มีทีโอโรลอจิกา ปฐมบทแห่งอุตุนิยมวิทยา

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509

 

มีทีโอโรลอจิกา

ปฐมบทแห่งอุตุนิยมวิทยา

 

มนุษย์เราต้องพบเจอปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศทุกวันนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในสังคมโบราณมีเรื่องเล่าและความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย ที่เห็นได้ชัดคือการยกปรากฏการณ์ฟ้าฝนเป็นบุคลาธิษฐาน เช่น พระพิรุณของศาสนาฮินดูเป็นเทพแห่งน้ำและฝน ไอริสของกรีกเป็นเทพีแห่งสายรุ้ง และฟริกกาของนอร์สเป็นเทพีแห่งมวลเมฆ

คำอธิบายแนวเทพปกรณัมแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก และบ่อยครั้งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพเทพซูส (Zeus) ต่อสู้กับพญางูยักษ์ไทฟอน (Typhon) ตามที่เฮสิอัด (Hesiod) ได้พรรณาไว้ในกวีนิพนธ์เรื่องธีโอโกนี (Theogony) หรือเทวกำเนิดว่า

“ครั้นองค์มหาเทพรุดทะยานไปอย่างรวดเร็ว เทือกเขาโอลิมปัสอันยิ่งใหญ่ก็สั่นไหวใต้พระบาทอันเป็นอมตะ แลโลกพิภพนั้นส่งเสียงครวญครางตอบรับ มหาอัคคีลุกโชนเหนือทะเลสีม่วงเข้มด้วยเปลวเพลิง ทั้งเพลิงจากอสูรร้ายไทฟูนแลวาโย ทั้งจากสายอสนีบาตอันเจิดจ้า”

ตีความกันว่าการต่อสู้อันดุเดือดนี้ก่อให้เกิดพายุใหญ่แรงจัดพัดกระหน่ำทำลายล้างสิ่งต่างๆ

แต่ความพยายามของคนโบราณในการอธิบายปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศโดยไม่อิงกับเทพเจ้าก็มีเช่นกัน ในกรณีของอารยธรรมกรีก หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ระบุว่าคนแรกๆ (หรืออาจจะเป็นคนแรก) ที่ทำเช่นนั้นคือ เธเลสแห่งไมลีทัส (Thales of Miletus) เขาเป็นนักปรัชญาที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงราวปี 610 ถึงราวปี 546 ก่อนคริสต์ศักราช

เธเลสเสนอว่าปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของดวงดาว ทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์

ซูสกำลังต่อสู้กับไทฟอน
ภาพโดยวิลเลียม เบลค ซึ่งลอกมาจากงานของเฮนรี ฟูเซลี
ที่มา : http://bogdanantonescu.squarespace.com/gallery/

ข้อเสนออย่างนี้คนสมัยปัจจุบันอาจฟังแล้วส่ายหน้า แต่ถ้าตระหนักว่านี่คือความคิดของคนเมื่อกว่า 2 พันปีก่อน ซึ่งรู้ว่าฤดูกาลต่างๆ ทั้งสี่ (คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว) เชื่อมโยงกับการปรากฏของกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้า ก็คงไม่แปลกใจนักสำหรับคำกล่าวเช่นนั้น

ลูกศิษย์ของเขาสองคนคือ อะแน็กซิแมนเดอร์ (Anaximander) และอะแน็กซิมินิส (Anaximenes) ก็พยายามอธิบายปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศโดยใช้สาเหตุจากธรรมชาติเช่นกัน

อะแน็กซิแมนเดอร์ก็เป็นคนแรกที่ให้นิยามสำหรับ ‘ลม’ ว่าเป็นการไหลของอากาศที่เกิดขึ้นเมื่อ “ไอน้ำที่เล็กละเอียดที่สุดซึ่งแยกตัวออกมาจากอากาศถูกผลักดันไปเมื่ออยู่ด้วยกันในปริมาณมาก” และเสนอว่าเสียงฟ้าร้องเป็นผลมาจากการที่อากาศปะทะกับเมฆ ส่วนฟ้าผ่าเป็นผลมาจากการแยกตัวของเมฆอย่างรุนแรงอันเกิดจากลมกระทำ

