ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องจีน เอเชียตะวันออกและโลกแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างทุนอเมริกันกับทุนจีนในบริบทระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันกับ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig เมื่อต้นปีก่อน (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ผมขอถอดความเรียบเรียง ต่อจากตอนก่อนดังนี้ :
แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์เขียนไว้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจในจีนช่วงหลังปี 2008 นี่เองที่มีส่วนกระตุ้นรัฐจีนให้รวมศูนย์อำนาจการเมืองไว้ภายใต้สี จิ้นผิง ด้วย ซึ่งก็เลยทำให้สหรัฐหันมาเป็นอริต่อจีนยิ่งขึ้นอีกที ขณะเดียวกันนั้น วิกฤตซ้ำซ้อนในสหรัฐก็ทำให้รัฐจีนฮึกเหิมขึ้น และเห็นว่าสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลงท้ายสุด
แล้ววิกฤตปี 2008 มันเร่งรัดให้จีนเปลี่ยนย้ายไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมที่ว่านี้ยังไงครับ?
โฮเฟิง หง : ก่อนอื่นเลยนะครับในปี 2008 นี่แหละที่จู่ๆ จีนก็พบว่าตัวแบบเศรษฐกิจสหรัฐนั้นไม่ได้ไร้เทียมทานและเอาเข้าจริงกลับเปราะบางล่อแหลมยิ่ง ตอนนั้นในจีนและที่อื่นของโลกมีเสียงร่ำลือหนาหูเรื่องการล่มสลายของอำนาจนำระดับโลกของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และการล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐด้วย
เนื่องจากเสียงร่ำลือที่ว่านี้แหละครับ ผู้คนมากหลายรวมทั้งผู้นำจีนด้วยจึงพลอยเชื่อว่าสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลงท้ายสุด กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทั่งเรียกประชุมกลุ่มศึกษาเรื่องการผงาดขึ้นและล่มจมของมหาอำนาจทั้งหลาย พวกเขาสรุปว่าสหรัฐไม่มีวันจะฟื้นตัวในทางเศรษฐกิจหรือในแง่ฐานะทางสากลได้ การคิดเห็นว่าสหรัฐเป็นเช่นนี้ติดตรึงแน่นอยู่ในหัวของผู้นำจีนนับแต่นั้นมา แม้ว่ากล่าวในทางเศรษฐกิจ สหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม
อำนาจนำระดับโลกของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหาได้ล่มสลายลงไม่ และเอาเข้าจริงกลับแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำไป ส่วนเงินสกุลที่ย่ำแย่กลับเป็นยูโรแทนเสียฉิบ
ฝ่ายผู้นำจีนโดยเฉพาะสี จิ้นผิง คิดว่าสหรัฐอ่อนปวกเปียกลงไปมากนับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ฉะนั้น มันจึงเป็นโอกาสที่จีนจะประจันหน้ากับสหรัฐ และจีนเองก็พอจะก้าวรุกมากขึ้นไหว
ขณะเดียวกันมันก็เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจด้วยที่ภายหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 กับการฟื้นตัวของจีนเมื่อปี 2009-2010 แล้วเศรษฐกิจจีนอาจจะสูญเสียพลังขับดันไปและเข้าสู่ภาวะชะงักงันถ้าไม่ถึงกับตกไปอยู่ในวิถีหดตัวเอาเลยทีเดียว ฉะนั้น สำหรับบริษัทจีนจำนวนมากซึ่งรัฐหนุนหลังและกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากแถมติดหนี้สินรุงรัง ยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดก็คือเขมือบส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่างชาติในจีนเสียนั่นเองครับ
