ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (12)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่ต้องเล่าเรื่องสำนักลื่อซาน เพื่อที่จะได้ทราบความเป็นมาเป็นไปในทางพิธีกรรม เพราะแม้ธรรมเนียมเซ่นไหว้แบบชาวบ้านจะมีคติคล้ายกันเกือบทุกที่ แต่พอเข้ามาในรายละเอียดของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การปลุกเสกองค์เทพเจ้าหรือการสถาปนาแท่นบูชาก็มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากสำนักวิชาเหล่านี้นั่นเอง

อีกทั้งการที่ผมได้เชิญอาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง มาเป็นผู้ประกอบพิธีนี้ในบ้านของตัวเอง ก็มิใช่เพียงจากคุณสมบัติอันเยี่ยมยอดทั้งด้านความรู้และคุณธรรมของท่านเท่านั้น

แต่เพราะอาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีสายลื่อซานที่เข้าใจที่มาที่ไปเป็นอย่างดี ตัวผมเองก็จะได้โอกาสเรียนรู้ศึกษาพิธีกรรมอย่างเดียวกับที่บรรพชนได้เคยทำมาด้วย เพราะสายวิชานี้รักษากันไว้ได้ในหมู่คนฮกเกี้ยนโพ้นทะเล

ความรู้ในบทความส่วนมากก็ได้จากการสอบถามอาจารย์มานี่แหละครับ และหากมีสิ่งใดผิดพลาด ย่อมเป็นความหลงลืมหรือบันทึกไว้ผิดเพี้ยนของผมเท่านั้น

 

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าลื่อซานเป็นสำนักที่เป็นศาสนาผสม ทั้งพุทธ เต๋า ผี คราวที่แล้วเรากล่าวถึงเจ้าสำนักท่านหนึ่งของลื่อซานคือพระปรมาจารย์พ้ออ๊าม ที่จริงลื่อซานยังแบ่งออกเป็นอีกหลายสาย

สายของพระอาจารย์พ้ออ๊ามจะมีกลิ่นอายของพุทธศาสนามากหน่อยและเน้นพิธีกรรมประเภทจกสิ่วหรืองานสิริมงคลตั้งแท่นบูชาสมโภชฉลองพระ

อีกสายหนึ่งของลื่อซานคือสายตำหนักลื่อซาน (ลื่อซานฮวดอี่) มีพระปรมาจารย์องค์สำคัญคือพระคอจินหยินหรือข้อจินหยิน “ผู้วิเศษแซ่คอ” (แต้จิ๋วออกว่าโค้ว)

ท่านผู้นี้เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น เดิมรับราชการเป็นนายอำเภอ ต่อมาออกจากราชการใช้ชีวิตเป็นนักพรตเต๋า ใช้วิชาอาคมช่วยเหลือชาวบ้าน รักษาโรคภัยไข้เจ็บและปราบปีศาจร้าย

ชาวบ้านขนานนามเป็นเทพเจ้าก่ำเทียนไต่เต่ และเพราะเป็นแพทยเทพจึงได้รับการสักการะร่วมกับพระโปเส้งไต่เต่ (หง่อจินหยิน) และพระเทียนอุ่ยไต่เต่ (ซุนจินหยิน) ซึ่งเป็นแพทย์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ ชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่าซำโป้

แพทย์ในความหมายของโลกโบราณแตกต่างกับสมัยปัจจุบัน เพราะแพทย์ในสมัยโบราณมิใช่เพียงผู้รักษาโดยใช้ยาหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์แต่คือผู้ใช้เวทมนตร์หรือจอมเวทย์ด้วย

เนื่องจากการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งอยู่บนฐานคิดที่ต่างกัน โบราณคิดว่าโรคภัยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องร่างกายรือเชื้อโรค แต่ยังเกี่ยวกับภูตผีปีศาจหรือโชคชะตาราศี ผู้เป็นแพทย์จึงต้องมีวิชาอาคมผสานกับความรู้ทางแพทยศาสตร์ในความหมายทั่วๆ ไป

ผมจึงเริ่มถึงบางอ้อขึ้นมาว่า การนับถือแพทยเทพของจีนนั้น ท่านนับถือในฐานะปรมาจารย์ด้านไสยเวทด้วย มิใช่นับถือในฐานะที่เป็นแพทย์ที่รักษาคนหรือนับถือจากคุณงามความดีอย่างเดียว

 

ดังนั้น คอจินหยินจึงนับว่าเป็นปรมาจารย์ในสายตำหนักลื่อซานพร้อมกับปรมาจารย์อีกสององค์ คือพระเหมาซานหงอหลองหรือปรมาจารย์สายเหมาซาน และ “พระอโมฆวัชระ”

พระอโมฆวัชระเป็นบุตรชาวอินเดียกับชาวอุซเบก ท่านเกิดในอุซเบกิสถานในปัจจุบันแต่เข้ามาในจีนสมัยราชวงศ์ถังตั้งแต่ยังเยาวัย หลังบิดาเสียชีวิตก็อยู่ภายใต้การดูแลของท่านวัชรโพธิภิกษุชาวอินเดีย เมื่ออาจารย์มรณภาพลงท่านได้เดินทางไปยังศรีลังกาและอินเดียใต้อยู่ระยะหนึ่งและกลับมาอยู่ในเมืองจีนจวบจนตลอดชีวิต

ท่านเป็นนักแปลที่มีชื่อเสียง ใครสนใจวรรณกรรมพุทธศาสนาของจีนโบราณย่อมเคยได้ยินชื่อพระอโมฆวัชระ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ท่านยังเป็นคณาจารย์ผู้วางรากฐานวัชรยานสายเอเชียตะวันออก คือจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักและแพร่หลายไปสู่ชาวบ้าน

พระฮุ่ยกัวลูกศิษย์ของท่านอโมฆวัชระได้เป็นอาจารย์ของท่านคูไค ผู้นำเอาวัชรยาน (หรือมนตรยาน) จากจีนเข้าไปในญี่ปุ่นในนามพุทธศาสนานิกายชินงอน

วัชรยานสายตะวันออกแตกต่างกับสายตะวันตกหรือสายทิเบตอยู่บ้าง ตรงที่ให้ความสำคัญกับพระไวโรจนะพุทธะและ ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร (มหาไวโรจนตันตระ) เน้นบุรุษภาวะมากกว่าทางสายทิเบตซึ่งมีพระพุทธะและโพธิสัตว์ในอิตถีภาวะหรือผู้หญิงมากกว่า และยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบรรดา “พระวิทยราช” หรือธรรมบาลปางพิโรธที่อยู่ในมณฑลแห่งพระไวโรจนะ ซึ่งไม่ค่อยมีความสำคัญนักในทิเบต

คณาจารย์สายวัชรยานตะวันออก คือพระศุภกรสิงหะ พระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ ได้วางรากฐานของวัชรยานไว้หลายอย่าง ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในฝ่ายมหายานจีน เช่น มุทรา มนต์ และการตั้งมณฑล รวมถึงการท่องบ่นพระธารณี และถือกันว่าพิธีโยคะตันตระ (เอี่ยมค่าว/โยกา) อันนำมาใช้เพื่อเปรตพลีของฝ่ายจีนนิกายนั้น ก็มีพระอโมฆวัชระเป็นบูรพาจารย์ผู้กำหนดแบบแผนไว้

ฝ่ายลื่อซานเองก็มีส่วนประกอบเหล่านี้ในพิธีกรรมด้วย จึงนับถือพระอโมฆวัชระเป็นหนึ่งในคณาจารย์

 

นอกจากนี้ ผมยังไปค้นเจอว่าวัชรยานตะวันออกเค้าถือเอาพระนาคารชุนเป็นปรมาจารย์ต้นสาย กล่าวคือ เชื่อกันว่าคำสอนส่งผ่านจากพระวัชรสัตว์ลงมายังพระนาคารชุน จากพระนาคารชุนไปยังพระนาคโพธิ พระนาคโพธิมายังพระศุภกรสิงหะ (บางแห่งก็ว่าข้ามพระศุภกรสิงหะไป) สู่พระวัชรโพธิ และมาถึงพระอโมฆวัชระโดยลำดับ

ดังนั้น หากชาวลื่อซานมีการใช้โยคะตันตระวิธีซึ่งถือเอาพระอโมฆวัชรเป็นปรมาจารย์ การนับถือพระนาคารชุนคือการย้อนไปยังต้นสายนั่นเอง

ส่วนพระปรมาจารย์คอจินหยินนั้น มีการเชื่อมโยงกับตำนานการสร้างโลกในวรรณกรรมเรื่องไคเภ็ก ว่ากันว่าท่านเรียนวิชาอาคมพร้อมกับพี่น้องร่วมสาบานอีกสิบคนจาก “หมอผีโบราณ” ส่วนเหล่าหมอผีโบราณนั้นเรียนมาจาก “อสูร”

เหล่าอสูรเรียนมาจาก บรรพเทพ “พวนก๊อ” หรือผ่านกู่ซึ่งเป็น “พระสร้างโลก”ในพงศาวดารไคเภ็ก และที่น่าสนใจคือพวนก๊อสร้างโลกโดยพระบัญชาของพระปุนซือเซกเกียมอนีฮุดหรือพระศากยมุนีพุทธเจ้า

