ก้าวไกล ปรับทัพใหญ่ จากพิธา สู่ผู้นำคนใหม่ ‘ชัยธวัช’ 24 ก.ย. ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน จับตาหมออ๋อง เดินไต่เส้น

หลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา จากส่วนหนึ่งของคำแถลงก็เป็นที่ชัดเจนว่า หมุดหมายต่อไปของพรรคก้าวไกล คือการมุ่งสู่ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน”

“แม้วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลต้องเดินหน้าสู่การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่มีเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 และปัจจุบันผมยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ผมจึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้”

“ผมได้หารือกับคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลแล้วเห็นว่า บทบาท ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภา และสมควรเป็นบทบาทที่รับผิดชอบโดยหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านหลักในสภา ซึ่งตอนนี้คือพรรคก้าวไกล ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จะเปรียบเสมือนหัวเรือที่กำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาของฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ยังตกหล่นจากนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

“ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก ส.ส. ที่สามารถทำหน้าที่ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม”

 

คําถามที่เกิดขึ้นตามมาคือพรรคก้าวไกลจะจัดการอย่างไร ทั้งกับตำแหน่งหัวหน้าพรรค กับเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ของ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา

เพราะเงื่อนไขด้วยในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดคุณสมบัติผู้นำฝ่ายค้านในสภาไว้ว่า 1.ต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด 2.ต้องอยู่ในพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี 3.ต้องอยู่ในพรรคที่ไม่มีประธานหรือรองประธานสภา

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุ มีทางที่พรรคก้าวไกลจะสามารถคว้าทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และเก็บเก้าอี้รองประธานสภาไว้ให้ “หมออ๋อง” ได้

โดยให้ที่ประชุมร่วม ส.ส. กับกรรมการบริหารพรรค ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ลงมติขับ “หมออ๋อง” ออกจากพรรค จากนั้น “หมออ๋อง” หาพรรคใหม่ใน 30 วัน เช่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ทำให้ยังคงมีสมาชิกภาพเป็น ส.ส. และคงตำแหน่งรองประธานสภาได้

เมื่อดูท่าทีจากพรรคเป็นธรรม กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ก็เปิดประตูทุกบานพร้อมรับ “หมออ๋อง”

เช่นเดียวกับนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ระบุว่า ขณะนี้ถือว่าเร็วเกินไปที่จะพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่พรรคเป็นธรรมก็พร้อมที่จะเปิดกว้างและยินดีต้อนรับ ส.ส.ทุกคนอยู่แล้ว

“หากมีการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ทั้งหมดนี้เพราะเป็นการเมืองที่ผิดสัญญา ไม่ทำตามที่พูดกับประชาชน” หัวหน้าพรรคเป็นธรรมกล่าว

 

แต่ก็มาพร้อมกับเสียงจากบางส่วนของพรรคเพื่อไทย กระทบกระเทียบเสียดสีพรรคก้าวไกลว่า “เหลี่ยมทุกดอก”

ในฟากฝั่งพรรคก้าวไกล รวมถึงตัว “หมออ๋อง” ก็ยังคงสงวนท่าที โดยขอให้รอความชัดเจนหลังการประชุมวิสามัญของพรรค ในวันที่ 23 กันยายน 2566 ซึ่งวาระสำคัญ คือการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งจะเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลต่อไป ก่อนอีเวนต์ใหญ่ 24 กันยายน ในชื่อ “ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ก้าวไกลยังมีประเด็นร้อนอีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้ “หมออ๋อง” ต้องออกมาชี้แจง เป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณดูงาน 1.3 ล้านบาท สำหรับการไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 21-25 กันยายน 2566 ซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมาโดย “ลอรี่” พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าเป็นการ “ไปเที่ยว…หรูหราภาษีหลวง” กลายเป็นเป้าให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเบิกงบฯ ที่เกินไปหรือไม่

แต่การชี้แจงของ “หมออ๋อง” ต่อประเด็นดังกล่าว ทางหนึ่งเหมือนการ “เดินไต่เส้น” ที่หลายคนมองว่าไม่ควรไต่ แต่อีกทางหนึ่งอาจถือได้ว่าน่าชื่นชม เพราะสามารถชี้แจงเหตุผลที่มาที่ไปของการไปดูงานได้ชัดเจน และยังจุดประเด็นเรื่องการเบิกจ่ายตาม “ระเบียบกระทรวงการคลัง” ให้สังคมได้รับรู้ เป็นการยกระดับ “มาตรฐานการดูงาน” และ “มาตรฐานความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ” ซึ่งหมายถึงการใช้เงินจาก “ภาษี” ของประชาชน