เวลาก้อนขนมเปี๊ยะมันใหญ่โตขึ้น ทุกคนย่อมสามารถขยับขยายชิ้นส่วนของตนโดยไม่ไปรุกล้ำส่วนแบ่งคนอื่น แต่ในทางกลับกันเวลาก้อนขนมเปี๊ยะมันไม่ใหญ่โตขึ้นแล้วหรือกระทั่งหดเล็กลง มันก็กลายเป็นเกมลื้อได้อั๊วเสียไปล่ะครับ ฉะนั้น ถ้าคุญอยากขยายกำไรและส่วนแบ่งตลาดของคุณแล้ว คุณก็ต้องเขมือบส่วนแบ่งตลาดและกำไรของคู่ต่อสู้ของคุณเท่านั้นเอง
เผอิญว่าวิสาหกิจหลักใหญ่ในจีนหลายแห่งนั้นเป็นของรัฐโดยตรงเลย หรือมิฉะนั้นก็เป็นวิสาหกิจเอกชนอย่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีที่มีรัฐหนุนหลังและมีเส้นสายกับคนในของรัฐ-พรรคครับ วิสาหกิจเหล่านี้กลายเป็นมีท่าทีก้าวรุกยิ่ง และด้วยความช่วยเหลือจากบรรดาผู้กำกับดูแลของทางการจีน พวกเขาก็เขมือบส่วนแบ่งตลาดของเหล่านักลงทุนต่างชาติในจีนไป
ในหลายกรณี พวกเขายังพยายามรวบยึดเอาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและเบียดขับคู่แข่งต่างชาติออกไปโดยความช่วยเหลือของรัฐจีนอีกด้วย
การแข่งขันระหว่างบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทสหรัฐกับบริษัทจีนภายในตลาดของจีนที่ว่านี้เข้มข้นเสียจนกระทั่งพวกบรรษัทสหรัฐทั้งหลายร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐช่วยด้วย พวกเขาบ่นว่าตนตกเป็นเป้าเพ่งเล็งอย่างไม่เป็นธรรมและถูกบีบคั้นจากคู่ค้าจีนหรือบางทีกระทั่งจากหุ้นส่วนจีนของตน
พลังทางเศรษฐกิจอันเป็นฐานรองรับที่ว่านี้แหละครับที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เลวร้ายลง เมื่อหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนตอนนั้นมาเยือนทำเนียบขาวในปี 2011 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา บอกเขาว่าสหรัฐมีปัญหากับการที่บรรดาบริษัทของตัวในจีนถูกปฏิบัติต่ออย่างไม่เป็นธรรม บริษัทเหล่านี้พากันบ่นเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและเรื่องอื่นๆ ทำนองนั้น ดังนั้น คุณช่วยจัดการแก้ไขเสียดีกว่า นี่เป็นหนแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐเอ่ยถึงปัญหานี้ในที่แจ้งซึ่งเป็นเรื่องที่บรรษัทสหรัฐหลายแห่งพากันบ่นมาก่อนแล้วในที่ลับ
แดเนียล เดนเวอร์ : การที่จีนส่งออกทุนไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังปี 2008 ก็มีส่วนทำให้ยิ่งตึงเครียดขึ้นกับทั้งรัฐบาลและบรรษัทสหรัฐด้วยใช่ไหมครับ?
โฮเฟิง หง : แน่นอนครับ แรกทีเดียวพวกบรรษัทสหรัฐบ่นเรื่องสถานการณ์ในตลาดจีนกับสมาชิกรายอื่นๆ ของหอการค้าอเมริกันในจีน ต่อมา พวกเขาก็บ่นเรื่องตลาดที่สาม ซึ่งหมายถึงตลาดของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ เพราะทางเลือกหนึ่งของรัฐบาลจีนในการเยียวยาปัญหากำไรลดน้อยถอยลงก็คือการช่วยบรรษัทจีนทั้งหลายสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ขึ้นมาในตลาดโพ้นทะเล
นี่ก็คือภูมิหลังที่มาของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั่นแหละครับ ซึ่งรัฐบาลจีนกับธนาคารของรัฐจีนปล่อยเงินกู้ให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย อย่างปากีสถาน คาซัคสถาน และศรีลังกา รวมทั้งในตะวันออกกลางและกระทั่งยุโรปด้วย แถมเอาเข้าจริงยูเครนก็เป็นหนึ่งในเหล่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับเขาด้วยเหมือนกัน
เมื่อธนาคารของรัฐและหน่วยงานรัฐจีนทั้งหลายปล่อยกู้ สิ่งที่ผู้คนค้นพบก็คือตามธรรมเนียมแล้ว เงินกู้จากไอเอ็มเอฟเอย ธนาคารโลกเอย และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเอย ล้วนแต่มีเงื่อนไขเชิงนโยบายพ่วงติดมาด้วยทั้งนั้น อาทิ ถ้าคุณกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ คุณต้องดำเนินนโยบายแบบยุโรปบางอย่าง เป็นต้น
