ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
สภาพอีสานเมื่อ 90 ปีที่แล้วนั้น สมาชิกในทีมปาฐกถา บันทึกว่า แม้นบ้านเมืองของเขาจะเป็นป่าดง แต่ศีลธรรมของเขาเจริญดีมาก คดีอุกฉกรรจ์เกือบไม่มีเลย
(ไพโรจน์, 2504, 566)
ข่าวลือในชนบทภายหลังการปฏิวัติ
ด้วยภายหลังการปฏิวัติ 2475 มีข่าวลือในพื้นที่ห่างไกลมาก ไพโรจน์ ชัยนาม ข้าราชการฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติบันทึกสิ่งที่เขารับรู้มาว่า ในชนบทมีข่าวลือในหมู่ราษฎรว่า การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นการกบฏเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของคณะราษฎรเอง เช่น มีการปล่อยข่าวจากผู้ไม่นิยมระบอบใหม่ว่า รัฐธรรมนูญ คือ บุตรของพระยาพหลพลพยุหเสนา บ้างก็ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นกบฏ คณะราษฎรมุ่งเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ และมีการสถาปนาให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเจ้านายองค์ใหม่ปกครองสยามแทนราชวงศ์เดิม (ไพโรจน์, 2504, 27)
ด้วยข่าวลือในชนบทลักษณะที่ว่า คณะราษฎรก่อการกบฏ โค่นล้มราชวงศ์จักรี และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทนนั้น คณะราษฎรรับทราบแต่ไม่สามารถดำเนินอย่างใดได้ เนื่องจากขณะนั้นอำนาจอยู่ที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นอนุรักษนิยมและพยายามต่อต้านขัดขวางการดำเนินการของคณะราษฎรหลายครั้ง จวบกระทั่งคณะราษฎรต้องรัฐประหารขับไล่พระยามโนปกรณ์ฯ ออกไปจากอำนาจ แต่การต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมยังไม่สิ้นสุดลง จนพวกเขาเลือกใช้กำลังทางการทหารในการก่อกบฏบวรเดช (2476) ในที่สุด
ในช่วงกบฏบวรเดช รัฐบาลได้รับรายงานทำนองว่า มีการปลุกระดมประชาชนในชนบทโดยฝ่ายกบฏว่า พวกกบฏต้องการช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ได้อำนาจเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากประชาชนและทหารไม่ช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลพระยาพหลฯ จะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ, 2476, 17) นอกจากนี้ ข้าราชการในหัวเมืองต่างๆ ให้การสนับสนุนพวกกบฏด้วยการผลิตและเผยแพร่ใบปลิวโจมตีรัฐบาลด้วย เช่น ข้าราชการบางส่วนที่จังหวัดชัยภูมิ (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)
ภายหลังฝ่ายกบฏพ่ายแพ้แล้ว รัฐบาลเห็นว่า กลุ่มอนุรักษนิยมปลุกระดมราษฎรด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากคนในชนบทที่ไม่รู้ข่าวสารที่แท้จริงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานโฆษณาการออกเผยแพร่ประชาธิปไตยให้ราษฎรทราบการปกครองระบอบใหม่และข่าวสารที่ถูกต้อง
คณะปาฐกถาของสำนักงานโฆษณาการ
