เมื่อพลาด ‘ตำแหน่ง’ เมื่อถูก ‘ด่า’

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

เมื่อพลาด ‘ตำแหน่ง’

เมื่อถูก ‘ด่า’

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้บรรยายที่วัดวชิรธรรมาราม อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ฟังเป็นผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนั้น

หัวข้อที่กำหนดให้ผมเป็นผู้บรรยายก็กว้างขวางครอบจักรวาลสมใจผู้พูดยิ่งนัก เพราะผมต้องพูดเรื่อง “พระพุทธศาสนาในสายตาของข้าพเจ้า”

หัวข้อแบบนี้พูดกันได้ทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จบล่ะครับ

ผมไปเล่าเรื่องนี้ให้น้องที่เป็นข้าราชการคนหนึ่งฟัง เขาบอกว่าสำนักงานของเขาไม่มีทางจะกำหนดหัวข้อแบบนี้ในการสัมมนาแน่ เพราะดูเวิ้งว้างเหลือเกิน แล้วคนพูดคนฟังจะรู้เรื่องกันได้อย่างไร

คำตอบจากผมก็คือ ก็เพราะเป็นหัวข้อแบบนี้แหละผมถึงรับเชิญไปพูด ถ้าเป็นหัวข้อพิลึกพิสดารลึกซึ้ง เช่น การนำหลักอริยสัจสี่และอปริหานิยธรรมมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินยุค 4.0 ผมคงปฏิเสธไปตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะหัวข้อแบบนั้นชวนหลับเสียเปล่าๆ และผมซึ่งเป็นผู้พูดเองก็ไม่มีสติปัญญาอะไรถึงปานนั้น

แต่หัวข้อแบบที่กำหนดมาให้และการพูดจริงในที่ประชุมวันนั้นทำให้ผมมีความสุขมากครับ

 

ผมเริ่มต้นครึ่งแรกของการบรรยาย หรืออันที่จริงควรจะเรียกว่าเป็นการสนทนาแบบจับเข่าคุยกันมากกว่า ด้วยการเล่าความหลังว่า ชีวิตของผมก็เหมือนกับคนไทยทั่วไปที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายนับถือพระพุทธศาสนา

การเห็นคุณย่านำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุหรือหลวงพ่อที่วัดดวงแขซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เป็นเรื่องที่คุ้นเคยมาแต่อ้อนแต่ออกเพราะคุณย่าจูงหลานคนนี้ไปวัดทุกที

เมื่อครอบครัวของผมมีบ้านเป็นของตัวเองอยู่ที่ซอยบ้านกล้วยใต้ ถนนสุขุมวิท แม่ก็ใส่บาตรทุกวันกับหลวงตาดำที่เดินมาบิณฑบาตไกลโพ้นจากวัดสะพาน ซึ่งอยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตยนู่น

โตขึ้นมาหน่อยอยู่ในโรงเรียน ผมต้องเรียนวิชาศีลธรรมซึ่งมีสอนอยู่เป็นประจำในทุกโรงเรียนอยู่แล้ว ศีลห้า ศีลแปด อคติสี่ อิทธิบาทสี่ พุทธประวัติ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เข้าใจและขึ้นใจ แต่ถามว่าใส่ใจมากไหม คำตอบตามความเป็นจริงคือ ท่องได้ว่าคืออะไร แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่อย่างไรเลยครับ

อารมณ์ประมาณนกแก้วนกขุนทองนั้นแล

 

พิธีการทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ผมก็เข้าร่วมและพบเห็นมาตั้งแต่เด็ก เรื่องที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำคือการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การไปร่วมงานทอดกฐินที่คุณยายเป็นเจ้าภาพ การไปทำบุญในโอกาสครบรอบวันเสียชีวิตของบรรพบุรุษซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กนั่งปัดแมลงวันไม่ให้มาตอมสำรับที่เตรียมไว้ถวายพระ ขยับขึ้นมาเป็นคนนั่งฟังพระสวดมนต์อยู่ท้ายแถว จากนั้นก็เลื่อนขึ้นไปนั่งแถวหน้าตามลำดับ จนมาเป็นคนทำหน้าที่จุดธูปเทียนในฐานะคนแก่ประจำตระกูลเสียแล้ว

เหลือแต่ยังไม่ได้นำอัฐิตัวเองไปบรรจุไว้ใต้ฐานพระเท่านั้น ฮา!

ผมเข้าใกล้พระศาสนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุนาคหลวง ในปีพุทธศักราช 2538 นี่ก็จะสารภาพเหมือนกันว่า ความรู้สึกอยากบวชพระครั้งนั้น ในส่วนของศรัทธาปสาทะก็มีอยู่หรอกครับ แต่ควบคู่กัน คือความอยากเข้าไปอยู่ในวัดเพื่อจะมีมุมมองของสังคมไทยอีกส่วนหนึ่ง จากเดิมที่เรามองจากภายนอกเข้าไปในวัด คราวนี้ถ้าเราไปนั่งอยู่ในวัดนั้นเสียแล้ว เราจะเห็นอะไรแปลกเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างหรือไม่

หลังจากบวชพระคราวนั้นแล้ว ผมได้อยู่ใกล้พระศาสนาเพิ่มขึ้นอีก เพราะได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์องคเจ้ามากขึ้น ผมได้เริ่มภารกิจสนองงานของวัดและคณะสงฆ์ เช่น เป็นไวยาวัจกรของวัดโสมนัสวิหาร และเพิ่มเติมอีกหลายหน้าที่จนถึงปัจจุบันนี้

 

เรื่องทำนองนี้เล่ารายละเอียดอีกมากมายก็ไม่รู้จบครับ เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ของการพูดคุยกันวันนั้น เวลาครึ่งหลังที่เหลืออยู่ผมจึงเปลี่ยนไปพูดถึงเรื่องตัวผมเองได้นำความรู้หรือคำสอนในทางพระพุทธศาสนามาเป็นประโยชน์กับการครองชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้าง

นี่ก็อีกเหมือนกัน มนุษย์ที่มีสติปัญญาน้อยอย่างผมย่อมไม่อาจเอื้อมคิดถึงพระนิพพานขึ้นมาได้ในภพชาตินี้อย่างแน่นอน การมีพระธรรมนำชีวิตของผม จึงมีความหมายแต่เพียงให้เอาตัวรอดไปได้จากเหตุการณ์ต่างโดยไม่ฟกช้ำดำเขียวเกินไปนัก

ผมยกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังวันนั้นได้ฟังและช่วยคิดตามอยู่สองสามเรื่อง

 

เรื่องแรก คือในชีวิตราชการของผมซึ่งมีความยาวนานตั้งสามสิบห้าปี มองดูด้วยสายตาของคนนอกแล้ว หน้าที่การงานของผมมีความเจริญก้าวหน้าดีและอาจจะกล่าวได้ว่าเร็วกว่ามาตรฐานข้าราชการทั่วไปเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีแต่ความสำเร็จหรือความสมหวังเสมอไปหรือ

คำตอบก็คือไม่ได้ครับ

ยกตัวอย่างโดยเฉพาะเจาะจงก็เช่น เมื่อปีพุทธศักราช 2551 ผมเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมมาแล้วนานถึงเจ็ดปี ปลัดกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นคืออาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ท่านลาออกไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรียุติธรรมจะต้องแต่งตั้งปลัดกระทรวงยุติธรรมคนใหม่

คนทั่วไปเล่าลือกันว่า ผู้ที่อยู่ในข่ายเป็นแคนดิเดตมีอยู่สองคน คือผมคนหนึ่ง และ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อีกคนหนึ่ง เราทั้งสองคนรู้จักกันมาตั้งแต่เป็นนิสิตอยู่ในจุฬาฯ โดยผมเป็นรุ่นพี่ของท่านสามปี และมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองทางเครือญาติอยู่ด้วย

เราทั้งสองคนคุยกันเป็นการส่วนตัวว่าถ้ารัฐมนตรีเลือกใครเป็นปลัดกระทรวง ทั้งผม ทั้ง ดร.กิตติพงษ์ไม่มีปัญหาเลย ใครอีกคนหนึ่งที่เหลืออยู่และไม่ได้เป็นปลัดกระทรวงก็จะตั้งใจทำงานเป็นทีมเดียวกัน อย่าได้กังวลหรือห่วงใยอะไรไปเลย

แล้วรัฐมนตรีก็เลือก ดร.กิตติพงษ์เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

ถามว่าความรู้สึกของผมเวลานั้นเป็นอย่างไร ผมยังเป็นมนุษย์นี่ครับ ผมก็ต้องรู้สึกว่าผิดหวังเป็นธรรมดา

แต่ในนาทีเดียวกันผมก็ต้องบอกตัวเองว่า ดร.กิตติพงษ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถมีปลัดกระทรวงยุติธรรมสองคนได้พร้อมกันเท่านั้น ผมจึงต้องรอต่อไปอีกหน่อย

และอีกไม่กี่เดือนต่อมาผมก็ได้ไปรับหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาการศึกษาซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงเหมือนกัน แต่เปลี่ยนสายงานเป็นด้านการศึกษา ซึ่งก็เป็นงานอีกด้านหนึ่งที่ผมมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว

มาถึงวันนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา หรือตำแหน่งอะไรอีกร้อยแปดพันเก้าที่ทั้ง ดร.กิตติพงษ์ และทั้งผม ได้เคยเป็นมา บัดนี้ก็มีคนอื่นทำหน้าที่เหล่านั้นแทนเราเรียบร้อยแล้ว

อย่าไปติด ไปยึดอะไรเป็นอันขาด

เดี๋ยวตายไปวิญญาณจะไปสิงอยู่ที่เก้าอี้โน้นเก้าอี้นี้เสียเปล่าๆ

 

ตรงนี้แหละครับที่ผมนำคำสอนในพระพุทธศาสนามาบอกกับตัวเองว่า ตอนเกิดมาผมก็ไม่มีตำแหน่งอะไรเลยสักอย่าง ตอนตายก็ไม่สามารถนำตำแหน่งอะไรพกติดตัวไปได้ ตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหลายที่เป็นอยู่ในเวลาที่ยังมีลมหายใจนั้น เป็นของสมมุติชั่วคราว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามไม่ต้องทำหน้าที่เหล่านั้น ก็อย่าได้ไปวิตกเสียดาย ร้องห่มร้องไห้ให้คนนินทาเลยครับ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ผมได้ร่มธรรมประคองชีวิต คือ ช่วงเวลาที่ผมเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประมาณต้นปีพุทธศักราช 2557 การเมืองกำลังคุกรุ่นแทบจะร้อนเป็นไฟ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์คราวหนึ่ง ผมนั่งรถใต้ดินคนเดียวจากบ้านที่อยู่ใกล้สถานีลาดพร้าวไปกินข้าวกลางวันที่เซ็นทรัล พระราม 9 แล้วระหว่างที่นั่งกินข้าวหน้าเนื้อแบบญี่ปุ่นอยู่ในร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในศูนย์การค้าแห่งนั้น มีเสียงด่าทอผมลอยลมมาเข้าหู แต่ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าเขาด่าว่าอะไร แต่รู้แน่ว่าโดนด่าครับ

ผู้กล่าววาจานั้นคงนึกว่าผมเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องเป็นสมุนบริวารของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อท่านไม่พอใจนายกรัฐมนตรี การมาด่าทอต่อว่าที่ผมนี้เห็นจะพอแก้ขัดไปได้

 

ในเวลานั้นผมเตือนตนว่า คำด่าหยาบคายร้ายกาจนั้นเป็นของผู้พูด ถ้าผมนิ่งเฉยเสียเรื่องก็จบ ผมเป็นคนที่รู้ตัวดีไม่ใช่หรือว่าตัวเองทำอะไรบ้าง และด้วยเหตุผลอะไร

ถ้าจำไม่ผิดผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับคำสอนในพระพุทธศาสนา ท่านเปรียบเทียบว่าคำนินทาว่าร้ายหรือด่าทอนั้นก็เหมือนของสกปรกที่มีคนพยายามนำมาใส่มือเรา ถ้าเราไม่รับไว้ ของโสโครกนั้นก็ตกหล่นอยู่ตรงนั้นเอง

ความดีความชั่วของตัวเราไม่มีใครรู้มากไปกว่าตัวเราอีกแล้ว คนอื่นเขาสำคัญผิดหรือได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วนอย่างไร ก็ต้องปล่อยวาง จะลุกขึ้นไปอธิบายอะไรกันกลางร้านข้าวหน้าเนื้อเห็นจะไม่สำเร็จล่ะ

นึกได้แบบนี้แล้วก็สบายครับ กินข้าวหน้าเนื้อต่อได้จนหมดจานแล้วค่อยขึ้นรถไฟใต้ดินกลับบ้าน

นอกจากสบายใจแล้วยังสบายท้องด้วย จำได้ว่ามื้อกลางวันวันนั้นอร่อยเป็นพิเศษ

และยังอร่อยมาจนถึงทุกวันนี้เลย