คลองช่องนนทรี

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองคลองหนึ่ง ที่เดิมเป็นทางน้ำธรรมชาติ และเคยมีบทบาทสำคัญทางด้านคมนาคม ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ด้วยสภาพพื้นที่ราบเรียบภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณใกล้ปากน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีสภาพคดเคี้ยวไปมา ส่งผลให้การเดินเรือยากและล่าช้า ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุและบันทึกของชาวต่างชาติ ที่บรรยายถึงการเดินทางจากปากน้ำ ไปกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้เวลานาน จนต้องขุดคลองลัดหลายแห่ง เพื่อย่นระยะเวลาและระยะทาง

อาทิ ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลอง ลัดแม่น้ำ จากปากคลองบางกอกน้อย ไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งจะช่วยย่นระยะทางได้ช่วงหนึ่ง

เมื่อคลองลัดนี้ถูกกระแสน้ำเซาะขยายกว้างขึ้น จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำสายเดิมนั้น กลับตื้นเขินแคบลง กลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางตอนใต้ของพระนคร มีคลองหนึ่งที่เรือ ใช้เป็นทางลัด ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมคุ้งน้ำบางคอแหลม เรียกขานกันว่า คลอง (ลัด) ช่องนนทรี (ทิศใต้) ที่ลัดถึงคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้ตลาดน้อย ซึ่งเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องมาจากย่านคนจีนในเยาวราช มีคนจีนเข้ารีต นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ตั้งถิ่นฐาน และติดกับย่านการค้า โรงงาน และท่าเรือ ของชาวตะวันตก ตรงบางรัก

เพียงแต่ว่า คลองลัดช่องนนทรีนี้มาจากการปรับแต่งทางน้ำธรรมชาติที่มีอยู่เดิม จึงมีขนาดแคบ และไม่สะดวกในการเดินเรือในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อมีการขุดคลองตรงลัดจากพระโขนง มาถึงคลองผดุงกรุงเกษม ที่สะดวกกว่าคลองช่องนนทรี จึงค่อยลดบทบาทลง กลายเป็นทางน้ำแคบๆ ในเวลาต่อมา

ในปัจจุบัน ช่วงตั้งแต่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนสุรวงศ์ ยังกลายเป็นท่อระบายน้ำบ้าง ถูกถมเป็นซอยบ้าง จึงเหลือเพียงช่วงจากถนนสุรวงศ์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันใช้เป็นแก้มลิงและทางระบายน้ำในฤดูฝน รวมทั้งเป็นท่อระบายน้ำเสียไปยังโรงงานบำบัดน้ำเสีย ถนนพระรามที่ 3

ยังมีการสร้างถนนคู่ขนานสองฝั่งคลอง โดยได้รับพระราชทานนามว่า ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ.2466-2551)

 

การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร ทำให้คลองลัดที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักในการขนส่งทางน้ำ กลายเป็นท่อระบายน้ำฝนและน้ำเสียของย่านธุรกิจสาทร สีลม รวมทั้งบางส่วนได้หายไป

ทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีใครสนใจคลองช่องนนทรี สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง เลยปล่อยเด็กมาเล่นสนุก ออกแบบจัดสวนในคลองแบบเกาหลี ที่ดูวุ่นวาย ไม่สวยงาม

มาถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เห็นมีการก่อสร้างปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำลายสภาพคลองช่องนนทรี ที่เป็นคลองประวัติศาสตร์ อย่างไร •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส