ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (13)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อพระคอจินหยินร่ำเรียนวิชาไสยเวทจากหมอผีโบราณแล้ว จึงได้ถ่ายทอดวิชาให้กับ “ศิษย์สตรี” คือ “เจ้าแม่ซำไนลิ้มจุ้ยฮูหยิน” ซึ่งมีนามตัวว่าตันเจง หรือที่เรียกกันด้วยความคุ้นเคยว่าเทพเจ้า “ตันเจงก๊อ”

ต้องบอกว่า เต๋าสายลื่อซานนั้นมิได้มีเพียงนักไสยเวทที่เป็นชายหรือ “พ่อหมอ” เท่านั้น แต่ยังมีนักไสยเวทสตรีจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็น “แม่มด” แบบจีน ก็ได้

แม้จะอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ แต่วิชาทางไสยเวทซึ่งมีลักษณะศาสนาผสมและมีความเป็นพื้นบ้านเช่นนี้ กลับเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้มากไม่ต่างกับชาย

อันที่จริงเทพเจ้าสตรีหลายองค์ก็คือบรรดาแม่มดหรือนักไสยเวทพื้นบ้านเหล่านี่เอง เป็นต้นว่า พระหม่าจ้อหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าเจ้าแม่ทับทิม จากตำนาน ท่านใช้พลังวิเศษในการพยากรณ์หรือช่วยเหลือผู้คนจากภัยพิบัติในท้องทะเล ในแง่นี้ก็พอจะสะท้อนว่าท่านน่าจะเป็นนักไสยเวทที่สำคัญในสมัยโบราณ

อีกทั้งอาจารย์ของผมท่านบอกว่า “หม่าจ้อ” อันเป็นคำเรียกแบบชาวบ้านซึ่งมีความหมายว่าย่าทวด/แม่ทวดนั้น มิใช่เป็นเพียงการแสดงความสนิทสนมคุ้นเคยฉันญาติพี่น้อง แต่เป็นคำที่ใช้เรียกแม่มดในวัฒนธรรมจีนด้วย ทำนองเดียวกับคนบ้านเราเรียกแม่มดแม่หมอว่าแม่ย่าอะไรแบบนั้นแหละครับ

ที่จริงไสยเวทสายลื่อซานในภูเก็ตสายหนึ่งก็สืบทอดมาจากบูรพาจารย์ที่เป็นสตรี คือโฮอี่เหล่าม่าหรือโฮอี่จ้อ ท่านเป็นนักไสยเวทที่เดินทางจากเมืองจีนมาอยู่ที่ไทยแล้วสืบทอดวิชาส่งต่อยังศิษย์ซึ่งส่วนมากเป็นบุรุษรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน

ผมยังเคยได้ไปกราบไหว้รูปเคารพของท่านที่ “สำนัก” แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตมาแล้วครับ

 

ตันเจงก๊อมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง เกิดที่เมืองฮกจิว มณฑลฮกเกี้ยน ว่ากันว่าเมื่อท่านอายุได้สิบห้าปีได้ไปศึกษาวิชาไสยเวทสายลื่อซานจากพระคอจินหยิน โดยเฉพาะวิชาผดุงครรภ์

เมื่อท่านลงจากเขาได้ใช้วิชาของตนช่วยเหลือชาวบ้านเป็นอันมาก ทั้งยังสามารถปราบปีศาจงูร่วมกับศิษย์ร่วมสำนักอีกสองท่าน ซึ่งในศาลเจ้ามักประดิษฐานไว้รวมกัน ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่าหยี่ม่าและซามม่า (เจ้าแม่สองและสาม) เรียกรวมๆ ว่าซำไนฮูหยิน

ครั้นเมื่อถึงอายุยี่สิบสี่ปีก็ตั้งครรภ์ แต่ขณะต่อสู้กับปีศาจท่านได้ประสบอุบัติเหตุจนตกเลือดและเสียชีวิต ชาวบ้านจึงตั้งศาลเจ้าให้ เคารพนับถือกราบไหว้ว่าเป็นเจ้าแม่ผู้พิทักษ์สตรีและเด็ก ด้วยคุณความดีฮ่องเต้ได้พระราชทานยศเป็นฮูหยินหรือท่านผู้หญิง

ดังนั้น ไสยเวทลื่อซานสายวิชาผดุงครรภ์จึงนับถือพระซำไนฮูหยินเป็นพระปรมาจารย์

ทั้งนี้ รูปเคารพของท่านมักแสดงถึงความเป็นผู้ใช้ไสยเวทลื่อซานโดยเฉพาะ คือถือกระบี่และ “แตรเขาควาย” (เหล่งงู่กัก) ซึ่งเต๋าสำนักอื่นๆ ไม่ใช้เลย ส่วนอีกสององค์ก็จะถือของในพิธีไสยเวทเช่นกัน เช่น กระดิ่งหรือตราประทับ

