คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พี่ตูนบำเพ็ญบารมี?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมไม่แย้งแม้แต่นิดเดียวครับว่าสิ่งที่พี่ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย ทำนั้นเป็น “ความดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดีแบบศาสนา

แต่จะความดีแบบไหนก็ตามในโลกนี้ ผมเชื่อว่าก็ควรถูกตั้งคำถามได้ทั้งนั้นครับ เพราะการถามไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวเอง

เว้นแต่จะมีสังคมที่กลัวการถาม หรือที่จริง กลัวที่จะพูดความจริงต่างหาก เพราะความจริงอาจบ่อนทำลายอำนาจที่ตัวถือไว้อย่างลับๆ เช่น ส่วนต่างอะไรต่ออะไร และอาจรวมไปถึงแหวนนาฬิกาอะไรต่างๆ

แต่สังคมเรามีความสับสนหลายประการ เช่น สับสนระหว่างความดีกับมารยาท ความดีทางศาสนากับจริยธรรมสากล การถามกับการทำลาย การวิจารณ์กับการด่าทอหรือให้ร้าย การถกเถียงกับการทะเลาะวิวาท ความไม่มีศาสนากับการไม่มีศีลธรรม ฯลฯ

ความสับสนเหล่านี้แหละที่ทำให้เราไม่สามารถมีพื้นที่ของการถกเถียง โต้แย้ง เพราะเราลากพวกมันไปเป็น “ความไม่สามัคคี” “การทะเลาะ” “ถ่วงความเจริญ” เกือบจะทุกครั้ง

ทั้งๆ ที่มนุษย์อยู่กันสองคนขึ้นไปก็ย่อมเห็นไม่ตรงกันเป็นธรรมดา เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็ต้องคุยกันถกเถียงกัน

ขนาดผมกับเมียว่ารักกันขนาดนี้ ยังมีเถียงกันบ้าง เราก็ไม่ได้เห็นเป็นบาปเวรอะไร เป็นปกติของชีวิตคู่

 

ส่วนเรื่องพี่ตูนวิ่งนั้นเป็นการเมืองหรือไม่ หรือทำให้เกิดอะไรกับนโยบายรัฐ อันนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในบทความชิ้นนี้

ผมคิดว่าการที่พี่ตูน “อนุญาต” ให้มีนายทหารระดับสูง-เจ้าหน้าที่รัฐมาร่วมวิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐ (โดยเฉพาะทหาร-ตำรวจ) จำนวนมากมาอารักขาและอำนวยความสะดวก และการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยความเห็นชอบของรัฐ

ผมคิดว่าในแง่มุมนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วครับว่าการวิ่งของพี่ตูนมีนัยการเมืองหรือไม่การเมือง (ไม่ว่าจะในดีกรีไหน) หากเราเข้าใจว่า การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองและรัฐสภา แต่ขยายรวมไปถึงทัศนคติที่มีต่อรัฐและแนวนโยบายต่างๆ ของรัฐด้วย

อันนี้แต่ละท่านลองพิจารณากันเอาเองนะครับ

แต่อย่างที่บอกไป นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้

ที่ผมสนใจ คือมีบุคคลหลายคน เป็นต้นว่า ผู้ที่ใช้ชื่อ นพ.พายุพล ศรีอภัย หรือเพจเฟซบุ๊กครูเงาะรสสุคนธ์ กองเกตุ ต่างออกมาให้ความเห็นในโลกออนไลน์ว่า การวิ่งของพี่ตูนนั้นเป็นการบำเพ็ญบารมีสิบประการของพุทธศาสนา

 

ผมเองเพิ่งมีโอกาสไปเรียนคำสอนเรื่องบารมีหกประการของพระโพธิสัตว์ จากพระอาจารย์กุงก้า ซังโป ริมโปเช พระอาจารย์ชาวทิเบตเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จึงคิดว่าน่าจะพอเอามาแบ่งปันกันได้ เพราะเป็นประเด็นเดียวกัน

แต่ออกตัวก่อนว่า ศิษย์โง่คนนี้ไม่เอาถ่านที่สุดในเรื่องธรรมะ ดังนั้น สิ่งที่ผมบอกเล่าล้วนมาจากความทรงจำ และหากมีความผิดพลาดอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมเป็นของผมโดยแน่แท้ ไม่ใช่ของพระอาจารย์ผู้ประเสริฐ

