‘เศรษฐา’ กับ ‘สื่อ’ ความปกติ-ที่ไม่ปกติ | เหยี่ยวถลาลม

“สื่อ” ทั้งในแง่มุมสื่อกระแสหลักและพื้นที่สื่อสารเสรีในโลกโซเชียลอาจรู้สึกผ่อนคลายขึ้นภายหลังประเทศได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

การทำหน้าที่จับผิด ตีแผ่ หรือการเปลือยให้เห็นตัวตนของคนคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจและทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภา รองประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ส.ส. ส.ว. ตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและอื่นๆ ทั้งหลายซึ่งล้วน “จำเป็น” สำหรับสื่อ

ไม่เพียงสื่อสามารถล้วงลึกเรื่องงาน ในแง่ที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” แม้แต่ “พื้นที่ส่วนตัว” บางทีก็ต้องยอมให้สื่อล่วงล้ำได้หาใช่ทำตัวทำใจเปราะบางช่างฟ้อง

ต้องไม่ลืมว่าการทำหน้าที่ของ “ผู้นำทางการเมือง” หรือผู้นำองค์กรมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนและประเทศชาติ บางครั้งถึงขั้นกล่าวได้ว่า ได้-เสียชนิดที่ “ไม่อาจประเมินได้”

ดังเช่น อดีตรัฐมนตรีสงครามและอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “โตโจ ฮิเดกิ” ออกคำสั่งให้ฝูงบินรบโจมตีกองเรือสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ผลก็คือ ระเบิดปรมาณูลงที่ “ฮิโรชิมา” และ “นางาซากิ” และญี่ปุ่นแพ้สงคราม “โตโจ ฮิเดกิ” ผู้นำที่เคยได้ชื่อว่ากล้าหาญและเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์แห่งสงครามถูกนำตัวขึ้นศาลทหารระหว่างประเทศและถูกประหารชีวิต

 

เกือบ 10 ปีมานี้ ประเทศไทยเพิ่งจะได้ “ผู้นำทางการเมือง” ที่มาจากพลเรือนเป็นคนแรก

“เศรษฐา ทวีสิน” ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” โดยที่ไม่ได้ใช้ “ปืน” จี้บังคับ หรือยึดอำนาจ

นายเศรษฐาจึงนับเป็น “ความแปลกแยก” อย่างหนึ่งสำหรับผู้คนจำนวนหนึ่ง!

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการโพสต์หรือการพูดของนายเศรษฐา มักจะมีคำว่า “ครับ” ต่อท้ายเสมอ

“การโพสต์” และ “พูด” ของนายเศรษฐาก็นับเป็น “ความแปลกแยก” ผิดแผกแตกต่างไป

เกือบ 10 ปีมานี้ การสื่อสารของผู้นำทางการเมืองจะไม่ใช้คำพูดในลักษณะเดียวกับนายเศรษฐา

ผู้นำทางการเมืองจะต้องวางก้าม ท่วงท่านักเลงโต สีหน้าขึงขัง ตาขุ่นข้น วาจาหยาบคาย เอะอะโวยวาย คล้ายคนสติแตก ออกอาการหงุดหงิดรำคาญ ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด บางครั้งก็ถึงขั้นด่าทอไอ้ห่า ไอ้บ้าก็มี

ไม่ชอบเจรจาพาทีกับคน แต่สนใจคุยกับหมูหมากาไก่ ช้างม้าวัวควาย!

“เศรษฐา” เป็นความแปลกแยก จึงถูกสื่อจับตาอิริยาบถตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประเด็น “เศรษฐาโยนปากกา” นั้นเกิดขึ้นจะเปลือยให้เห็นตัวตนว่าเป็น “คนใจร้อน” แต่คุณเศรษฐาก็เผยความในว่า ถึงแม้จะเป็นนักธุรกิจมาก่อน แต่ก็ตั้งใจและยืนยันว่ามาทำหน้าที่ทางการเมืองเพราะความรักประเทศชาติกับอยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

ที่สำคัญ “เศรษฐา” เป็นสุภาพชนที่มาตามครรลอง

ไม่ได้ใช้ “ปืน” หรือกองกำลังอันใดบีบบังคับขู่เข็ญแย่งชิงจากผู้ใดมา!

 

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ในวันที่ “นายกฯ เศรษฐา” เป็นประธานแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่น 65) ได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…โดยส่วนตัวไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ แต่อยากฝากว่า ที่นี่เป็นสถานให้ความรู้ทุกศาสตร์ คอนเน็กชั่นที่ท่านได้รับจากสถาบันนี้จะให้ประโยชน์กับหน้าที่การงานของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ประชาสังคมหรือต่อยอดธุรกิจได้อย่างมหาศาล คอนเน็กชั่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นประโยชน์แก่ท่านอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงองค์กรต่างๆ ขอให้แพร่กระจายไปยังครอบครัวและชุมชนของท่าน ถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยเหลือคนตัวเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมความยากจนที่เพื่อนร่วมชาติเผชิญอยู่…”

เนื้อหาดีมาก งดงาม ไม่มีความน่าเกลียดตรงไหนเลย แต่กลับมีบางสื่อกระพือสำนวนกระแหนะกระแหนว่า “นายเศรษฐาคงไม่ได้เข้าเรียน วปอ.ละซิท่า”

ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนับเป็นความแปลกแยกในประเทศที่อุดมไปด้วยรัฐประหาร!

10 ปีมานี้ ยังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหน “กล้า” กล่าวด้วยเนื้อหาสาระแบบนี้มาก่อน ทุกถ้อยคำของ “เศรษฐา” ที่กล่าวกับนักศึกษา วปอ.รุ่น 65 เป็นคำพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่อ้อมแอ้ม นับเป็นคำพูดที่มีทั้ง “ศักดิ์” และ “สิทธิ์” จากนายกรัฐมนตรีพลเรือน!

ทำไมชะตากรรมของ “ประยุทธ์” จึงไม่เป็นเช่น “เศรษฐา”

 

โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจทุกตารางกิโลเมตร “กูรู” ที่เคยมุดเก็บเนื้อเก็บตัวดาหน้ากันออกมาค่อนแคะชำแหละยับว่าทำลายความมั่นคงทางการเงินการคลัง ไร้ความรับผิดชอบ สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น สร้างนิสัยขาดวินัยทางการเงินให้ประชาชน

สมัย “ประยุทธ์” แจกดื้อๆ ไม่เคยได้ยินเสียงค้านให้รำคาญหู

โครงการรถไฟฟ้ายิบๆ ย่อยๆ ที่ตกค้าง “ประยุทธ์” เอามาอวดโชว์เป็นผลงานชิ้นโบแดง ทั้งที่ก่อนหน้านั้น “รัฐบาลพลเรือน” แถลงต่อรัฐสภา โครงการเครือข่ายคมนาคมครบถ้วนทั้งบก เรือ อากาศ เตรียมผุดเมืองธุรกิจใหม่ขึ้นค่อนประเทศ คนไทยจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงกันตั้งแต่ปี 2563

แต่กลับกลายเป็น “ของต้องห้าม” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสร้างหนี้ ชาตินี้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ใช้ไม่หมด ให้รอจนกว่าถนนดินลูกรังหมดไปเสียก่อน แล้วค่อยคิดมี “รถไฟความเร็วสูง”

รัฐบาลพลเรือนมาดีๆ พูดดีๆ คิดทำในสิ่ง “เชื่อว่าดี” ถ้าหากผิดก็ยังมี “ฝ่ายค้าน” ตรวจสอบ ถ่วงดุล ตีแผ่ข้อมูลข่าวสารให้ “ประชาชน” ได้รับรู้และตัดสิน รัฐบาลต้องพึ่งพาอาศัยประชาชน เงี่ยหูฟัง สำรวจและประเมินอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

อย่างน้อยก็ต้องมีการรับปากว่า จะทำอะไรให้สำเร็จได้อย่างไร

 

ถึงแม้รัฐบาล “เศรษฐา 1” จะถูกเรียกว่า ลูกผสม จนหลายคนผิดหวัง

(ผสมพันธุ์กับพรรคการเมืองเดิมๆ ที่เคยเป็นเหมือนนั่งร้านให้อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้สืบทอดอำนาจ)

แต่กระบวนการเข้าสู่ “อำนาจรัฐ” ของ “เศรษฐา” ก็เป็นไปตามครรลองระบอบรัฐสภา (ถึงแม้จะบิดเบี้ยว)

ไทยจะก้าวข้ามจาก “ความล้าหลัง” ทางการเมืองสู่ “พัฒนาแล้ว” ก็ด้วยการให้โอกาสรัฐบาลพลเรือน

สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ใช้ “ปืน” ไม่ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญแย่งยึด

ประเทศและประชาชนจะผาสุกกว่าหรือไม่!?!!