หลุมดำทางนโยบาย จากกรณีรัฐจ่ายเงินเดือน 2 งวด | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ทำหน้าที่นายกฯ ทันทีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ครบถ้วนตามกระบวนการ แต่ถึงแม้มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งแรกจะมีเรื่องเงินๆ ทองๆ หลายเรื่องที่ควรทำให้รัฐบาลได้คะแนนนิยม แต่ปรากฏการณ์ประหลาดคือปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อรัฐบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

หนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตกคือข้อกล่าวหา “ตระบัดสัตย์” ตอนจัดตั้งรัฐบาลจนไม่ว่าคุณเศรษฐาและรัฐมนตรีทำอะไรก็จะถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา

ซ้ำคำอภิปรายของฝ่ายค้านในวันแถลงนโยบายยังทำให้ภาพรัฐบาลตระบัดสัตย์ลุกลามเป็นภาพการตระบัดสัตย์เชิงนโยบายไปเลย

พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่เป็นเรื่องที่ประชาชนแต่ละคนวินิจฉัยได้เอง

แต่เรื่องที่ไม่ต้องวินิจฉัยคือรัฐบาลถูกมองว่าไม่ทำตามนโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงเยอะไปหมด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร หรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

 

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่เคยยอมรับว่าข้อกล่าวหา “ตระบัดสัตย์” ลุกลามเป็นภัยคุกคามรัฐบาล แต่ปฏิกิริยาที่เกรี้ยวกราดของคุณเศรษฐาและรัฐมนตรีสาธารณสุขในวันแถลงนโยบายคือหลักฐานว่าพรรคเพื่อไทยไม่พอใจข้อกล่าวหานี้อย่างที่สุด โดยเฉพาะการตอบโต้ว่าข้อกล่าวหานี้เป็นการเจ็บป่วยทางสติปัญญา

ด้วยความไม่พอใจของประชาชนต่อเรื่อง “ตระบัดสัตย์” ที่ลุกลามเป็นความเชื่อเรื่องรัฐบาล “ตระบัดสัตย์เชิงนโยบาย” รัฐบาลจึงผ่านศึกแถลงนโยบายไปด้วยสภาพทางการเมืองที่บอบช้ำอย่างที่สุด ต่อให้มติ ครม.ในการประชุมครั้งแรกจะลดราคาน้ำมันจนควรได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนก็ตาม

น่าสนใจว่าขณะที่คุณเศรษฐาและรัฐมนตรีทุกคนแสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจข้อกล่าวหา “ตระบัดสัตย์” ในหมู่ประชาชน คำชี้แจงของคุณเศรษฐาและรัฐมนตรีกลับยอมรับว่าไม่ได้เขียนนโยบายตามที่หาเสียงไว้หลายเรื่อง เพียงแต่อธิบายเหตุผลของการไม่ได้เขียนนโยบายไว้เท่านั้นเอง

ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าทำไมรัฐบาลไม่เขียนนโยบายตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน แต่คำชี้แจงในสภาของคุณเศรษฐา, คุณภูมิธรรม เวชยชัย, คุณสุทิน คลังแสง และคุณชลน่าน ศรีแก้ว มักวนเวียนอยู่กับการพูดลอยๆ ว่าเพื่อไทยไม่ทำอะไรตามความสะใจ และรัฐบาลเขียนนโยบายตามความเป็นจริง

โลกของประชาชนคือโลกที่รัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงกับประชาชน และในเมื่อไม่มีพรรคไหนในโลกกล้าขึ้นหาเสียงโดยประกาศว่าอาจไม่ทำตามที่หาเสียง ประชาชนย่อมมีสิทธิเต็มที่ที่จะคาดหวังให้พรรครัฐบาลมีนโยบายตามที่เคยประกาศ ไม่ใช่ประกาศนโยบายตามความสะดวกโดยอัธยาศัยของพรรคการเมือง

ทันทีที่รัฐบาลบอกว่าไม่ขอทำนโยบายไหนเพื่อความสะใจ ถึงแม้หลายนโยบายจะเป็นเรื่องที่พรรคเคยปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง นั่นเท่ากับรัฐบาลกำลังบอกประเทศนี้มีมิติลี้ลับที่ประชาชนไม่รู้เรื่อง เข้าถึงไม่ได้

