Psychic Impressions ความประทับใจทางจิตที่ถ่ายทอดผ่านภาพปะติดปะต่อทางใจ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเดือนกันยายนนี้ มีงานแสดงนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินไทยที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Psychic Impressions โดย ปอม จิตรประทักษ์ ศิลปินผู้มีสไตล์การวาดภาพเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการใช้เส้นสายซับซ้อนละเอียดอ่อน และสีสันฉูดฉาดละลานตา เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกฟุ้งฝันบรรเจิด ที่หยิบเอาความประทับใจทางจิตที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของสิ่งฝังใจของเขาตั้งแต่ครั้งยังเด็กจวบจนโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งความคิด ความฝัน ผู้คน สถานที่ บรรยากาศ สภาพแวดล้อมรอบตัว หรือห้วงเวลาในชีวิต มาผสมผสานปะติดปะต่อเป็นภาพวาดและตัวละครต่างๆ ในนิทรรรศการครั้งนี้

โดยปอมเล่าถึงที่มาของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“Psychic Impressions คือความประทับใจในเชิงจิตใจของผม เหมือนบางครั้งผมไม่รู้ว่าทำไมบางสิ่งบางอย่างถึงได้ปักใจเราขนาดนี้ มีความประทับใจอะไรบางอย่าง เหมือนเป็น impression (ความประทับใจ) ในจิตใจ บางทีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตอนที่ผมยังเด็กมากๆ หรือเรื่องที่ผมไม่ชอบ ไม่อยากนึกถึง ไม่อยากมีเรื่องนี้อยู่ในชีวิต แต่ผมก็ยังจำได้อยู่ เพราะว่าเป็นเรื่องฝังใจ หรือเหตุการณ์บางอย่างที่คุ้นเคยตั้งแต่ตอนยังเด็ก เป็นเหมือนภาพรางๆ อย่างครั้งหนึ่งตอนเด็กมากๆ ผมเคยไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งกับพ่อแม่ แต่ผมนึกไม่ออกว่าที่ไหน อย่างไร เหมือนเป็นประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ประทับอยู่ในจิตสำนึกของผมโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวก็ตามแต่”

“เหมือนบางครั้งที่ผมรู้สึกว่าชอบ หรือปรารถนาบางสิ่ง หรือประทับใจกับบางคนโดยรู้ตัว แต่บางทีผมก็รู้สึกหวาดกลัวบางคน หรือบางสิ่งบางอย่างโดยไม่รู้เหตุผล Psychic Impressions ของผมจึงมีทั้งสิ่งที่เกิดจากจิตสำนึก (Conscious) และจิตใต้สำนึก (Subconscious)”

“หรือบางทีผมนอนหลับฝัน พอใกล้จะเช้า ผมตื่นมาแล้วมีความรู้สึกเลือนรางอยู่ในหัว ว่าผมฝันเรื่องนี้ แต่จำรายละเอียดไม่ได้ แต่ก็จำได้ว่าเห็นสีประมาณนี้ อยู่ในห้องลักษณะนี้ เป็นเหมือนสิ่งที่ถูกฝังลงไปในจิตใจโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งสิ่งที่เราเลือกที่จะชอบและไม่ชอบ ผมนำสิ่งเหล่านี้มาวาด ในเชิงสัญลักษณ์แทนความหมายในสิ่งที่ผมชอบและไม่ชอบ โดยไม่ได้นำเสนอแต่ในด้านบวกแต่เพียงอย่างเดียว”

แรงบันดาลใจในการทำงานของปอมนั้นเกิดจากสัญชาตญาณ (Intuition) หรือความฝังใจกับเรื่องราวและห้วงขณะต่างๆ ทั้งคน, สัตว์, สิ่งของ, เหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับเขาในเชิงจิตใจ เขาหยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาวาดให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ส่วนตัว โดยใช้ลักษณะของการวาดที่คล้ายกับการคอลลาจ (ปะติด) องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ที่เขามีความประทับใจลงไปให้เกิดเรื่องราวใหม่ๆ เหมือนองค์ประกอบเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่คอลลาจกันจนเกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมาโดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า

ปอมยังนิยามถึงการทำงานศิลปะในมุมมองของเขาว่า

“สำหรับผม การทำงานศิลปะ ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ผมไปดูงานในพิพิธภัณฑ์ แล้วได้เห็นงานศิลปะอะไรที่ท้าทายความรู้สึกของผม ไม่จำเป็นว่าผมจะต้องเข้าใจงานของศิลปินคนนั้น แต่ถ้างานชิ้นนั้นทำให้ผมมีความรู้สึก สุข เศร้า ตื่นเต้น หดหู่ ผมก็คิดว่างานชิ้นนั้นประสบความสำเร็จแล้ว”

“ผมคิดว่าศิลปะมีหน้าที่ท้าทายความรู้สึกของผู้ชม ถ้าเราชอบงานนั้นจนไปศึกษาค้นคว้าถึงรายละเอียดและวิธีคิดเบื้องหลัง ก็อาจเป็นแรงขับจากความประทับใจที่เรามีต่องานชิ้นนั้น หรือศิลปินคนนั้น”