ที่จริงคำว่า บารมี (สันสกฤตว่า ปารมิตา) เป็นแนวคิดที่มีในพุทธศาสนาทุกนิกาย หมายถึง “การก้าวไป” คือ ไปให้ถึงอีกฝั่ง ได้แก่ พระนิพพานหรือพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงต้องเป็นความตั้งใจและบำเพ็ญอย่างเข้มข้น ฝ่ายเถรวาทว่ามีสิบประการ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา

ฝ่ายมหายานว่ามีหกประการ (บางคัมภีร์ก็ว่าสิบ) คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ (ธฺยาน) และปัญญา (สันสกฤตว่า ปรัชญา)

สรุปโดยง่ายๆ บารมีคือ ปัจจัยที่ทำให้เข้าสู่ความหลุดพ้น หรือพูดแบบมหายานคือถึงความเป็นพุทธะนั่นเอง

 

ทางฝ่ายมหายานถือว่า บารมีนั้นเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดหมวดหนึ่ง เพราะเมื่อได้เริ่มต้นบำเพ็ญบารมีแล้ว คนคนนั้นก็เข้าสู่วิถีแห่ง “โพธิสัตว์”

โพธิสัตว์ ในฝ่ายมหายานไม่จำเป็นต้องหมายถึงชาติต่างๆ ของอนาคตพุทธะ หรืออดีตพุทธะเท่านั้น แม้เวไนยสัตว์สามัญหากตั้งปณิธานจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญานและบำเพ็ญบารมีแล้ว ก็เรียกว่าเป็นโพธิสัตว์ทั้งสิ้น

ในสายธรรมของ เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช ตีความความเป็นโพธิสัตว์อย่างน่าสนใจ คือโพธิสัตว์ไม่จำเป็นต้องเป็นคน “น่ารัก” ทว่ากระทำการต่างๆ ไปอย่างเป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติ และมีหัวใจที่อ่อนโยนเศร้าสร้อยอยู่เสมอ

ในฝ่ายมหายาน โพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีต้องไม่กลัวสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะกลัวตกอบายภูมิ ซึ่งแสดงว่า โพธิสัตว์ไม่จำเป็นต้อง “ทำดี” หรือบุญกุศลตามมติของชาวโลกเสมอไป แต่มีความมั่นใจว่าการกระทำนั้นย่อมเกิดประโยชน์แก่สรรพสัตว์ หรือไม่กลัวการติฉินนินทาวิพากษ์วิจารณ์ หรือการถูกลงโทษ

การปกป้องตนเองไม่ว่าจากคำวิพากษ์วิจารณ์หรือคำติฉินนินทาด้วยประการต่างๆ จึงไม่ใช่วิถีของโพธิสัตว์

แสดงว่าพระโพธิสัตว์องค์ไหนก็ตามจะสูงจะเล็กแค่ไหนก็ต้องวิจารณ์ได้นะครับ

 

สิ่งสำคัญที่ผมจดจำได้ดี ในคำสอนของพระอาจารย์กุงก้า ซังโป ริมโปเช คือการแยกระหว่าง “การทำดี” กับการบำเพ็ญบารมี สองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน

มิใช่การทำความดีทุกอย่าง จะสามารถเรียกว่า การบำเพ็ญบารมีตามคติแบบพุทธศาสนาได้

ตัวอย่างเช่น ทานบารมีซึ่งเป็นบารมีขั้นแรกสุด ท่านอาจารย์ว่า มิใช่ “การให้” ทุกอย่างจะเรียกว่าเป็นทานบารมี แต่หากเราให้สิ่งซึ่งเราไม่ใช้แล้ว ไม่จำเป็นต่อเราแล้ว หรือเราไม่รักไม่ชอบแล้วต่อคนอื่น เช่นนี้ไม่เรียกทานบารมี เป็นเพียงการให้ ซึ่งก็นับเป็นบุญกุศลนั่นแหละ

ในการแสดงธรรมครั้งนั้น มีผู้ถามว่า สมมุติยกสามีให้คนอื่น แต่หากไม่รักแล้ว แสดงว่าไม่ได้บำเพ็ญบารมีใช่ไหม พระอาจารย์และที่ประชุมหัวเราะครืนกันหมด