อย่างไรก็ดี ความคิดของนักปราชญ์กรีกเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศได้ซบเซาลงไปนับร้อยปี จนกระทั่งเมื่ออริสโตเติล (Aristotel) นักปราชญ์ผู้โด่งดังได้ทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง โดยการเขียนหนังสือชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า มีทีโอโรลอจิกา (Meteorologica) ขึ้นในราว 340 ปีก่อนคริสต์ศักราช

หนังสือชุดนี้มี 4 เล่ม และถือกันว่าเป็นตำราที่อภิปรายเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก! (อย่างน้อยในโลกตะวันตก)

มีทีโอโรลอจิกา (Meteorologica)
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Meteorology_%28Aristotle%29

แต่ต้องรู้ไว้ก่อนครับว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมีทีโอโรลอจิกา 3 แง่มุม ดังนี้

แง่มุมแรก – มีทีโอโรลอจิกา แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เล่ม 1, 2 และ 3 มีเนื้อหาคาบเกี่ยวกันและโดยภาพรวมถือเป็นงานที่สมบูรณ์ในตัวเองแล้ว และนักวิชาการเชื่อมั่นว่าส่วนแรกนี้เป็นผลงานของอริสโตเติล

แต่ส่วนที่สองคือ เล่ม 4 มีเนื้อหาต่างออกไปจากส่วนแรก และควรถือเป็นตำราอีกเล่มหนึ่งต่างหาก แถมเล่ม 4 นี้ ยังมีข้อสงสัยในเชิงวิชาการว่าเป็นผลงานของอริสโตเติลจริงหรือไม่อีกด้วย

แง่มุมที่สอง – ส่วนแรกคือเล่ม 1-3 ไม่ได้มีเนื้อหาเฉพาะที่ตรงกันวิชาอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน เพราะยังครอบคลุมเอาศาสตร์อื่นๆ ในทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ด้วย เช่น ดาราศาสตร์และธรณีวิทยา เป็นต้น

ประเด็นนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะในยุคของอริสโตเติลนั้น ยังไม่มีการแยกสาขาของความรู้ออกเป็นวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ แต่พยายามมองธรรมชาติด้วยเหตุผล โดยที่คนในปัจจุบันเรียกว่า ปรัชญาธรรมชาติ หรือ Natural Philosophy นั่นเอง

แง่มุมที่สาม – ส่วนที่สอง คือเล่ม 4 นี่ ในแง่เนื้อหาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอุตุนิยมวิทยา แต่กล่าวถึงการที่ธาตุทั้ง 4 (คือ ดิน น้ำ อากาศ ไฟ) ก่อตัวเป็นสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารอนินทรีย์ เช่น หินและโลหะ หรือสารอินทรีย์ เช่น เนื้อ ผิวหนัง และเส้นผม

รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสารเหล่านี้ภายใต้อิทธิพลของความร้อน ความเย็น และความชื้น

 

คราวนี้ย้อนกลับไปตรงแง่มุมที่ 2 อีกครั้ง ผมขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากแต่ละเล่มให้พอเห็นภาพ ดังนี้

เล่ม 1 บทนำ กล่าวถึงตำแหน่งแห่งที่ของอุตุนิยมวิทยาในวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติ และสรุปเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง (บทที่ 1) ธาตุองค์ประกอบทั้งสี่ ได้แก่ อากาศ ดิน ไฟ และน้ำ (บทที่ 3) การเกิดเมฆ ฝน และหมอกบางๆ (บทที่ 9) น้ำค้างและฮอร์ฟรอสต์ (บทที่ 10) ฝน หิมะ ลูกเห็บ และความเชื่อมโยงกับฮอร์ฟรอสต์ (บทที่ 11) ลูกเห็บและทำไมมันจึงเกิดในฤดูร้อน (บทที่ 12)

