สรรพช่าง

สัพพฯฯช่างฯ

สัพพะช่าง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า สับป๊ะจ้าง หมายถึง สรรพช่าง

สัพพะ เป็นภาษาบาลี หมายถึง “ทั้งหลายทั้งปวง” สัพพะช่าง จึงหมายถึง ช่างทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งประกอบไปด้วยช่างหลายหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดหมู่เกี่ยวกับหัตถกรรม งานก่อสร้าง การปรุงยาหรือสมุนไพร การจารอักขระ (เขียนหนังสือ) บริกรรมคาถา การสร้างเครื่องรางของขลัง รวมทั้งการแสดงการร้องรำบรรเลง

หมวดหมู่หัตถกรรมและงานก่อสร้าง ได้แก่ การแกะสลัก การเคี่ยน (กลึง) ไม้ การเข้าไม้ การทำเครื่องมือเครื่องใช้ การจักสาน การทำโคม การทอผ้า การทำเครื่องประดับ การตกแต่งงานปฏิมากรรมและสถาปัตยกรรม เช่น การทาสีวาดรูป การประดับกระจก การลงรัก การปิดทอง การลงรักสมุก การหล่อขึ้นรูปโลหะ การตอกดุนโลหะ การเชื่อมโลหะ

ช่างปรุงยาหรือสมุนไพรส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการวินิจฉัยโรคและการจัดยาให้ผู้ป่วย ทิดผู้ที่ผ่านการบวชอาจมีความรู้หลายด้านทั้งเรื่องรักษาโลก หรือด้านภาษา คาถาอาคม และการสร้างเครื่องรางของขลัง

ส่ๆลฯฯากำลังฯรอฯมแรงฯแปลฯงตูบ
อ่านว่า สะหล่าก๋ำลังฮอมแฮงแป๋งตูบ
แปลว่า ช่างกำลังร่วมแรงกันสร้างกระท่อม

ในสัพพะช่างล้านนาทั้งหมด จะมีการบูชาครู เซ่นไหว้บวงสรวงผีครู เพื่อความเจริญความสำเร็จในวิชาชีพ ชาวล้านนาเรียกพิธีกรรมไหว้ครูรวมวิชาการต่างๆ ที่จัดขึ้นทุกปีว่า พิธีกิ๋นอ้อผะหญา ครูบาอาจารย์ภูมิปัญญาล้านนาปัจจุบันจำแนกคาถาที่ใช้เสกอ้อตามจุดมุ่งหมายของผู้เข้าพิธีกินอ้อผะหญา โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

1. อ้อผะหญา ผู้ใดกินแล้วเชื่อว่าจะมีผะหญา (สติปัญญา) มีปฏิภาณไหวพริบดี จดจำได้ดี เหมาะสำหรับผู้ศึกษา

2. อ้อเว้า อ้อจ๋า ผู้ใดกินแล้วเชื่อว่าจะเป็นผู้ช่างพูดเจรจา น้ำเสียงไพเราะ พูดหรือร้องเพลงแล้วมีคนชื่นชอบ

3. อ้ออาจิ๋ณจ๋ำ หรืออ้อธรรมพระเจ้า ผู้ใดกินแล้วเชื่อว่าจะเรียนธรรม บาลี เลขยันต์ดี

4. อ้อสัพพะวิชา หรืออ้อสรรพช่าง ผู้ใดกินแล้วเชื่อว่าจะมีฝีมือชำนาญงานหัตถศิลป์ งานฝีมือเชิงช่าง

5. อ้อภูมิวิสัย ผู้ใดกินแล้วเชื่อว่าจะเจริญรุ่งเรือง มียศศักดิ์ เมตตามหานิยม

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยที่ล้านนามีสัมพันธภาพพม่า ภาษาพม่าหลายคำได้ถูกชาวล้านนายืมมาใช้ในชีวิตประจำวัน คำว่า “สล่า” ซึ่งแปลว่า “ช่าง” ก็เช่นกัน ล้านนานำมาใช้จนชิน จึงนิยมเรียกช่างต่างๆ ว่า “สล่า” มาจนถึงปัจจุบัน •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง