SCGD (อีกตอน)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เอสซีจี เครือข่ายธุรกิจรากฐานไทย อยู่ในช่วงขยับตัวปรับแผนครั้งสำคัญ นำกิจการเข้าตลาดหุ้นเป็นระลอก

ว่าเฉพาะเกี่ยวกับ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD กับแผนการเข้าตลาดหุ้น ได้ผ่านขั้นตอนสำคัญยื่นคำขออนุญาต (filling) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ไปแล้ว (28 มิถุนายน 2566) เพียงรออีกไม่นาน แผนการในขั้นสุดท้ายกำลังจะมาถึง

อันที่จริงก่อนหน้า มีขั้นตอนภายใน SCGD เองเกิดขึ้น ซึ่งสำคัญไม่น้อย ให้ภาพเชื่อมโยงเรื่องราวธุรกิจกับบริบท สะท้อนการปรับตัวทางธุรกิจอย่างเชี่ยวกรากต่อเนื่องมา ถือเป็นอีกแง่มุมและฉากตอนเชื่อมต่อจากข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จะว่าเป็นกรณีเข้าตลาดหุ้นล่าสุด ก็มิใช่เสียทีเดียว อาจจะเป็นกรณีชิมลางแรกๆ ด้วยซ้ำไป โดยมีการปรับแผนเป็น 2 ระยะ ไม่ห่างกันนัก จากเมื่อปี 2561 เมื่อ บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI กลายมาเป็น บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO มาอีกครั้งในปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนหลอมรวม COTTO ไปอยู่ภายใต้ SCGD

ที่น่าสนใจใคร่ทบทวน คือเรื่องราว TGCI ในฐานะต้นตำนานธุรกิจเซรามิกในประเทศไทย

 

บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเซรามิก ก่อตั้งกิจการเป็นรายแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2512 ก่อนหน้า เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ราว 1 ทศวรรษเลยทีเดียว

TGCI เป็นกิจการร่วมทุนในสัดส่วน 75/25 ระหว่างธุรกิจไทยกับต่างชาติ โดยตระกูลธุรกิจเก่า-วุฑฒินันท์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทั้งธุรกิจและการเมืองในยุคนั้นบางระดับ กับตระกูลอภัยวงศ์ และศรีวิกรม์

กับอีกฝ่าย สถาบันการเงินการลงทุนเยอรมนี เรียกย่อๆ ว่า DEG – (อยู่ในเครือข่าย KfW หน่วยงานการลงทุนและพัฒนาของรัฐบาลเยอรมนี) ก่อตั้งขึ้นในปี 2505 ในเวลานั้นให้ความสนใจภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ โดยมีสำนักงานในกรุงเทพฯ ด้วย ต่อมาในปี 2534 DEG ได้ลดการลงทุนลงเหลือสัดส่วนเพียง 3.85% คาดว่าจะคงเช่นนี้อยู่จนถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2540

อ้างจากรายงานชิ้นหนึ่ง (กรณีศึกษา Michigan Business School : The Thailand Ceramic Tile Industry 1992) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ว่าด้วยเทคโนโลยีและการออกแบบการผลิตกระเบื้องเซรามิกในประเทศไทยในเวลานั้น TGCI ให้ความสำคัญกับแผนขนาดใหญ่อย่างจริงจังแล้ว ส่วนใหญ่จัดซื้อแบบ license เป็นคราวๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากโรงงานในประเทศอิตาลี

ทั้งระบุด้วยว่า ในปี 2535 TGCI เป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่องนาวนาน ในฐานะผู้มีกำลังการผลิตมากที่สุด ครองส่วนแบ่งในตลาดไทยมากที่สุดในสัดส่วนถึง 40% ในขณะที่ธุรกิจเซรามิกของเครือเอสซีจีมีเพียง 20%

TGCI ได้เข้าตลาดหุ้นมากว่า 4 ทศวรรษ ถือว่าอยู่ในยุคบุกเบิกตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ว่าได้ (ปี 2523)

 

อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้ว ธุรกิจเซรามิกเอสซีจี พลิกฟื้นมาอยู่ในฐานะที่ไปต่อ จากช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 โดย กานต์ ตระกูลฮุน ผู้มีบทบาทสำคัญในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเอสซีจี ก่อนที่เขาจะมาเป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2548-2558) และหลังจากนั้นได้ดำเนินตามแผนขยายการลงทุนอย่างน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะแผนการเข้าซื้อกิจการคู่แข่งขันในปี 2551 ทั้งกลุ่มบริษัท โสสุโก้ และ TGCI

เวลานั้น TGCI อยู่ในสถานการณ์ไม่ดีนัก เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจในตระกูลเก่าของไทย เผชิญภาวะสั่นคลอนอย่างหนักในช่วงต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หลายต่อหลายรายอยู่รอด จำต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน กรณี TGCI มีปัญหาเพิ่มเติม ด้วยเผชิญการแข่งขันอันดุเดือดจากรายใหญ่ซึ่งขยับขยายอย่างน่าเกรงขาม

เอสซีจีเปิดฉากด้วยข้อเสนอเพื่อเข้าซื้อหุ้น TGCI ทั้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัดส่วน 26% กับหุ้นจากเจ้าหนี้ (ธนาคารนครหลวงไทย) ซึ่งแปลงเป็นหุ้นในสัดส่วน 19.9% รวมกันแล้วเป็น 45.9% โดยใช้เงินขั้นต้นประมาณ 600 ล้านบาท จากนั้นตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นที่เหลือจากรายย่อย ใช้เงินรวมๆ กันราวๆ 1,000 ล้านบาท

เชื่อว่าแนวความคิดและแผนการเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งเปิดขึ้นครั้งแรกในช่วงคาบเกี่ยว ระหว่างยุคกานต์ ตระกูลฮุน กับรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (ผู้จัดการใหญ่เอสซีจี 2559-2566) กว่าจะสำเร็จได้เข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ รังสิโยภาสแล้ว นับเป็นแผนอันซับซ้อนพอสมควร

 

สําหรับเครือข่ายเอสซีจีโดยตรง ในเวลานั้นมีเพียงบริษัทแม่-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC แห่งเดียวอยู่ในตลาดหุ้น อยู่มาตั้งแต่ปี 2518 ส่วนบทเรียนการนำกิจการเข้าตลาดหุ้นครั้งล่าสุด ผ่านมานานกว่า 3 ทศวรรษ ในกรณีบริษัท เยื่อกระดาษสยาม (ต่อมาได้เพิกถอนจากตลาดหุ้น และค่อยๆ แปลงร่างอยู่ในธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง) มีขึ้นในปี 2530

แผนการใหม่เกิดขึ้นใน 2561 เมื่อเอสซีจีควบรวมกิจการเซรามิกทั้งหมด โดยยึดฐานะ TGCI บริษัทในตลาดหุ้นไว้ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO “คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ของ TGCI จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และรับหลักทรัพย์ของ COTTO เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 และเริ่มซื้อขายได้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561” ดังข่าวสารปรากฏในช่วงนั้น

แผนการชิมลางข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงมีการปรับเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการครั้งใหญ่ ต่อจากนั้นเอสซีจีจึงมีแผนการเข้าตลาดหุ้นอย่างจริงจังชัดเจน เป็นแผนใหญ่อย่างเป็นระบบ

ประเดิมด้วย บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จนบรรลุแผน สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นช่วงปลายปี 2563

 

การปรับโครงสร้างธุรกิจ SCGD จนมาถึงแผนการเข้าตลาดหุ้น ตามกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2566 ว่าไปแล้วยึดโมเดลเดียวกับกรณี TGCI เป็น COTTO ได้เดินมาถึงบทสรุป เมื่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น COTTO (23 พฤษภาคม 2566) มีมติอย่างเป็นทางการ “ให้เพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแผนการร่วมปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้ SCGD เป็นบริษัทแกนหลักในการดำเนินธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ของเอสซีจีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงบริษัทเดียว”

ในเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ เป็นไปตามมุมมอง ว่าด้วยตามแผนการใหญ่ขึ้น “ยกระดับเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน” อย่างที่กล่าวกันไว้

อ้างอิงสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของผู้บริหาร SCGD เมื่อไม่นานมานี้ จะให้ภาพเชิงขยาย

จากภาพใหญ่ว่าด้วยขนาดตลาดและโอกาสทางธุรกิจ พิจารณาในเชิงประชากร จากประเทศไทยที่มีประชากรรวม 71.7 ล้านคน ไปสู่ตลาดซึ่งเครือข่ายธุรกิจ DCGD มีอยู่ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันกว่า 560 ล้านคน

ว่าด้วยความสามารถทางธุรกิจ พิจารณาจากกำลังการผลิตและเครือข่ายจัดจำหน่าย SCGD จะมีกำลังการผลิตในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวเพิ่มขึ้น จาก 80 ล้านตารางเมตรต่อปี (ในประเทศไทย) เป็น 187.2 ล้านตารางเมตรต่อปี (ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ขณะช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 9 เท่า จาก 1,200 ราย เป็นกว่า 10,000 ราย รวมเครือข่ายร้านค้าปลีกของ SCGD เองจะเพิ่มขึ้นจาก 103 ร้าน (ในประเทศไทย) เป็น 142 ร้าน (ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย)

ที่สำคัญว่าด้วยข้อมูลจำเพาะทางการเงิน (พิจารณาข้อมูลงบการเงินปี 2565) ยอดขาย SCGD เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ COTTO จาก 13,224 ล้านบาท เป็น 30,886 ล้านบาท และกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท (ไม่รวมรายการพิเศษ) เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า จาก 449 ล้านบาท เป็น 1,163 ล้านบาท ขณะสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า จาก 11,310 ล้านบาท เป็น 40,576 ล้านบาท

เชื่อกันว่า แผนการข้างต้นคงเดินหน้าไปตามขั้นตอน ไม่ควรสะดุด เช่นกรณีธุรกิจเคมีคอลล์ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com