การเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ เป็นปมปัญหาที่สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์อินเดีย-แคนาดามาเนิ่นนาน ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันที่ฉุดความสัมพันธ์ของสองชาติดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุพิพาทขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่มีการกระทำอันขัดต่อกฎหมาย เช่น ปมคดีฆาตกรรมอันอุกอาจเช่นนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยปกติแล้วชาติพันธมิตรตะวันตกมักจะไม่นิ่งเฉย อย่างน้อยก็จะต้องออกมาแสดงท่าทีใดๆ บ้าง

ดังคดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ถูกฆ่าหั่นศพในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูลของตุรกี หรือคดีลอบวางยาพิษ เซอร์เกย์ สกรีปาล สายลับรัสเซียขณะพำนักอยู่ในอังกฤษ

หากแต่ครั้งนี้ต่างออกไป โดยสหราชอาณาจักรปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์อินเดียต่อสาธารณะ ส่วนสหรัฐอเมริกาเพียงแสดงความห่วงกังวล โดยไม่ได้ออกโรงบีบให้อินเดียพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้อย่างจริงจัง

ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าท่าทีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชาติตะวันตกให้ความสำคัญกับอินเดียมากเพียงไร

โดยในทางหนึ่งมองว่า อินเดียเป็นหมากสำคัญตัวหนึ่งของชาติตะวันตกในการถ่วงดุลอำนาจจีนในภูมิภาค

และอีกทางหนึ่งในแง่ของเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งในตลาดการค้าสำคัญ

ถึงตอนนี้คงต้องรอดูว่าเหตุพิพาทขัดแย้งอินเดีย-แคนาดาครั้งนี้ จะลุกลามบานปลายไปมากขึ้น หรือจะหาทางออกร่วมกันได้ หรือจะมีใครมาช่วยเป็นกาวใจให้หรือไม่ ต้องติดตาม