ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/
รากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่เรียวแคบของรัฐบาล
รัฐประหาร 19 กันยายน ปีนี้ผ่านไปโดยไม่มีใครในพรรคเพื่อไทยพูดอะไรเลย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมักพูดถึงเหตุการณ์นี้เพื่อยืนยันว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจนถูกทหารยึดอำนาจตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว ซ้ำแกนนำพรรคก็ปราศรัยเรื่องนี้ช่วงเลือกตั้งปี 2566 อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยเคยพูดเรื่องนี้เพื่อบอกว่าไม่มีวันจับมือกับเผด็จการ
แน่นอนว่าคงไม่มีใครในเพื่อไทยความจำเสื่อมจนลืมว่ารัฐประหาร 19 กันยายน คืออะไร
แต่ทุกคนในเพื่อไทยเลือกไม่พูดเรื่องนี้เพราะไม่อยากให้คนจดจำพรรคในแง่เป็นฝ่ายตรงข้ามเผด็จการทหารต่อไป
เช่นเดียวกับอาจไม่อยากให้คนสงสัยถึงสาเหตุรัฐประหารเพื่อกำจัดคุณทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 จนตั้งคำถามต่อไปว่าเบื้องหลังทั้งหมดคืออะไร
เมื่อพรรคเพื่อไทยเลือกไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่ไกลตัวอย่างรัฐประหารปี 2549 อีกต่อไป รัฐประหารที่ใกล้ตัวขึ้นกรณีคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2557 ก็คงไม่มีใครในเพื่อไทยพูดถึงต่อไปอีก เช่นเดียวกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553
สรุปง่ายๆ เรื่องแบบนี้หากพูดก็ต้องถามต่อว่าใครสั่งยิง ใครสั่งฆ่า และฆ่าทำไม ซึ่งคงไม่มีคนเพื่อไทยหรือครอบครัวเพื่อไทยอยากพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป จะเป็นเพราะเกรงใจผู้เกี่ยวข้อง หรือเพราะตั้งใจพูดเรื่องนี้แค่เพื่อหาเสียงโดยปลุกระดมประชาชนก็ตามที
ถ้ายอมรับความจริงว่าพรรคเพื่อไทยช่วงเลือกตั้งชูความเป็นพรรคประชาธิปไตยเพื่อดึงดูดคะแนนประชาชน ความจริงที่ต้องยอมรับอีกเช่นกันคือพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้งไม่พูดเรื่องที่เคยพูดเพื่อดึงคะแนนประชาชนอีก
เพียงแต่ปริศนาที่ไม่มีใครรู้คือเพื่อไทยไม่พูดเพราะเป็นเทคนิคทางการเมือง หรือเพราะเพื่อไทยมีจุดยืนเปลี่ยนไปจากเดิม
คำพูดที่ได้ยินทั่วโซเชียลมีเดียวันนี้คือไม่มีใครทำร้ายเพื่อไทยเท่ากับ “ดิจิทัลฟุตพริ้นต์” ของพรรคเพื่อไทย ทัศนคติแบบนี้สะท้อนว่าเพื่อไทยถูกมองว่าไม่ทำตามที่พูดช่วงหาเสียงเยอะไปหมด ส่วนเพื่อไทยจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนตัดสินใจตามเกณฑ์ที่แต่ละคนมีต่างกัน
แต่ที่แน่ๆ “Perception” หรือมุมมองแบบนี้ไม่ดีกับรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเลย
ไม่ใช่ความลับว่าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลครั้งนี้ด้วยแรงสนับสนุนจากสังคมที่ต่ำกว่าในอดีต ผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อรัฐบาลยังไม่มีสัญญาณบวก ข้อมูลหลังบ้านของสื่อหลายค่ายพูดตรงกันว่า “โซเชียล” สนใจคุณเศรษฐา ทวีสิน หรือรัฐมนตรีไม่มากเท่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล และเพื่อไทยที่ถอยแสดงจุดยืนประชาธิปไตยขั้นไม่วิจารณ์รัฐประหารจะเสียคะแนนจนความสนใจรัฐบาลลดลงกว่าเดิม
ตรงข้ามกับสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งที่เพื่อไทยชวนคนหยิบเสื้อแดงจากตู้เสื้อผ้าแล้วใส่ไปลงคะแนน
เพื่อไทยในฐานะรัฐบาลทำทุกทางที่จะยุติ “ความเป็นการเมือง” ทั้งเรื่องเสื้อแดงและเรื่องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเพื่อเอาใจทหารที่เคยปราบคนเสื้อแดง, เอาใจพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยเป็น กปปส. หรือเพราะต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เงียบสงบก็ตาม
ยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลคือการสร้างรัฐบาลที่ “ไม่การเมือง” โดยโฟกัสไปที่การบริหารและผลงานด้านเศรษฐกิจของคุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลจะทำเป้าหมายนี้ได้สำเร็จหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่การทำให้อัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% จากเดิมในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.6% เป็นเรื่องทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน
ด้วยฐานการเติบโตเศรษฐกิจที่โตแค่ 1.4% ในปี 2564 และ 2.6% ในปี 2565 ประเทศไทยในปี 2566-2567 มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตสูงขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ แต่ปัญหาคือธนาคารโลกประเมินไว้ในรายงานประจำเดือนมิถุนายนว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556โต 3.9%, ในปี 2567 โต 3.6% และในปี 2568 จะโตแค่ 3.4%
ในแง่นี้ โอกาสที่ประเทศไทยในยุคคุณเศรษฐาจะเติบโตเฉลี่ย 5% จึงเป็นไปแทบไม่ได้เลย
ควรระบุด้วยว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 5% เป็นฐานของการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยด้านอื่นๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 ในปี 2570, เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท หรือการจ่ายเงินให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
ถ้าเศรษฐกิจไทยโตตามที่ธนาคารโลกประเมินจริงๆ ก็จะโตเฉลี่ยไม่ถึงปีละ 5% และเท่ากับว่านโยบายแนวเงินๆ ทองๆ ที่พรรคเพื่อไทยต้องการใช้เป็นเครื่องมือสร้างความนิยมทดแทนมลทินจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจะล้มเหลวทันที
“ภาพลักษณ์” ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้และครั้งอื่นๆ คือการทำนโยบายที่ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “แจกเงิน”
แต่ที่จริงนโยบายที่โดดเด่นที่สุดของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการ “เพิ่มพลังการผลิต” และ “เพิ่มผลิตภาพ” ของประเทศด้วยนโยบายเกษตร, ซอฟต์เพาเวอร์, อัพสกิล, รีสกิล ฯลฯ
ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชนอย่างก้าวกระโดดแบบยาวนาน
ไม่มีรัฐบาลไหนทำทุกนโยบายที่ประกาศไว้สำเร็จทุกกรณี แต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับ “พลังการผลิต” และ “เพิ่มผลิตภาพ” เป็นชุดนโยบายที่รัฐบาลนี้ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะนโยบายแจกเงินของรัฐบาลเพื่อไทยผูกโยงกับการลากระบบเศรษฐกิจไทยให้โตเฉลี่ยปีละ 5%
อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตเศรษฐกิจแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้เมื่อคำนึงความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และตัวเลขแนวโน้มที่ธนาคารโลกประเมิน
ในสังคมที่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมสร้างความมั่งคั่ง, การเจริญเติบโต และการกระจายรายได้ต่อไปไม่ได้ การสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่คือวิธีที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตและการกระจายรายได้ได้ดีที่สุด
แต่ปัญหาคือกระบวนการทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาและโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศนี้ยังแทบไม่มีเลย
การปฏิรูปภาคเกษตรที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปคุณภาพดินเพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง แต่กระบวนการนี้ในบางประเทศทำโดยรัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาชาวไร่หยุดทำงานขณะรัฐอัพเกรดที่ดิน ส่วนประเทศไทยไม่มีแม้หน่วยงานทำเรื่องนี้ และกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังไม่ได้อยู่กับพรรคแกนนำรัฐบาล
การอัพสกิลและรีสกิลป็นเรื่องที่นักการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมพูดกันมานาน แต่ศักยภาพของรัฐไทยในการรีสกิลเป็นอย่างไรก็แสดงให้เห็นจากผลิตภาพประเทศที่รู้กันดีอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นคือการอัพสกิลและรีสกิลที่ทำมักหมายถึงการปรับฝีมือแรงงานให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่สิ่งที่เพื่อไทยทำนั้นแทบจะเป็นการเปลี่ยนวิถีการผลิตไปเลย
ประเทศไทยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปรวมกัน 2 ล้านคน และถ้าเพื่อไทยจะทำการอัพเกรดคนไทยให้ได้ปีละ 2 ล้านคนตามที่บอกไว้ สิ่งแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องคิดและทำให้ได้คือใครและหน่วนงานไหนจะเป็นคนทำหน้าที่นี้ เพราะมหาวิทยาลัยที่มีผู้เรียนปีละ 2 ล้านไม่มีทางรับคนเพิ่มอีก 2 ล้านได้แน่นอน
สื่อฝ่ายประจบรัฐบาลบางคนบอกว่าสามารถใช้โรงเรียนสารพัดช่างเป็นองค์กรหลักในการอัพสกิลคนไทย แต่สารพัดช่างถูกสร้างขึ้นเพื่อฝึกอาชีพพื้นฐาน ไม่ใช่เพื่อพัฒนาแรงงานให้ปรับตัวสู่การผลิตสมัยใหม่ ไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่วิถีการผลิตที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
พรรคเพื่อไทยวันนี้เข้าสู่กระบวนการลดทอนความเป็นการเมืองจนไม่แสดงให้เห็นเจตจำนงในการปฏิรูปประชาธิปไตย, ปฏิรูปกองทัพ หรือแม้แต่ยกระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคม
นักการเมืองสำคัญอย่างคุณจาตุรนต์ ฉายแสง จึงถึงกับต้องเตือนว่าพรรคเพื่อไทยทิ้งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นต้นทุนด้านประชาธิปไตยของพรรคจะไม่เหลือเลย
คำถามคืออะไรในพรรคเพื่อไทยทำให้คุณจาตุรนต์ต้องสื่อสารออกสื่อว่าพรรคอย่าเบี้ยวยกร่างรัฐธรรมนูญ?
รากฐานทางสังคมที่เรียวแคบของพรรคเพื่อไทยคืออุปสรรคสำคัญของรัฐบาล
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดคืออาวุธเดียวของเพื่อไทยที่จะขยายรากฐานทางสังคมนี้ให้กว้างขวางขึ้น
แต่ด้วยเงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยและระดับการพัฒนาที่เป็นจริง เส้นทางสู่ความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเดิมพันสำคัญคืออนาคตของเพื่อไทยและรัฐบาลเพื่อไทยเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022