พลันเมื่อปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสานเริ่มเมื่อต้นปี 2477 นั้น จากความทรงจำของไพโรจน์ ชัยนาม การไปภาคอีสานของคณะปาฐกถาครั้งนั้นมีความยากลำบากมาก แต่โชคดีที่คณะออกเดินทางในฤดูแล้ง การเดินทางจึงสะดวกกว่าฤดูฝน
นอกจากนี้ ชวาลา สุกุมลนันทน์ อดีตข้าราชการของหน่วยงานอีกคนหนึ่งเล่าว่า นักพูดที่ออกไปปาฐกถาในชนบทมีหลายคน เช่น เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ อำพัน ตัณฑวรรธนะ บรรเจิด กาญจนินทุ และสมบุญ เหล่าวานิช เป็นต้น การเดินทางไปชนบทในสมัยนั้น ยากลำบากมาก
เขาเล่าเสริมอีกว่า ด้วยไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่งอย่างสะดวก การเดินทางไปอีสานตอนบนนั้น คณะจะเดินทางไปตามชายแดนริมฝั่งโขง นั่งเรือบ้าง นั่งเกวียนบ้าง ระหว่างทางต้องพักค้างแรมกลางทาง นอนกันตามคบไม้ ไม่สามารถนอนบนดินได้เพราะสัตว์ร้ายชุกชุมมาก ส่วนหากคณะไปปาฐกถาในทางปักษ์ใต้นั้น คณะจะเดินทางด้วยการล่องเรือเป็นหลัก (เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์, 2538)
การตะลอนไปภาคอีสานของคณะนั้นมีแต่คนหนุ่ม เพราะงานของแผนกปาฐกถานี้สมบุกสมบัน เป็นการเดินทางเผยแพร่ประชาธิปไตยที่คณะไม่ต้องห่วงสุขภาพ บางแห่งถึงกับต้องขี่ม้าเดินทาง บางแห่งใช้เกวียนเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์บรรทุก รวมทั้งต้องนำเครื่องปั่นไฟไปด้วย อีกทั้งสมัยนั้นไมโครโฟนมีขนาดใหญ่ (ไพโรจน์, 29)
ระหว่างการปาฐกถาให้ชาวอีสานฟัง คณะมีการแจกหนังสือของสำนักงานโฆษณาการให้กับผู้ที่อ่านออก ภายในหนังสือเป็นเนื้อหาหนังสือเขียนอธิบายการปกครองและรัฐธรรรมนูญด้วยภาษาแบบง่ายๆ สำหรับราษฎร
ส่วนบางจังหวัดทางอีสานเหนือที่ติดแม่น้ำโขงนั้น การจะเดินทางจากหนองคายไปอำเภอไชยบุรี (บึงกาญจน์) คณะจะลงเรือแม่น้ำโขงล่องตามลำน้ำแทนใช้การใช้เกวียน (ไพโรจน์, 2538, 29)
หนองคายในสายของคณะปาฐกถา
ไพโรจน์เล่าถึงหนองคายที่พวกเขาพบเห็นว่า คณะปาฐกถาออกจากอุดรฯ มายังหนองคายด้วยรถยนต์เป็นเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ภูมิศาสตร์ของหนองคายเป็นจังหวัดที่ยาวเลียบไปตามริมแม่น้ำโขง มี 4 อำเภอ มีชัยหรือเมือง ท่าบอ โพนพิสัย และไชยบุรี สำหรับหนองคายนั้นไม่กันดารน้ำเหมือนขอนแก่นและอุดรฯ ที่ทำการรัฐบาลและจวนข้าหลวงปลูกสร้างอย่างสง่างาม แต่หนองคายยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
หนองคายเป็นเมืองที่มีความคึกคัก ไพโรจน์เห็นว่า หนองคายกำลังจะก้าวไปสู่ความเจริญ มีโรงพยาบาลแห่งใหม่อย่างทันสมัยกำลังถูกสร้างขึ้น เขาเห็นว่า หากมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นแล้ว หนองคายจะเจริญไม่น้อยหน้าฝั่งเวียงจันทน์ของฝรั่งเศสเลยทีเดียว
จากนั้น คณะออกจากอำเภอเมืองไปอำเภอท่าบ่อ ด้วยรถยนต์แล่นไปบนถนนที่ถนนขาดเป็นตอนๆ แถบริมฝั่งโขง สภาพถนนขาดเป็นเหมือนหุบเหวที่ไม่มีสะพานข้าม ไพโรจน์เล่าว่า คนขับจำต้องขับรถปักหัวรถลงไปยังก้นหุบเพื่อไต่ระดับขึ้นมาที่ปากเหว หากคนขับไม่ชำนาญทางอาจขับรถตกลงไปคอหักตายเป็นแน่ เพราะไม่มีป้ายบอกหรือเครื่องหมายใดๆ บอกคนขับรถยนต์เลย (ไพโรจน์, 2504, 582-853)
เมื่อคณะออกจากท่าบ่อไปยังโพนพิสัยด้วยการล่องเรือตามแม่น้ำโขงเป็นเวลาถึง 4 ชั่วโมง สภาพตลิ่งของแม่น้ำโขงสูงกว่าตลิ่งเจ้าพระยาที่เขาพบเห็นหลายเท่า ในลำน้ำโขงมีเกาะแก่งใหญ่น้อยเต็มไปหมด
เขาเล่าว่า ที่หนองคายมีแหล่งดินดีแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านขุดนำไปทำอิฐและกระเบื้องมุงหลังคาจนกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ และหนองคายมีเหล้าราคาถูกมาก เช่น บรั่นดี ขวดละ 1 บาท หากซื้อเป็นปีบ ราคาปีบละ 1 บาทกว่า สุราเหล่านี้มีดีกรีสูงมากขนาดจุดไฟติดได้ เขาสอบถามราษฎรพบว่า เหล้าเหล่านี้ทำมาจากฝั่งอินโดจีนและถูกส่งมาขายฝั่งไทย (ไพโรจน์, 2504, 581-582)
ล้อมวงฟังคณะปาฐกถา
หากเราได้มีโอกาสล้อมวงฟังคณะปาฐกถาเดินทางมาเยือนชนบทในครั้งนั้นว่า พวกเขากล่าวปาฐกถาอะไรให้ราษฎรฟังนั้น เราอาจอาศัยหนังสือที่พวกเขาเขียนขึ้นเป็นแนวทางได้ ดังในหนังสือชื่อ “นักการเมือง” (2478) เขียนโดยเขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ นักพูดประจำคณะปาฐกถา เปิดข้อเขียนอารัมภบทประหนึ่งการเล่าประสบการณ์ไว้ว่า
ประเทศไทยปกครองโดยกษัตริย์เหนือกฎหมายมาอย่างยาวนาน จวบกระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย ระบอบใหม่นี้มีรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุด หรือเรียกกันว่า “ระบอบประชาธิปไตย”
เขาอธิบายต่อว่า “นับแต่ลัทธิประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักแห่งการปกครองของประเทศแล้ว อำนาจอธิปไตยซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในมือของคนคนเดียวได้คลายออกและกระจายส่วนไปอยู่ในมือของประชาชนชาวสยามโดยทั่วกัน คนไทยทุกๆ คนได้ชื่อว่ามีส่วนปกครองประเทศและมีความรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของประเทศโดยไม่จำกัด” (เขมชาติ, 2478)
เขมชาติกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยว่า ราษฎรเป็น “เจ้าของประเทศ” ทุกคนต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้าสู่ความเป็นอารยะให้ทัดเทียมนานาประเทศ ด้วยระบอบใหม่ยึดถือหลักการว่า “การปกครองโดยวิธีราษฎร ของราษฎร เพื่อราษฎร” อย่างไรก็ตาม เขาตระหนักดีว่า วิธีการและเป้าหมายของการปกครองใหม่นี้ยังเป็นของใหม่ ราษฎรยังไม่คุ้นเคย (เขมชาติ, 2478)
จากประสบการณ์ของเขมชาติ ในการแสดงปาฐกถาตามจังหวัดต่างมาอย่างยาวนานนั้น เขาเห็นว่านิสัยใจคอของคนไทยขณะนั้นเฉื่อยชาต่อข่าวสารการเมืองมาก พวกเขาไม่สนใจต่อการเปลี่ยนแปลงใด เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ถูกปกครองมาอย่างยาวนาน สำนึกเฉื่อยชานั้นเกิดขึ้นมาจากความยาวนานของการปกครองเดิมที่เชื่อกันว่า ประเทศเป็นของ “คนใดคนหนึ่ง” (เขมชาติ, 2478)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022