สำรวจนโยบาย ‘ครูใหญ่อุ้ม’ แก้หนี้-แจกแท็บเล็ต-ส่งเสริมการอ่าน

เดินหน้าเข้าทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมมอบนโยบายให้ผู้บริหาร ศธ. รวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศแล้ว สำหรับ “ครูใหญ่อุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ควงแขนมาพร้อมกับนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ด้วยกัน

โดยครูใหญ่อุ้มได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อผลักดันการจัดการศึกษาใน 2 รูปแบบ คือ การเรียนสู่ความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต

ซึ่งแปลงเป็นมายด์แม็ปง่ายๆ เพื่อลดภาระข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้

1. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัย คำนึงถึงบริบทของสถานศึกษา ปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนเงินเดือน และประเมินวิทยฐานะ ให้เชื่อมโยงกัน

2. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น การโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่ซื้อขายตำแหน่ง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และยืดหยุ่น รวมทั้งอาจต้องใช้บทลงโทษที่เข้มงวด กับผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์ในการโยกย้าย นอกจากนี้ สถาบันผลิตครู และหน่วยใช้ครู ร่วมกันสำรวจความต้องการครูแต่ละสาขาวิชาที่ขาดแคลนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งพิจารณาให้ผู้เรียนที่จบกลับมาเป็นครู หรือครูผู้ช่วยในภูมิลำเนาของตนเอง

3. แก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างความเข้าใจในการวางแผนการใช้เงิน หน่วยงานต้นสังกัดประสานการจัดการให้ครูได้รีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยชำระเพียงเงินต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ

4. จัดหาอุปกรณ์การสอนเสริมต่างๆ ให้กับครู เช่น โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต ซึ่งเป็นโยบายรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการสอดรับ บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้เป็นเจ้าของสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และภาครัฐ ในการพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์

 

ส่วนแนวทางลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง มีดังนี้ 1. เรียนทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดหา 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการศึกษา และให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมระหว่างเรียน หรือระหว่างฝึกอาชีพ สร้างโอกาสการมีงานทำ ส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างจริงจัง

จัดหาแท็บเล็ตที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนผู้เรียน ระดับชั้น ม.4-6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 1-3 บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ จัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าสู่แหล่งเรียนรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเครดิตแบงก์ เพื่อเปิดโอกาสให้เรียน และทำงานไปในเวลาเดียวกัน และให้ผู้เรียนเปลี่ยนสาขาได้ เพื่อให้ตรงกับความถนัดของผู้เรียน

2. จัดทำ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ พัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอ หรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำร่องการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรครูเพิ่มเติม โดยใช้เกณฑ์พิเศษ หรือมีงบฯ จัดจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มเติมในวิชาที่ขาดแคลน

3. ระบบแนะแนวการเรียน หรือโค้ชชิ่ง และเป้าหมายชีวิต พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต จัดระบบการแนะแนวผู้เรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถม และมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบแนวทางการเรียน และเป้าหมายชีวิตของตนเอง เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ STEM Education มุ่งเน้นทักษะจากการปฏิบัติจริง และเสริมสร้างความสามารถด้วย Soft Skill ควบคู่การพัฒนา

4. การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพ 5. จัดระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย

และ 6. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ โดย ศธ.ต้องทำข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการต่างๆ

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ป้ายแดง ยังมีข้อสั่งการ และแนวปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้นำนโยบายรัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแอ๊กชั่นแพลนที่เป็นรูปธรรม 2. ป้องกันปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ห้ามซื้อขายตำแหน่ง การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส และได้ของมีคุณภาพ

3. ให้ผู้บริหาร และครู น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และปลูกฝังให้นักเรียน

4. รวมกันใช้พลังงานสะอาด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

5. ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้ ศธ.ผลักดันสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยให้ผู้บริหาร และครู เป็นต้นแบบรักการอ่าน

และ 6. การลงพื้นที่ตรวจราชการ ขอความร่วมมือให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้ารับการตรวจเยี่ยม เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความบกพร่อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบง่าย และประหยัด ประชุมผู้บริหารทุกระดับผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องมีป้ายต้อนรับ รวมถึงไม่ต้องมีของฝาก ของที่ระลึก สิ่งที่จะให้คือการทำงาน

สุดท้าย ครูใหญ่อุ้มขอความร่วมมือตอบแบบสอบถาม เพื่อดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ทำ โดยการทำงานจะยึดหลักการนโยบาย และแผนการทำงานเป็นหลัก แต่ต้องปรับได้ พร้อมรับฟัง เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น

“ผมรับทราบปัญหาส่วนหนึ่งจากคุณพ่อ ซึ่งเคยเป็นครูประชาบาล รวมถึงรับฟังปัญหาจากสถานศึกษาที่เข้าตรวจเยี่ยมแบบไม่แจ้งล่วงหน้าแล้วส่วนหนึ่ง ทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าแม้ไม่มีผม ทุกคนสามารถขับเคลื่อนได้อย่างดี แต่เมื่อมีผมเข้ามาทำงาน จะได้ร่วมขับเคลื่อนให้ดีขึ้นไปอีก โดยผมอยากหาคำที่จะเป็นมอตโต้ง่ายๆ ที่จะใช้ในการทำงานร่วมกันคือ เรียนดี มีความสุข ทั้งผู้เรียน และผู้ปกครอง เพราะถ้ามีความสุขแล้ว จะทำให้การเรียนดีขึ้น”

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

 

สําหรับการแบ่งงาน ครูใหญ่อุ้มกำกับดูแลองค์กรหลักๆ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานปลัด ศธ.

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ให้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)

ต้องติดตามว่า “ครูใหญ่อุ้ม” จะขับเคลื่อนนโยบาย และพาการศึกษาของชาติ ให้พ้นวิกฤตได้หรือไม่!! •

 

ภาพ weekly “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ”

 

| การศึกษา