หากท่านไหนปรารถนาจะไปกราบไหว้ขอพรกับซำไนฮูหยิน โดยเฉพาะเพื่อพิทักษ์รักษาบุตรในครรภ์ให้ปลอดภัย ก็ไม่ต้องไปถึงภูเก็ต เพราะในกรุงเทพฯ ของเราก็มีศาลเจ้าสำคัญและเก่าแก่ของท่าน คือศาลซำไนเกง ที่ท่าดินแดง เขตคลองสาน ซึ่งเป็นศาลเดิมของชุมชนชาวฮากกา และยังคงมีงานประเพณีแห่เจ้าตามแบบโบราณทุกปี

 

เทพสตรีอีกองค์ที่มีบทบาทในไสยเวทจีนคือพระกิ่วเทียนเหี่ยนลื้อ

เทพองค์นี้นับถือเป็น “บรรพเทพี” หรือเทพีในโลกโบราณของจีน

ว่ากันว่าท่านมีอำนาจวิเศษแปลงเป็นนกนางแอ่นได้และปรากฏขึ้นในสมัยซาง ทั้งยังได้ช่วยบรรพกษัตริย์อึ๋งตี่ทำสงครามด้วย โดยให้คำปรึกษาด้านพิชัยยุทธ์

ชาวลื่อซานจึงนับถือกิ่วเทียนเหี่ยนลื้อเป็นปรมาจารย์ในสายวิชาโหราศาสตร์

 

นอกจากนี้ ยังมีเทพที่สำคัญที่นับถือเป็นพระปรมาจารย์ลื่อซานอีกองค์ คือพระฮวดจู้กง หรือเตียวกงเส้งกุ้น

ฮวดจู้กงหรือบางคนเรียกฮวบจู้กงนั้น เป็นบุคคลในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตำนานว่าท่านเป็นเทพของเมืองหย่งชุน มณฑลฮกเกี้ยน เดิมชื่อจู่กวน เมื่อยังเด็กทำหน้าที่ดูแลสัตว์เลี้ยง ต่อมาได้พบผู้วิเศษขณะกำลังไปดูแลสัตว์จึงได้เล่าเรียนวิชาเวทมนตร์ในเบื้องต้น

จากนั้นออกเดินทางไปยังวิหารเมฆขาว (แปะฮุนต๋อง) ร่ำเรียนฝึกวิชาเวทมนตร์คาถาและทำงานต่างๆ ไปด้วยจนสำเร็จจึงออกจากวิหารไปช่วยเหลือชาวบ้าน ได้พบนักพรตจากเขาลื่อซานและร่ำเรียนวิชาในสายนั้น

ท่านได้ปราบปีศาจงูที่มารังควานกินคนในมณฑลฮกเกี้ยนจนมีชื่อเสียง ทั้งยังมีพี่น้องร่วมสาบานอีกสองคนนับถือเป็นคณะเทพด้วยกัน รูปเคารพทั้งสามท่านมีลักษณะแบบเดียวกันแต่มีใบหน้าคนละสี ฮวดจู้กงมีใบหน้าสีดำ พี่น้องอีกสององค์มีใบหน้าสีเขียวและแดง

รูปเคารพของพระฮวดจู้กงมีศีรษะล้าน ทว่า มีผมยาวปกคลุมด้านหลัง กายดำ ใบหน้าดุดันดวงตาปูดโปน ไม่สวมรองเท้าเหยียบอยู่บนล้อไฟ สวมชุดยาวแบบ “สามเณร” ในมือถือกระบี่ มีแส้หัวงู (ฮวดโสะ) พันกาย และทำมุทราเสกมนต์คาถา

ตำนานฝ่ายลื่อซานกล่าวว่า ฮวดจู้กงเดิมเป็นองครักษ์ของเจ้าแม่ลิ้มจุ้ยฮูหยินหรือซำไนฮูหยิน ต่อมาซำไนฮูหยินส่งไปเรียนวิชาไสยเวทกับพระคอจินหยินอาจารย์ของท่านอีกต่อหนึ่ง

พระฮวดจู้กงได้รับการนับถือเป็นปรมาจารย์ลื่อซานในสายวิชาด้านการขจัดเสนียดจัญไร ไล่พวก “ของ” ไม่ดีต่างๆ รวมทั้งวิชาเกี่ยวกับงานศพ

