ทำไมนักฟุตบอลกุมศีรษะ เวลายิงประตูพลาด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ทำไมนักฟุตบอลกุมศีรษะ

เวลายิงประตูพลาด

 

การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ 2023 รอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอิรัก สนุก ตื่นเต้น เร้าใจมาก

ในการแข่งขันฟุตบอล โดยปกติแล้วโอกาสที่จะยิงประตูได้สักหนึ่งลูกไม่ใช่เรื่องง่ายดายเหมือนกับการชู้ตลูกบาสเกตบอลลงห่วง

เพราะฉะนั้น เวลาที่ทีมใดยิงประตูได้ ทั้งนักฟุตบอล โค้ช และแฟนฟุตบอลของทีมนั้นจะดีใจกันอย่างสุดเหวี่ยง

แต่เวลาที่นักฟุตบอลคนใดก็ตามมีโอกาสยิงประตูแบบจะๆ แล้วยิงไม่เข้า เราจะสังเกตเห็นว่าพวกเขาแสดงอากัปกิริยาอย่างหนึ่งออกมาเหมือนกันหมด

คือยกมือทั้งสองข้างขึ้นกุมศีรษะ (Hands on head)

นี่เป็นภาษาสากล ซึ่งทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเป็นการสื่อถึงความผิดหวัง เป็นอาการที่แสดงออกมาโดยธรรมชาติแบบไม่ต้องมีใครอธิบาย

แต่คำถามคือการกุมศีรษะเวลายิงพลาดมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นหรือเปล่า

 

เจสสิก้า เทรซี่ (Jessica Tracy) อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริทิช โคลัมเบีย (University of British Columbia) อธิบายว่า การกุมศีรษะของนักฟุตบอลคือการบอกเพื่อนร่วมทีมเป็นนัยๆ ว่า “ฉันยอมรับว่าฉันพลาดไปแล้ว ขอโทษด้วยเพื่อนๆ ได้โปรดอย่าเขี่ยฉันออกจากทีมเลย”

ความจริงแล้วไม่ใช่แค่คนยิงพลาดเท่านั้นที่แสดงอาการกุมศีรษะ เราจะสังเกตว่าเกือบทุกคนในสนามที่อยู่ทีมเดียวกัน รวมถึงแฟนบอล จะพร้อมใจยกมือทั้งสองข้างขึ้นมากุมศีรษะไว้โดยไม่ได้นัดหมายเวลาที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในเกมฟุตบอล

ซึ่งคนที่ติดตามเกมฟุตบอลทั้งระดับทีมชาติและสโมสรต้องเคยเจออากัปกิริยานี้จากนักฟุตบอลและแฟนๆ อยู่บ่อยครั้ง

 

ในหนังสือ “The Soccer Tribe” (ชนเผ่าฟุตบอล) ซึ่งเขียนโดย เดสมอนด์ มอร์ริส (Desmond Morris) นักสัตววิทยา บอกว่าการกุมศีรษะของนักฟุตบอล คือรูปแบบหนึ่งของการสัมผัสตัวเอง (Auto contact) เพื่อปลอบตัวเองทำให้รู้สึกสบายกายและใจเช่นเดียวกับที่คนชอบลูบหนวด ดึงติ่งหู นวดมือ ดึงนิ้ว นวดด้านหลังคอ

อากัปกิริยาเหล่านี้เรียกว่า “pacifiers” เป็นการทำเพื่อบรรเทาความเครียดและกลับมาทำให้รู้สึกมั่นใจอีกครั้ง เหมือนกับเวลาที่พ่อแม่สัมผัสตัวเพื่อปลอบประโลมเราในวัยเด็ก แต่เวลาไม่มีใครมาช่วยปลอบประโลมในขณะนั้น เราก็ต้องจัดการช่วยเหลือตัวเองเหมือนกับที่นักฟุตบอลชอบกุมศีรษะเวลารู้สึกผิดหวัง ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้ก็พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดด้วยเช่นกัน

โคบี้ โจนส์ (Cobi Jones) อดีตกองกลางทีมชาติสหรัฐอเมริกาและทีม LA Galaxy วัย 53 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลทางโทรทัศน์ เข้าใจถึงอารมณ์เวลาที่นักฟุตบอลมีโอกาสทองที่จะยิงประตูได้แต่พลาดอย่างไม่น่าเชื่อ

เขาเคยให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่าการหวดลูกฟุตบอลไปซุกก้นตาข่ายเป็นสิ่งที่เราฝึกฝนวันแล้ววันเล่า แต่เมื่อถึงเวลาจริงเรากลับพลาดโอกาสง่ายๆ ที่ไม่ควรพลาด การกุมศีรษะจึงเป็นการแสดงความรู้สึกไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองและรู้สึกอับอายในความผิดพลาด

 

นอกจากความผิดพลาดง่ายๆ ของคนยิงประตูแล้ว การกุมศีรษะยังใช้กันทั่วไปในสถานการณ์ที่ผู้รักษาประตูทีมคู่แข่งป้องกันลูกยิงที่กำลังจะเข้าประตูได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่ง ดร.เดวิด โกลด์แบลตต์ (Dr. David Goldblatt) นักประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษบอกว่า ตามสถิติไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่คุณมีโอกาสจะๆ แล้วยิงพลาดง่ายๆ หรือถูกผู้รักษาประตูป้องกันลูกที่ยิงออกจากเท้าได้อย่างยอดเยี่ยม อากัปกิริยาของคนยิงก็จะแสดงอาการกุมศีรษะเหมือนกันเป๊ะ

ดร. ดาเคอร์ เคลต์เนอร์ (Dr. Dacher Keltner) อาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) บอกว่าเวลามีเหตุการณ์ทำให้เราเกิดอาการสะดุ้งตกใจแบบไม่ทันตั้งตัว ร่างกายเรามักจะตอบสนองด้วยการยกมือทั้งสองข้างขึ้นกุมศีรษะเป็นสิ่งแรกโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับศีรษะ เป็นพฤติกรรมตอบสนองตามสัญชาติญาณที่มีมาตั้งแต่เกิด

ดร.เคลต์เนอร์ เคยทดลองด้วยการใช้เสียงที่ดังขึ้นมาอย่างเฉียบพลันเพื่อทดสอบการตอบสนองทางอารมณ์ของอาสาสมัครที่ร่วมศึกษา และพบว่าอาสาสมัครที่ร่วมทำการทดลองเรื่องเสียงมีการตอบสนองที่คล้ายกับนักฟุตบอลเวลายิงพลาดไปแบบเฉียดฉิว

ดร.เคลต์เนอร์บอกว่า เวลาที่เราได้ยินเสียงดังมากๆ แบบไม่ทันตั้งตัว เราจะมีความรู้สึกว่าอาจมีอะไรบางอย่างมาโดนศีรษะ ซึ่งศีรษะมีความบอบบางและเป็นส่วนสำคัญมากของร่างกาย เราจึงเลือกใช้มือป้องกันศีรษะไว้ก่อนโดยธรรมชาติ

เช่นเดียวกันกับเวลาที่เกิดสถานการณ์หวุดหวิด หรืออาการเจ็บปวดทางจิตใจ เราก็จะใช้มือทั้งสองข้างกุมป้องกันศีรษะไว้

 

นอกจากการกุมศีรษะแล้ว นักฟุตบอลอาจมีอากัปกิริยาอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การเอามือหรือเสื้อปิดบังหน้าไว้ เป็นการแสดงออกถึงความอับอายอีกแบบหนึ่ง

หรืออาจแหงนมองฟ้าเพื่อร้องขอให้คนเข้าใจว่าความผิดพลาดครั้งนี้เป็นเพราะโชคชะตาไม่เข้าข้าง

มากกว่าจะมาโทษว่าตนเองทำผิดพลาด