ทว่า เงินกู้ของจีนไม่มีเงื่อนไขเบื้องต้นเรื่องนโยบายอะไรประเภทนี้อยู่เลยนะครับ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารของรัฐและหน่วยงานรัฐจีนนั้นกลับมีเงื่อนไขเบื้องต้นด้านการจัดหา (procurement) ในการปล่อยเงินกู้ดังที่ผู้คนพบเจอเข้าแล้วตอนนี้ กล่าวคือ ถ้าคุณยืมเงินจากหน่วยงานจีนละก็ คุณจะได้รับอนุญาตให้ใช้เงินนั้นจ้างบริษัทจีนและใช้วัสดุกับผลิตภัณฑ์จีนมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนามกีฬา ทางรถไฟ ถนนหลวงหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือของคุณครับ นี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจากภายนอกอย่างโจ๋งครึ่มยิ่ง นั่นคือบรรดาธนาคารจีนปล่อยเงินกู้ให้ต่างประเทศทั้งหลายแหล่ในโลกกำลังพัฒนา เพื่อสร้างอุปสงค์สำหรับเหล็กกล้าเอย รถไฟความเร็วสูงเอย โรงไฟฟ้าถ่านหินเอยซึ่งจีนมีอุปทานอยู่ล้นเกิน
ตัวอย่างเช่น ธนาคารจีนปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยใช้ผู้รับเหมาจีนกับวัสดุจีน ด้วยวิธีการเช่นนี้ จีนก็ส่งออกสมรรถภาพการผลิตล้นเกินของตนไปยังเหล่าประเทศกำลังพัฒนา แถมยังส่งแรงกดดันเชิงแข่งขันต่อบรรดาบริษัทอเมริกัน ยุโรปและญี่ปุ่นในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ด้วย
ตัวอย่างน่าสนใจยิ่งตัวอย่างหนึ่งได้แก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลก่อสร้างอย่างบริษัทแคเทอร์พิลลาร์ในสหรัฐครับ ญี่ปุ่นและยุโรปก็มีบริษัทชั้นนำของตัวในธุรกิจนี้เช่นกัน ปรากฏว่านับแต่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเริ่มดำเนินการ เหล่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทั้งหมดพากันซื้อเครื่องจักรก่อสร้างของจีนอย่างท่วมท้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลก่อสร้างอย่างแคเทอร์พิลลาร์และเจ้าอื่นของยุโรปและญี่ปุ่นสูญเสียผลประโยชน์ไป
สถานการณ์ย่ำแย่ลงสำหรับบริษัทอเมริกันทั้งหลายแหล่เมื่อพบว่ามิเพียงพวกตนจะอยู่ในสถานการณ์การแข่งขันอันยากลำบากขึ้นในตลาดจีนเท่านั้น หากรวมไปถึงตลาดต่างๆ ในโลกกำลังพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นย่านทะเลแคริบเบียน ละตินอเมริกา เอเชียกลาง เอเชียใต้และตะวันออกกลาง
บริษัทแคเทอร์พิลลาร์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจเพราะพวกเขาเปิดเผยโผงผางมากเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ปรากฏบันทึกชัดแจ้งว่าถึงจุดหนึ่งบริษัทแคเทอร์พิลลาร์กระทั่งวิ่งเต้นให้รัฐบาลโอบามาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกากลางและละตินอเมริกาอย่างก้าวรุกยิ่งขึ้น โดยบอกตรงไปตรงมาเลยว่าหากไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้แล้ว เราจะเสียท่าให้คู่แข่งของเราจากเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากจีน พวกเขาต้องการความช่วยเหลือในตลาดที่ว่านี้ครับ
ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นตัวลั่นไกการแข่งขันแบบทุนนิยมที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างบรรษัทสหรัฐกับบรรษัทจีน อันเป็นการแข่งขันที่เปลี่ยนพลวัตแห่งความสัมพันธ์พื้นฐานของสหรัฐกับจีนไปอย่างสิ้นเชิง
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022