มีจุดน่าสังเกตคือ เล่ม 1 นี่มีเรื่องแนวอื่นๆ ด้วย เช่น ดาราศาสตร์ อย่างดาวตก (บทที่ 4) ดาวหาง (บทที่ 7) ทางช้างเผือก (บทที่ 8) หรือแม้แต่ธรณีวิทยาอย่างการเกิดแม่น้ำ (บทที่ 13)

เล่ม 2 กล่าวถึงลมในแง่มุมต่างๆ เช่น สาเหตุการเกิด ผลกระทบของความร้อนและความเย็นต่อลม และทิศทางของลม (บทที่ 5, 6 และ 7) ฟ้าร้องและฟ้าผ่า ตามทฤษฎีของเอมเพโดคลีส (Empledocles) และอะแน็กซาโกรัส (Anaxagoras) (บทที่ 9)

เช่นเดียวกับเล่ม 1 ในเล่ม 2 มีเรื่องแนวอื่นๆ เช่น มหาสมุทร (บทที่ 1) ความเค็มของน้ำทะเล (บทที่ 2 และ 3) แผ่นดินไหว (บทที่ 7 และ 8)

เล่ม 3 กล่าวถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในบรรยากาศเป็นหลัก เช่น พายุหมุนและสายฟ้า (บทที่ 1) การทรงกลดและรุ้งกินน้ำ (บทที่ 2) การทรงกลดและรูปร่างต่างๆ ของมัน (บทที่ 3) รุ้งกินน้ำและลักษณะปรากฏ (บทที่ 4 และ 5) และปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เลียนแบบ (บทที่ 6)

มีจุดสังเกตว่า “พายุหมุน” ในบทที่ 1 ของเล่ม 3 นี้ เอกสารภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า hurricane และ/หรือ typhoon ซึ่งในปัจจุบันหมายถึง พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) แต่ในบทความวิจัยเรื่อง Theories on Tornado and Waterspout Formation in Ancient Greece and Rome เขียนโดยบ็อกแดน แอนโตเนสคู (Bogdan Antonescu) และคณะ ตีความว่า “พายุหมุน” ดังกล่าวน่าจะหมายถึงทอร์นาโด (tornado) และนาคเล่นน้ำ (waterspout)

 

หนังสือชุดมีทีโอโรลอจิกาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อย่างหลากหลาย ไล่เรียงตามเวลาดังนี้

ก่อนคริสต์ศักราชราว 1 ศตวรรษ ได้รับการแปลเป็นภาษาละตินโดยนักวิชาการชาวโรมันชื่อ Gaius Julius Hyginus.

ศตวรรษที่ 9 ได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับโดยนักปรัชญาและพหูสูตชาวเปอร์เซียชื่อ Al-Kindi

ศตวรรษที่ 12 ได้รับการแปลเป็นภาษาฮีบรูโดยนักปรัชญาชาวยิวชื่อ Moses ben Maimon หรือบางครั้งรู้จักกันในนามว่า Maimonides

ศตวรรษที่ 13 ฉบับภาษาละตินที่แปลโดย James of Venice ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป

ศตวรรษที่ 16 ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ Guillaume Bud?

ศตวรรษที่ 17 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยนักเขียนและนักแปลชาวอังกฤษชื่อ Thomas Stanley

หนังสือมีทีโอโรลอจิกาชุดนี้สำคัญตรงไหน?

ข้อเท็จจริงก็คือ ความรู้เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาในโลกตะวันตกถูกครอบงำโดยความคิดของอริสโตเติลผ่านงานเขียนชิ้นนี้มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาธรรมชาติ เช่น ใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าได้แม่นยำขึ้น ใช้อุปกรณ์ทำการทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน ใช้คณิตศาสตร์เพื่อสร้างแบบจำลองอธิบายปรากฏการณ์ ฯลฯ ย่อมส่งผลให้คำอธิบายของอริสโตเติลถูกท้าทายและตรวจสอบ

เนื่องจากอริสโตเติลเขียนหนังสือชุดนี้ขึ้นราว 340 ปีก่อนคริสต์ศักราช นั่นย่อมแสดงว่ามีทีโอโรลอจิกามีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนจำนวนมากมายาวนานราว 2 พันปีเลยทีเดียว!