อาจเป็นบทพิสูจน์ความเหมาะสมของ “หมออ๋อง” ในตำแหน่งรองประธานสภา แม้อาจต้องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น เพื่อเปิดทางให้พรรคก้าวไกลคว้าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้สำเร็จ

 

อีกจุดหนึ่งที่สปอตไลต์การเมืองจับจ้องอยู่ คือการเลือกประชุมวิสามัญของพรรคก้าวไกล ในวันที่ 23 กันยายน 2566 ซึ่งวาระสำคัญคือการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงการเลือกหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ ที่อาจจะต้องทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ “พิธา” ระบุว่า ส่วนตัวมองว่ามีบุคคลที่เหมาะสมที่จะนำพรรคกว่า 4-5 คน ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาคนบู๊หรือบุ๋น ขึ้นอยู่กับการประชุมวิสามัญพรรค รวมถึงคนที่ถูกเสนอชื่อจะยอมรับตำแหน่งหรือไม่ เชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีความพร้อม

สำหรับบุคคลที่สื่อมวลชนคาดว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนต่อไป เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล รักษาการรองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบาย ชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรค

ศิริกัญญา ตันสกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทสาขา Economics, Market and Organization จากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส

มีประสบการณ์การทำงานเป็นนักวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย-TDRI (2554-2555), ผู้จัดการฝ่ายวิจัย สถาบันอนาคตไทยศึกษา (2555-2559), Senior Consultant บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด (2560-2561), ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ (2561-2562) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2562-2566)

ผลงานล่าสุดคือการ “ตัดเกรด” คำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“กรอบระยะสั้นหลายเรื่องที่ควรเป็นนโยบายเร่งด่วนกลับไม่มี ส่วนกรอบระยะกลาง ระยะยาว หากพิจารณาดูจะพบว่าหายไปหลายเรื่อง เช่น ลดรายจ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่ถูกลดทอนเหลือแค่เหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีสมัยยังไม่เข้าวงการการเมืองเต็มตัว ท่านเคยแสดงความเห็นเรื่องนี้โดยเห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้อยากถามว่าท่านยังคิดแบบเดิมหรือไม่”

“คำแถลงของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้อย่างมาก วันนี้อุดมการณ์จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยังคงเดิมหรือเปลี่ยนไปแล้ว หรือท่านไม่เห็นว่าสำคัญอีกต่อไปเพราะบริบทเปลี่ยนไปแล้ว”

ด้านชัยธวัช ตุลาธน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานฝ่ายวิชาการ สถาบันพัฒนาการเมือง (2543-2545), กรรมการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (2548-2549), ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย Asian Public Intellectuals Fellowship Program, The Nippon Foundation และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549-2550)

ผู้ประสานงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) (2553-2555), ที่ปรึกษาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2557-2561), บรรณาธิการต้นฉบับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (2545-2561), รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (2561-2563)

และเลขาธิการพรรคก้าวไกล (2563-ปัจจุบัน)

 

19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจากพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการคัดเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏชื่อชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นโฆษกพรรค และจะเสนอชื่อ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ทำหน้าที่ประธานวิปฝ่ายค้านในสภา

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล โดย ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรค ระบุว่า ให้รอความชัดเจนในวันที่ 23 กันยายน 2566 ไม่ว่ากระแสข่าวจะออกมาอย่างไร จะเป็นชื่อใคร ก็ยังเป็นการคาดการณ์ ไม่ใช่มติที่เป็นทางการ และสามารถประกาศกับสาธารณะได้

เมื่อถามว่า มองคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคคนต่อไปที่จะมาทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ภคมนกล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค แกนหรือหัวใจสำคัญของพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ ดังนั้น การทำหน้าที่หัวหน้าพรรคจึงเป็นแค่หัวเรือในการขับเคลื่อนภารกิจทุกอย่างที่มีอยู่ ให้เดินไปข้างหน้าได้

มองจากภายนอก ไม่ว่าสุดท้ายใครจะทำหน้าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนต่อไป ก็เหมาะสมทั้งสิ้น

จึงต้องมารอดูว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่จะเป็นใคร จะเป็นนายชัยธวัช ตามคาดหรือไม่ และจะนำกรรมการบริหารชุดใหม่ตัดสินกรณีรองประธานสภา ‘ปดิพัทธ์’ อย่างไร เพราะนี่จะเป็นก้าวอีกก้าวที่สำคัญว่าพรรคจะไปได้ไกลขนาดไหน?