และมีแต่พรรคเพื่อไทยที่รู้ว่ามิติลี้ลับนั้นใหญ่แค่ไหนและต้องการอะไรจนพรรคทำถูกที่ไม่ทำตามที่หาเสียงกับประชาชน

 

โดยปกติแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเพิ่มอำนาจประชาชนและอยู่ภายใต้อาณัติจากประชาชน แต่วิธีที่รัฐบาลเพื่อไทยเลือกทำหรือไม่ทำนโยบายตามใจชอบคือการบีบให้อำนาจประชาชนจนตรอกทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้น และไม่มีความหมายยิ่งขึ้นหลังเพื่อไทยตั้งรัฐบาลจนยึดทำเนียบเป็นของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ กระบวนการตั้งรัฐบาลแบบที่เพื่อไทยทำส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้เป็นอิสระจากอำนาจประชาชน และเป็นองค์กรภายใต้บงการมากขึ้นของพลังลึกลับที่เพื่อไทยพูดให้คนเชื่อว่าคือ “ความเป็นจริง” ที่เพื่อไทยเท่านั้นเข้าถึงได้จนตัดสินได้ตามใจชอบว่าจะไม่ทำเรื่องที่หาเสียง หากขัดกับ “ความเป็นจริง”

ที่ผ่านมานักวิชาการพยายามสร้างแนวคิดเพื่ออธิบายอำนาจลึกลับหรือ “ความเป็นจริง” ซึ่งเพื่อไทยพูดถึงด้วยคำประเภท “รัฐพันลึก” “รัฐซ้อนรัฐ” “อำมาตยาธิปไตย” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม”

แต่ไม่ว่าจะใช้คำไหน อำนาจแบบนี้ถูกมองเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจนต้องกร่อนเซาะเพื่อให้อำนาจประชาชนเติบโต

 

ด้วยการคิดตามใจชอบว่าจะทำนโยบายไหนหรือไม่ รัฐบาลชุดนี้ทำให้กระบวนการตั้งรัฐบาลกลายเป็นกระบวนการลดอำนาจประชาชน (People Disempowerment) ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนเชื่อง (Taming People’s Power) จนยอมจำนนภายใต้รัฐซ้อนรัฐ, รัฐพันลึก ฯลฯ ที่เพื่อไทยเข้าถึงได้กว่าทุกกลุ่มในสังคม

นักวิชาการกลุ่มที่ใกล้ชิดรัฐบาลสร้างวาทกรรมบิดเบือนว่า “การลดอำนาจประชาชน” คือ “การปฏิสังขรณ์ประชาธิปไตย” แต่หัวใจของการปฏิสังขรณ์ประชาธิปไตยคือการทำให้อำนาจประชาชนเพิ่มขึ้น ขณะที่อำนาจฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยลดลง ไม่ใช่การรวมหัวกันของทุกฝ่ายในการลดอำนาจประชาชนอย่างปัจจุบัน

พูดแบบรวบรัดที่สุด “การปฏิสังขรณ์ประชาธิปไตย” คือการทำให้อำนาจประชาชนเพิ่มขึ้น แต่อำนาจของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยลดลงจนยอมเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ไม่ใช่การเกิดรัฐบาลที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ เบี้ยวนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนก็ได้หากขัดใจ “รัฐพันลึก” รวมทั้งทำอะไรก็ได้ที่เอาใจผู้มีอำนาจที่รัฐบาลถือว่าเป็น “ความเป็นจริง”

กองเชียร์รัฐบาลในคราบสื่อและนักวิชาการอ้างว่าทหารโหวตคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ คือภาพสะท้อนว่าประชาชนมีอำนาจกว่าเดิม แต่มีใครที่ไม่รู้ว่าการโหวตอาจเป็นผลของ “ดีลลับ” ที่เกิดระหว่างรัฐพันลึกกับพรรคการเมืองและบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อให้รับบทสกัดพรรคก้าวไกลก็ได้เช่นกัน

 

มองอย่างผิวเผิน “การลดอำนาจประชาชน” เหมือนเป็นเรื่องการเมือง แต่หากพิจารณาให้ดี รัฐบาลที่ไม่มีปรัชญาเพิ่มอำนาจประชาชนคือต้นตอของนโยบายรัฐบาลที่จะบริหารประเทศแบบผิดฝาผิดตัวจนหลงทิศไปหมด เพราะเมื่อไม่มีสารตั้งต้นเรื่องเพิ่มอำนาจประชาชน ก็ไม่มีทางจะฟังประชาชนอย่างจริงจัง และไม่มีทางจะมีนโยบายเพื่อประชาชนอย่างครบถ้วนได้เลย

ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐาประกาศแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวดโดยอ้างว่าจะทำให้คนไม่ถังแตกตั้งแต่กลางเดือนจนต้องกู้หนี้ยืมสินตลอดไป

แต่ทันทีที่คณะรัฐมนตรีมีมตินี้ในการประชุมรัฐบาลเศรษฐาวันแรก เสียงประชาชนที่โจมตีนโยบายนี้ก็ดังสนั่นประเทศไปหมดว่านโยบายนี้อาจทำให้ประชาชนเป็นหนี้กว่าเดิม

พูดง่ายๆ คนจำนวนมากเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้สถาบันการเงิน เมื่อรัฐบาลแบ่งจ่ายเงินเดือนเป็น 2 งวด ก็เท่ากับประชาชนมีเม็ดเงินที่จะเอาไปใช้หนี้ทุกต้นเดือนลดลงไปด้วย

นั่นแปลว่าประชาชนถูกรัฐบาลบีบให้ต้องไปยืมเงินชดเชยรายได้ที่หายไปเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ที่ไม่ได้ลดลงพร้อมนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือน

หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนจริงๆ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อลดภาระดอกเบี้ย รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายจนไม่ต้องเป็นหนี้นายทุนที่คิดดอกเบี้ยแบบขูดรีดขูดเนื้อต่อไปอีก

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรแม้แต่เรื่องเดียว

 

วิธีคิดเรื่องแบ่งจ่ายเงินเดือนประชาชนเพื่อแก้ปัญหานี้เป็นภาพสะท้อนของรัฐที่ “ลดอำนาจประชาชน” จนคิดนโยบายหนี้โดยไม่ฟังเสียงประชาชน โยนความผิดไปที่ประชาชนว่าเป็นหนี้เพราะบริหารเงินไม่เป็น รัฐบาลตั้งตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีเหมือนพ่อให้ค่าขนมลูก 2 งวดเพราะกลัวลูกใช้เงินหมด ทั้งที่ข้าราชการไม่ใช่ลูก และรัฐบาลก็ไม่ใช่พ่อประชาชน

ด้วยความตื้นเขินของรัฐบาลที่คุ้นชินว่าการทำนโยบายไม่จำเป็นต้องฟังประชาชน ความไม่รู้เรื่องของรัฐบาลบานปลายเป็นนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนที่สร้างความเดือดร้อนจนโดนประชาชนวิจารณ์สนั่นประเทศ

ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สำนึกว่าประชาชนคือคนที่รัฐบาลต้องฟังที่สุด ไม่ใช่กองทัพ นายทุน นายใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง ฯลฯ ตราบนั้นนโยบายขี้เท่อแบบแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด ก็มีโอกาสเกิดตลอดเวลา

ตรงข้ามกับความเชื่อว่าเพื่อไทยคือพรรคที่จะบริหารประเทศสำเร็จเหมือนคุณทักษิณ ชินวัตร ยุคไทยรักไทย เพื่อไทยวันนี้ตั้งรัฐบาลโดยปรัชญาที่ต่างจากไทยรักไทยราวฟ้ากับเหว การเพิ่มอำนาจประชาชนไม่ใช่แนวทางหลักของรัฐบาลมากเท่าการทำทุกทางเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล

และในที่สุดการไม่เลือกข้างประชาชนอาจเป็นหลุมดำที่กลืนกินรัฐบาลในเวลาอีกไม่นาน