 

ผมสนใจเทพเจ้าองค์นี้เป็นพิเศษ เพราะทั้งลักษณะและของที่ท่านถือนั้นสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของสายลื่อซาน เป็นต้นว่า ท่านสวมชุดสามเณรทั้งที่เป็นนักไสยศาสตร์ และใช้แส้หัวงู (ฮวดโสะ)

อาจารย์นนท์ท่านอธิบายว่า ฮวดจู้กงอาจเคยบวชเป็นสามเณรจริงๆ (ที่วิหารเมฆขาว) แล้วฝึกฝนไสยเวทจนมิได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ซึ่งอาจถูกมองว่าไม่เหมาะสมหากเป็นพระแล้วยังทำไสยศาสตร์ต่อไป

ทำนองเดียวกับบ้านเราก็มี “เณร” มากมายที่อายุเยอะแล้ว แต่ยังคงเป็นเพียงสามเณรเพราะต้องการจะทำไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ เวลาที่ผู้ประกอบพิธีลื่อซานทำพิธีกรรมก็อาจสวมชุดพิธีเฉพาะ หรือสวมชุดสามเณรสีน้ำเงินอย่างฮวดจู้กงก็ได้

ตอนที่อาจารย์นนท์มาทำพิธีที่บ้านผมนั้น ท่านก็สวมชุดแบบนี้แล้วอธิบายให้ผมฟังว่า สถานะทางพิธีกรรมของชุดนี้ถูกมองว่าเป็น “เดียรถีย์” หรือพวกนอกรีต คือจะมองจากพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ชุดพิธีอย่างพุทธแท้ๆ ที่ต้องสวมไห่เช็ง (ชุดยาว) และพาดผ้าขมากรรม แต่จะมองจากเต๋าก็ไม่ใช่เต๋าแท้ เพราะไม่ใช่ชุดที่นักพรตเต๋าใส่ทำ

ผมกลับชอบอะไรทำนองนี้มาก เพราะศาสนาแบบผสมมั่วๆ ซั่วๆ นี่แหละคือศาสนาของชาวบ้านจริงๆ สายลื่อซานจึงกลายเป็นคนละพวกทั้งกับพวกพุทธและเต๋าที่พยายามแสวงหาความแท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของศาสนาแบบชาวบ้านในจีนตอนใต้

 

ส่วนแส้งู (มักทำจากปอถัก มีหัวเป็นไม้แกะสลักรูปงูหรือมังกร ใช้ฟาดให้เกิดเสียงดัง) ที่ฮวดจู้กงมีนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงกับ “อินเดีย” แบบชาวบ้านยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแส้ที่คล้ายๆ กันนี้ในอินเดียใช้กันในพวกไสยศาสตร์พื้นบ้านทางตอนใต้ที่เกี่ยวกับเทพ (ผี) ที่เรียกว่า “เทพหมู่บ้าน” (Kaval Deivam) มาแต่โบราณ และยังเห็นชัดในกลุ่มที่เรียกว่า โปตราช (Pojraj) ในแคว้นมหาราษฏร์เรื่อยไปจนถึงเกราละ

คนเหล่านี้เป็นพวกทรงเจ้าเข้าผี (Shaman) นอกวัฒนธรรมหลวงของพราหมณ์ เวลาเห็นพวกนี้เขาแต่งตัวเข้าทรงหรือทำพิธี ยิ่งชวนให้นึกถึงผู้ประกอบพิธีหรือม้าทรงอย่างจีนไปอีก ผีของเขาก็หน้าตาละม้ายคล้ายฮวดจู้กงนี่แหละ

อันที่จริง มนต์ของพุทธศาสนาที่ปะปนในพิธีลื่อซานก็มักเป็นมนต์สายวัชรยานหรือมนตรยาน ซึ่งแต่เดิมก็แพร่อยู่ในชาวบ้าน (อินเดีย) เช่นกัน

อีกทั้งหากพิจารณาจากความสัมพันธ์ของจีนโบราณและแคว้นต่างๆ ในอินเดียใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง โดยท่าเรือใหญ่อยู่ที่จ่วนจิ๊ว (เฉวียนโจว) มณฑลฮกเกี้ยน (ปัจจุบันยังหลงเหลือซากเทวาลัยและเทวรูปฮินดูมากมายในจ่วนจิ๊ว) ข้อสันนิษฐานพวกนี้จึงไม่น่าแปลกประหลาดอันใดเลย

ครานี้จากตำนานพระปรมาจารย์ลากยาวไปถึงอินเดีย

คราวหน้าจะเป็นเรื่องใดนั้น

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง