Audiolab Omnia ทุกคำตอบของ ‘เสียง’ ในหนึ่งเดียว

Micro Hi-Fi stereo system mockup, Network receiver, cd and mp3 player, 3d rendering

ที่จ่าหัวเอาไว้เป็นภาษาไทยนั่น ผมแผลงความมาจากที่ผู้ผลิตให้นิยามเครื่องรุ่นนี้ของเขาว่า The All Encompassing Audio Solution ครับ และบอกตรงๆ ว่าเป็นเครื่องที่แรกเห็นนั้น ก็ไม่ได้คิดดอกนะครับ ว่าเป็นเครื่องของค่ายนี้ เนื่องเพราะแต่ไหนแต่ไรมา Audiolab ทำเครื่องออกมาด้วยหน้าตา ‘จืดสนิท’ ชนิดที่มิพักแปะยี่ห้อ ก็บอกได้ว่าใช่เลยต่อให้เห็นขณะอยู่นอกร้านก็เถอะ ซึ่งในยุทธจักรเครื่องเสียงก็มีไม่กี่เจ้าที่มีความสามารถพิเศษเชิงนี้

แต่จะว่าไป, นั่นก็ถือว่าดีไปอย่างเหมือนกัน เพราะเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แฟนานุแฟนเข้าหาได้ไม่ผิดตัว แถมยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ต้องเข้าไปดูใกล้ๆ ทุกครั้งที่เห็นอีกด้วย ด้วยหากเป็นรุ่นที่เพิ่งออกมาใหม่ก็จะได้ไม่ตกข่าวไงคุณ (ฮา)

แต่ก่อนจะไปถึงเครื่องที่ว่า มาทำความรู้จักกับเครื่องเสียงค่ายนี้พอเป็นสังเขปกันหน่อยนะครับ

 

นี้, เป็นแบรนด์สัญชาติสหราชอาณาจักรที่อายุอานามยังไม่กี่มากน้อยนัก เนื่องเพราะก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1983 โดยสองสหายศิษย์เก่า Imperial College คือ Philips Swift และ Derek Scotland ที่ต่างก็มีความชื่นชอบและหลงใหลในเสียงดนตรีเหมือนๆ กัน รวมทั้งออกจะผิดหวังกับเครื่องเสียงหลายๆ ชิ้น ที่พวกเขาพบว่าให้สุ้มเสียงออกมาเป็นที่น่าพอใจ นำเสนอเสียงดนตรีที่น่าฟัง ทว่า ในสายตาของพวกเขาแล้ว เครื่องพวกนั้นส่วนใหญ่บ้างก็มีราคาแพงเกินไป ในขณะที่บ้างก็ออกจะยุ่งยากในการใช้งานไม่ค่อยจะน้อยเลย

จึงอย่ากระนั้นเลย, ไหนๆ ก็พอจะมีฝีมือทางด้านนี้กันอยู่บ้าง ทั้งคู่ก็เลยออกแบบและผลิตเครื่องออกมากันเอง โดยเริ่มที่หัวใจหรือศูนย์กลางของระบบเสียงก่อน นั่นก็คือแอมปลิไฟเออร์ครับ

และเพียงเครื่องรุ่นแรกภายใต้แบรนด์ Audiolab ออกสู่ตลาดด้วย Model 8000A อินติเกรตเต็ด แอมป์ มันก็ได้รับการขานรับในเชิงบวกอย่างรวดเร็ว ทั้งจากสื่อและคนเล่นเครื่องเสียงที่ล้วนให้ความเห็นคล้อยตามกัน ทำนองว่าเป็นเครื่องที่ออกมาเพื่อยกระดับเครื่องในกลุ่มราคาประหยัดอย่างแท้จริง เป็นเครื่องที่ถึงพร้อมในความน่าเชื่อถือ ความสะดวกในการใช้งาน ความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรม ทั้งยังให้สุ้มเสียงที่ไพเราะ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นเครื่องระดับตำนานของค่ายมาจนทุกวันนี้ ที่นักเล่นกลุ่มวินเทจยังคงตามหากันอยู่

และที่น่าปลื้มก็คือ Audiolab 8000A ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบรรดา 12 of the Best British Stereo Amplifiers of All Time ที่นิตยสาร What Hi-Fi?/UK เพิ่งจะปรับปรุงรายชื่อครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากกับแอมป์รุ่นแรก ออดิโอแล็บก็มีเครื่องเสียงประเภทอื่นๆ ตามออกมาแบบครบวงจร ทั้งเครื่องแอมปลิไฟเออร์แบบแยกชิ้น ปรีแอมป์/เพาเวอร์-แอมป์ เครื่องรับวิทยุที่เป็น FM Tuner เครื่องเล่นซีดีทั้งแบบเดี่ยวและแบบแยกภาคขับหมุนแผ่น (Transporter) และภาคแปลงรหัสสัญญาณ (DAC : Digital-to-Analogue Converter) เป็นแต่ละเครื่องออกจากกันด้วย ซึ่งเครื่องแต่ละรุ่นที่ออกมาต่างได้รับการตอบรับทางด้านการตลาดเป็นอย่างดี เป็นที่นิยมใช้กันในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม, ในปี ค.ศ.1998 แบรนด์ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของ McLaren Group ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น TAG McLaren Audio

แต่หลังจากนั้นไม่นานถึงต้นทศวรรษที่ 2000 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แบรนด์จึงได้ประกาศหยุดการพัฒนาตั้งแต่กลางปี ค.ศ.2003 และหลังจากได้มีการทบทวนในเชิงกลยุทธ์ด้านต่างๆ แล้ว ก็ได้ถูกขายต่อให้กับกลุ่ม IAG (International Audio Group – สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน) ที่มีแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำอยู่ในมือมากมาย อาทิ Wharfedale, Mission, Quad, Luxman และ Castle Acoustics เป็นต้น

ในที่สุดแบรนด์ Audiolab ก็กลับเข้าสู่ยุทธจักรเครื่องเสียงอีกครั้งในปี ค.ศ.2005 พร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งแบบสเตรีโอ 2-แชนเนล และเครื่องในกลุ่มมัลติ-แชนเนล ออดิโอ

และจากการเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาของขาใหญ่อย่าง IAG นี้เอง ที่ทำให้เครื่องเสียงของออดิโอแล็บพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมคว้ารางวี่รางวัลจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะทางฝั่งยุโรปหรือฟากอเมริกาเหนือมาได้มากมาย หลายรุ่น โดยเฉพาะกับเครื่องในกลุ่มแอมปลิไฟเออร์และเครื่องเล่นซีดี ทั้งแบบรวมชิ้นและแยกชิ้นทั้งสองประเภท

ปัจจุบันออดิโอแล็บมี Jan Ertner เป็นหัวเรือใหญ่ทางด้านงานวิศวกรรมอิเล็กทรอนิส์ (Lead Engineer Electronics) ในการออกแบบเครื่อง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากว่า 25 ปี เขาบอกว่าความสุขในการฟังเพลงคือพลังในการผลักดันให้ทำงานด้านนี้ และให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

แล้วให้ยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้สร้างความเพลิดเพลินอย่างมากให้กับผู้คนที่ได้สัมผัสมัน พร้อมย้ำว่าเขายังมีพลังผลักดันอีกมากกว่ามากที่จะช่วยให้ทำงานด้านนี้ไปได้อีกนานแสนนาน

 

กลับมาที่เครื่องซึ่งใคร่แนะนำให้รู้จักเที่ยวนี้ดังที่จ่าหัวไว้กันครับ

เป็นเครื่องที่กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ว่าสามารถก้าวข้ามคำค่อนแซะมานานช้าทำนองว่า – อะไรๆ ก็พัฒนาก้าวล้ำบางทีก็ก้าวนำเทคโนโลยีไปได้อย่างน่าทึ่ง แต่กับรูปร่างหน้าตาเครื่องแล้ว ค่ายนี้ไม่เคยก้าวไปไหนบ้างเลย, ได้อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ โครงสร้างตัวถังเครื่องขึ้นรูปด้วยโลหะสีเงินด้วยฝีมืออันประณีตยิ่ง แลดูกลมกลืนไปกับแผงหน้าปัดที่ดูเรียบง่ายแบบน้อยนิด ทว่า ให้ความลงตัวกับภาพลักษณ์โดยรวมได้มากยิ่งนัก

ยิ่งรู้ว่าภายใต้หน้าตาที่แลเรียบแบบแอบหรูนั้น ได้รวมภาคการทำงานต่างๆ เอาไว้อย่างครบครันในหนึ่งเดียว ที่เพียงนำลำโพงมาต่อใช้งานก็สามารถรังสรรค์ระบบเสียงสเตรีโอออกมาได้ในทันทีแล้ว, ก็ให้ทึ่งมากขึ้นไปอีก

เพราะ Audiolab Omnia เครื่องนี้มันเป็นทั้งอินติเกรตเต็ด แอมป์ เป็นเครื่องเล่นซีดี และยังเป็นสตรีมเมอร์ในตัวด้วย สมกับที่ผู้ผลิตบอกว่ามันเป็นคำตอบในเรื่องของเสียงที่ครอบคลุมอย่างแท้จริง

ด้วยปกติแล้วเครื่องเล่นประเภทนี้เท่าที่พบเห็นส่วนใหญ่ในตลาด มักจะเป็นการรวมแอมป์กับสตรีมเมอร์เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น น้อยมากที่เครื่องคุณภาพสูงระดับนี้จะผนวกภาคเล่นแผ่นซีดีเข้ามาไว้ด้วย ยิ่งเมื่อดูในข้อมูลแล้วพบว่าภาคขับหมุนแผ่นที่ใช้นั้น เทียบเคียงได้กับเครื่องแยกชิ้นที่เป็น CD Transport รุ่น 6000CDT ของออดิโอแล็บเองด้วยแล้ว ยิ่งน่าทึ่งไปกันใหญ่ เพราะรับรู้ได้ว่ามิเพียงใส่มาเพื่อให้ครบๆ หรือแลดูมากกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ให้มาแบบหวังผลเอาจริงเลยทีเดียว

อีกทั้งเมื่อพิจารณาที่แผงหลังเครื่องเห็นอินพุต/เอาต์พุตขั้วต่อต่างๆ แล้ว มันให้รับรู้ได้ว่าเป็นเครื่องที่ให้ความคุ้มค่าสูงมาก เพราะพร้อมรองรับทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับดิจิทัล ดาต้า ให้ทั้ง USB-A, USB-B รวมทั้งพอร์ต Ethernet มีดิจิทัล อินพุต/เอาต์พุต และอะนาล็อก อินพุต ให้อย่างเหลือเฟือ แยกเสารับชุดคลื่นสัญญาณ Wi-Fi และ Bluetooth ออกจากกัน รวมทั้งยังมีปรี เอาต์ ให้ด้วย

ดูๆ ไปแล้ว, ให้รู้สึกว่าอะไรมันจะให้มาครอบคลุมได้มากมายขนาดนี้ เหลือเชื่อเอามากๆ

เที่ยวหน้าว่ากันต่อครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]