“แต่ในเบื้องต้น ผมมองว่าแรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่งานชิ้นนั้นส่งมากระแทกความรู้สึกเรา อาจจะทำให้เรารู้สึกหวาดกลัว รู้สึกในเชิงอีโรติก หรือรู้สึกสงบ นั่นเป็นสิ่งที่ศิลปะมอบให้กับเรา อย่างตัวผมเองชอบงานของ อีกอน ชีเลอ (Egon Schiele) มากๆ ผมดูงานของเขาตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบกว่าๆ เขาเป็นศิลปินที่ทำให้ผมอยากวาดภาพ ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพวาดของเขา ผมคิดว่าทำไมงานของเขาถึงได้สวยขนาดนี้ แม้บางภาพจะดูเหมือนวาดไม่เสร็จ แต่ก็ดูสวยมากๆ นี่คือความประทับใจแรกที่ผมมีต่องานของเขา”

“แต่ในขณะเดียวกัน ผมเองก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ชมรู้สึกแบบเดียวกันกับสิ่งที่ผมสื่อผ่านภาพวาดของผมได้ เขาอาจจะไม่ชอบงานของผมเลยก็ได้ หรือบางคนอาจจะมองว่า สีสวยดี ผู้ชมมีสิทธิที่จะคิดอะไรก็ได้เกี่ยวกับงานของผม”

“แต่อย่างน้อย ถ้างานของผมจะทำให้เขารู้สึกอะไรสักอย่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแบบไหน ผมก็จะรู้สึกดีใจมาก ผมหวังว่างานของผมจะสามารถสร้างบทสนทนาบางอย่างกับผู้ชมในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”

ผลงานภาพวาดเส้นสายสีสันพร่างพรายละลานตาของปอมยังได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงยุค 60s, 70s ทั้งดนตรี หรือประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น อย่างวงดนตรี The Beatles, The Kinks, The Jam, The Special รวมถึงความเป็น Subculture (วัฒนธรรมย่อย) ในยุคสมัยนั้น ที่เป็นช่วงเวลาที่หล่อหลอมตัวตนของเขาอย่างมาก ทั้งการทำงาน แฟชั่น สไตล์การแต่งตัว ฯลฯ หรือแม้แต่เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยการคอลลาจ อันเป็นเทคนิคที่เฟื่องฟูในงานป๊อปอาร์ตยุค 60s-70s

หากแต่ปอมกลับทำการคอลลาจองค์ประกอบในความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของเขา โดยหยิบเอาทั้งความประทับใจ ความทรงจำในช่วงอายุต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาปะติดปะต่อคอลลาจเข้าด้วยกันด้วยกระบวนการวาดภาพ โดยไม่ใส่ใจกับความต่อเนื่องเกี่ยวพันกันของเรื่องราวหรือตัวละครที่เขาวาดแต่อย่างใด หากแต่ปล่อยไปให้การปะติดป่ะต่อตัวละครและเรื่องราวเลื่อนไหลโลดแล่นไปตามสัญชาตญาณของเขา

เมื่อพูดถึงแฟชั่นและสไตล์การแต่งตัวแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า นอกจากผลงานภาพวาดบนกระดาษและผืนผ้าใบแล้ว ปอมยังร่วมงานกับ VVON SUGUNNASIL แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยสไตล์มินิมอลอันน่าจับตา สร้างสรรค์ผลงานที่หลอมรวมระหว่างศิลปะกับแฟชั่นได้อย่างโดดเด่นลงตัวอีกด้วย

“ผมชอบสวมสูท แต่ผมไม่ชอบการสวมสูทที่ดูเรียบร้อยเกินไป ผมชอบความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ของผู้คนที่มีต่อชุดสูท กับบุคลิกของคนที่สวมใส่ ผมรู้สึกถึงสิ่งนี้ในแบรนด์ของ VVON อีกอย่าง ผมยังชอบวาดภาพเสื้อผ้าด้วย”

 

ท้ายสุด ปอมกล่าวถึงที่มาที่ไปเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เกิดจากการที่ผมไม่ได้แสดงนิทรรศการแสดงเดี่ยวมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมก็วาดภาพมาตลอด ในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าผมน่าจะมีเรื่องที่อยากเล่าอยู่ เพราะผมเป็นคนวาดภาพบนพื้นฐานของการเล่าเรื่อง (Narrative) งานของผมมักจะเกี่ยวกับคน ทั้งในแง่มุมของวิธีคิด อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด หรือจิตใจ ที่อยากเล่าออกมา ผมรู้สึกว่าถ้ามีคนอยากฟังก็คงจะดี ส่วนฟังแล้ว เขาจะรู้สึกแบบไหน ก็แล้วแต่เขา”

“เพราะพอศิลปินทำงานเสร็จออกไปแสดงแล้ว ก็เป็นเสรีภาพของผู้ชมที่จะรู้สึก ตัดสิน และตีความกับงานอย่างไรก็ได้”

“โดยส่วนตัว ผมมองว่างานของผมสมบูรณ์แล้วตอนที่ทำเสร็จ แต่เป็นความสมบูรณ์ในแง่ของหน้าที่ที่ผมสร้างผลงานขึ้นมา แต่ผลงานที่ว่านี้จะสร้างความรู้สึกให้ผู้ชมอย่างไร จะชอบหรือชัง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ผมไม่ได้คาดหวังว่าคนต้องชอบงานผม ถ้าคุณดูแล้วคิดอะไร รู้สึกแบบไหน ก็เป็นเสรีภาพทางความคิดของแต่ละคน ถ้าใครได้มีโอกาสมาชมนิทรรศการนี้ แล้วภาพวาดของผมสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างให้คนที่มาชมได้ ผมก็รู้สึกดีใจแล้ว”

นิทรรศการ Psychic Impressions โดย ปอม จิตรประทักษ์ จัดแสดงที่ The Prelude One Bangkok ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-6 ตุลาคม 2023 เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11:00-19:00 น. (เข้าชมฟรี) •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์