หากเราให้ของที่เรายังรัก ยังหวงแหน มีประโยชน์ต่อเรา แต่เราพิจารณาเห็นว่าผู้อื่นที่ได้รับจะมีประโยชน์เช่นกัน และผู้อื่นก็ต้องการสิ่งนั้น เช่นนี้จึงนับว่าเป็นทานบารมี

ดังนั้น การบำเพ็ญบารมีจึงต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเสมอไม่ว่าจะเป็นบารมีแบบไหน ไม่ใช่สักแต่ทำ

แต่ที่น่าประทับใจ ท่านเน้นว่า ทานบารมีสูงสุด คือ เมื่อผู้ให้ไม่คิดว่าตนเป็นผู้ให้ ปราศจากการให้ ปราศจากการรับ ปราศจากตัวตนอัสมิมานะทั้งหลาย ปราศจากการคิดว่าจะได้ประโยชน์น้อยหรือมาก ดังนี้จึงเป็นทานบารมีสูงสุด

ท่านเรียกว่า ทานบารมีจะแปรเปลี่ยนเป็น “ปรัชญาปารมิตา” หรือปัญญาบารมี อันเป็นบารมีสูงสุดเพื่อเข้าสู่การตรัสรู้

 

บารมีข้ออื่นๆ ก็เช่นกัน หากบำเพ็ญไปโดยความยึดมั่นว่ามีตัวตนของผู้กระทำย่อมไม่ถึง “ปรัชญาปารมิตา” อันเป็นการ “ก้าวไป” อันยิ่งสู่ฟากโน้น

มีพระสูตรฝ่ายมหายานชื่อ “อารฺยกรฺมาวรณวิสุทฺธินามมหายานสูตฺร” พระสูตรนี้มีใจความสำคัญ แสดงให้เห็นว่า แม้การทำ “ความดี” หรือบารมี ก็อาจกลายเป็นสิ่งปิดกั้นการตรัสรู้ได้อย่างไร เช่น หากบำเพ็ญทาน แต่ตำหนิผู้ตระหนี่ บำเพ็ญศีลแต่ตำหนิและรังเกียจคนทุศีล คิดว่าสรรพสัตว์ต่ำต้อยกว่า เช่นนี้เป็นการไม่สมควร

ที่จริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นผมไม่ได้ว่าอะไรพี่ตูนเลยนะครับ (ฮ่าๆ) เพราะพี่ตูนเองไม่เคยบอกว่า การวิ่งของแกเป็นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หรือบำเพ็ญบารมีในพุทธศาสนา ผมจึงไม่ได้กล่าวถึงพี่ตูนโดยตรง

แต่เป็นการคิดและตอบถึงการที่มีผู้พยายามจะยกพี่ตูนเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีครบทุกประการ ประมาณนั้น เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา “โดยแยบคาย” เกี่ยวกับ “แนวคิดเรื่องบารมี” ที่มีในบ้านเรา

ให้เป็นข้อพิจารณาเกี่ยวกับบารมีอีกทางหนึ่งเท่านั้น

ที่จริงการยกย่องคนทำดีก็เป็นเรื่องดีนั่นแหละครับ ผมไม่ได้ว่าอะไรดอก แต่พอยกย่องคนดีกันมากๆ มากไปถึงขนาดโยงไปโน่นนั่นนี่ มันสะท้อนอะไรหลายอย่างในบ้านเรา เป็นต้นว่า เป็นสังคมที่ขาดและโหยหา “วีรบุรุษ” สักคนที่จะมาแก้ปัญหา โดยไม่ค่อยเชื่อว่าต้องแก้ไขที่ระบบก่อนใช้พลังของปัจเจกบุคคล

หรือยกย่องโดยไม่พิจารณาว่าสิ่งที่ยกย่องนั้นมันมีความหมาย มีที่มาที่ไปอย่างไร

ที่จริงผมเขียนด้วยความเป็นห่วงพี่ตูนด้วยนะครับ กลัวพี่ตูนจะเสียเพราะมีแฟนคลับทำอะไรเกินเลยในการยกย่องมากไปหน่อย

แต่แน่นอนครับ ผมเข้าใจว่าพี่ตูนสามารถเลือกที่จะเตือนหรือจะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้

เว้นแต่ความรักความศรัทธา จะกลายเป็น “ภาระ” บนบ่าพี่ตูนขณะวิ่งโดยพี่ตูนไม่อยากเอาลงเสียแล้ว

ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอให้พี่ตูนโชคดี ยามเรือเล็กต้องออกจากฝั่งครับ