E-DUANG : บทเรียน จอมพลถนอม กิตติขจร

“รัฐธรรมนูญ” เป็นที่ยอมรับว่า คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงมี “พลานุภาพ” ภายในตัวเองโดยอัตโนมัติ

พลานุภาพ-ในที่นี้,ดำเนินไปอย่างเป็น”วิทยาศาสตร์”

เหมือนกับจะสามารถเป็น “เครื่องมือ” หรือ “อาวุธ”ในการเล่น งาน หรือ จัดการกับปรปักษ์ทางการเมืองได้

เป็นเช่นนั้น

แต่ด้วย “พลานุภาพ” นั่นเอง “รัฐธรรมนูญ” ก็สามารถหันทวน สวนกลับมาแทงผู้มีบทบาทและบงการในการยกร่างได้

เหมือนที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เจอมาแล้ว

เหมือนที่คณะรสช.ที่นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เจอมาแล้วในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ถามว่าใครเป็นประธานในการ “ยกร่าง”

 

พลันที่ “รัฐธรรมนูญ” ประกาศและบังคับใช้ฤทธานุภาพของมันจะ เริ่มสำแดงออก

อาจ “เร็ว” อาจ “ช้า”

นั่นก็ขึ้นอยู่กับ “สภาพการณ์” ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละห้วงเวลาจะเป็นเครื่องกำหนด

เหมือนกับ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511″จะอวย “ประโยชน์”

ส่งผลให้ จอมพลถนอม กิตติขจร สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512

แต่อยู่ถึงเดือนพฤศจิกายน 2514 ก็ต้องทำ “รัฐประหาร”

จากนั้นก็เริ่มตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หวังว่าจะอยู่ได้อย่างยาวนาน แต่อยู่ถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็ต้องไป

ไปเพราะถูกประชาชนขับไล่

 

ความจริงทันทีที่ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญในเดือนมิถุนายน 2511

จอมพลถนอม กิตติขจร ก็น่าจะ “ตระหนัก”

แต่ในฐานะเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พล.อ.ประ ภาส จารุเสถียร เป็น ผู้บัญชาการทหารบก

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “รู้”

เพราะว่าอำนาจนั้นเหมือนกับ “ยาเสพติด” เสพไปแล้วก็เคลิบเคลิ้มและงงงวย เพราะมั่นใจว่าเมื่อกุมกองทัพก็น่าจะรักษาอำนาจเอาไว้ได้อย่างยาวนาน

กว่าจะรู้สึกตัวก็เมื่อได้ยินเสียงตะโกนขับไล่จากรอบทิศ