 

ในไคเภ็กฉบับเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งมีบัญชาให้หลวงพิพิธภัณวิจารณ์แปลจากภาษาจีนนั้น (แปลขึ้นในราว พ.ศ.2420) มีเนื้อความตอนต้นว่า

“เดิมมีพระองค์หนึ่งเป็นใหญ่อยู่ในโลก ทรงพระนามว่าเซกเกียมองนี่ฮุด เห็นว่าในโลกนี้มีสี่ทวีป แต่ทวีปทิศใต้นั้นเป็นหมอกมัวมืดคลุ้มอยู่ ครั้นพระองค์เห็นอย่างนั้นแล้วก็มีความกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก จึงตรัสถามศิษย์องค์หนึ่งซึ่งมีนามว่าพระออนั้นว่า ท่านได้รู้เห็นหรือไม่ว่าในโลกนี้มีสี่ทวีป”

จากนั้น “มีศิษย์องค์หนึ่งชื่อกวนนิมไต้สือทูลว่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดจัดแจงให้เป็นฟ้าเป็นดินขึ้นจึงจะได้”

“ขณะนั้นคุณต่อเป็งชาน้าเฝ้าอยู่ที่นั้นได้ยินพระตรัสดังนั้นก็ยกมือขึ้นนมัสการแล้วหัวร่อ พระทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็รับสั่งแก่คุณต่อเป็งชาน้าว่า เราจะใช้ให้ท่านไปเปิดโลกให้มีฟ้าและดินนั้น”

คุณต่อเปงชาน้าต่อมาได้แยกฟ้าดินสำเร็จและทำจารึกศิลาไว้ว่า “ตัวข้าพเจ้าชื่อพนโกสีย์ ได้มาสร้างฟ้าและดินตามรับสั่งก็สำเร็จแล้ว”

จะเห็นว่าชื่อบุคคลในไคเภ็กฉบับนี้ล้วนเป็นภาษาฮกเกี้ยนทั้งสิ้น เซกเกียมองนี่ฮุดคือพระศากยมุนีพุทธะ ออนั้นคือพระอานนท์ กวนนิมไต้สือคือพระกวนอิม ส่วนพนโกสีย์คือพวนก๊อนั่นเอง (น่าสนใจที่ลากเข้ามาเป็นคำแขกแบบไทยๆ) ต้นตำนานมีนัยเชิดชูพุทธศาสนาในทำนองว่า มีพระบรมพุทธะเป็นองค์ปฐมแห่งการกำเนิดโลกซึ่งมีลักษณะแบบมหายานมากทีเดียว

 

เนื้อเรื่องต่อไปจะพูดถึงวิถีชีวิตคนในยุคบุพกาล ตั้งแต่ยังไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ไม่มีวัฒนธรรมประเพณีอะไร จนเกิดมีวงศ์บรรพกษัตริย์ผู้สอนให้มนุษย์เรียนรู้วิทยาการต่างๆ

ผมจึงคิดว่า “อสูร” หมายถึงเทพพื้นบ้านในจีนยุคดึกดำบรรพ์ หรือมนุษย์ยุคบุพพกาลที่มีองค์ความรู้ทางพืชพันธุ์สมุนไพรและคาถาอาคมอยู่ในป่าในเขา ชาวจีนมักมีจินตนาการว่า คนโบราณไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเรา จึงอาจมองว่าเป็นอสูร และหากมองว่าไคเภ็กสะท้อนตำนานสมัยเซี่ย-ซาง คือยุคแรกแห่งอารยธรรมจีน คอจินหยินจึงเรียนวิชาที่ “เก่าแก่” ที่สุดวิชาหนึ่งคือไสยเวทที่สืบมาจากบรรพกาล

ทั้งยังสะท้อนว่า วิชาเหล่านี้แต่เดิมเป็นของพื้นบ้าน เป็นของคนบ้านป่า ทั้ง “หมอผี” และ “อสูร” จนกระทั่งผู้มีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือนักพรตเต๋า ได้มาเรียนรู้แล้วนำไปปรับใช้จนกลายเป็น “ศาสตร์” ที่มีคำอธิบายและมีรายละเอียดปลีกย่อยไปอีกมาก

จากท่านคอจินหยิน ความรู้ทางไสยเวทได้สืบต่อไปยังศิษย์ของท่านซึ่งได้กลายเป็นเทพเจ้าที่นับถือกันทั้งในหมู่ผู้ใช้วิชาอาคมลื่อซานและบุคคลทั่วไป

จะเป็นใครต่อนั้น โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง