จีน-สหรัฐอเมริกา บนเวทีจาการ์ตาซัมมิต

กลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จัดการประชุมระดับผู้นำประเทศหรือซัมมิตครั้งที่ 43 ขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ระหว่าง 4-7 กันยายนที่ผ่านมา โดยปราศจากเงาของผู้นำชาติมหาอำนาจที่เคยแก่งแย่ง ช่วงชิงอิทธิพลกันมาตลอดอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใช้วิธีการเดิมที่เคยทำมาโดยตลอดในช่วงหลัง คือ มอบหมายให้หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำคณะตัวแทนของจีนเข้าร่วมประชุม

ในขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกัน เลือกที่จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมจี 20 ที่กรุงนิวเดลี ก่อนเจาะจงแวะเยือนเวียดนาม โดยมอบหมายให้กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีเป็นตัวแทนเข้าร่วมซัมมิตครั้งนี้

ดูแล้วเหมือนว่าจะไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำให้อีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด กระนั้น ผู้สันทัดกรณีบางคนยังรู้สึกว่า สหรัฐอเมริกากลับเป็นฝ่ายที่อย่างน้อยที่สุดก็สูญเสียโอกาสอันดีไปที่จะท้าทายการครอบงำของอีกฝ่ายไปอย่างน่าเสียดาย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ จีนไม่เพียงสามารถทำให้ประเด็นร้อนอย่างเรื่องแผนที่ฉบับมาตรฐานใหม่ของจีนหายไปจากการประชุมครั้งนี้ ไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงและไม่มีวี่แววปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมปิดท้ายการประชุมได้เท่านั้น

จีนกับผู้นำอาเซียนยังสามารถลงนามในความตกลงระหว่างกันอีกหลายฉบับ ยกระดับ “ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ” ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

นั่นคือการ “อัพเกรด” ความตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้ครอบคลุมถึงความมั่นคงด้านอาหาร, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจสีเขียว และห่วงโซ่การผลิต ที่ถูกเรียกว่า “ความตกลงเขตการค้าเสรี เวอร์ชั่น 3.0” นั่นเอง

 

ในขณะที่รูปธรรมในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ที่จับต้องได้มากที่สุด เป็นเพียงแค่การจัดตั้ง “ศูนย์สหรัฐอเมริกา-อาเซียน” ขึ้นในกรุงวอชิงตัน เป็นครั้งแรก อย่างที่แฮร์ริสกล่าวไว้ในสุนทรพจน์วันเปิดการประชุมเท่านั้นเอง

เตกู เรซัสยาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัย ปัทยัทจารัน ของอินโดนีเซีย เชื่อว่า สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไปในแง่มุมด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง

แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน และการเป็นหุ้นส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในอาเซียนของจีนนั้น “พิเศษเหนือธรรมดา” จน “น่าจะเป็นบทเรียนให้กับสหรัฐอเมริกาว่า ควรฉกฉวยโอกาสการเป็นผู้นำในด้านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติและในเชิงยุทธศาสตร์ได้แล้ว”

ในแวดวงการทูตพากันระบุตรงกันว่า บรรดาผู้นำอาเซียนพากัน “ผิดหวัง” กับการตัดสินใจไม่เข้าร่วมจาการ์ตาซัมมิตของไบเดน โดยเฉพาะผู้นำอินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ถึงกับ “ช็อก” กับการตัดสินใจของทำเนียบขาวในครั้งนี้

ต่างกับที่ เป็นที่คาดหมายกันอยู่ก่อนแล้วว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะส่งนายกรัฐมนตรีของตนมาเป็นตัวแทนในการประชุมอาเซียนเหมือนที่เคยปฏิบัติมา

 

ฮูลิโอ อะมาดอร์ ประธานบริษัท อะมาดอร์ รีเสิร์ช เซอร์วิส ในฟิลิปปินส์ระบุว่า ความผิดหวังของบรรดาชาติอาเซียนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า อาเซียนต้องการการแสดงตัวของสหรัฐอเมริกา อย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรมมากเพียงใด

เขาเชื่อว่า ชาติสมาชิกอาเซียนจะรู้สึกถูกละเลย ถูกทอดทิ้งจากการไม่ปรากฏตัวไบเดนเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าตัวแทนจะเป็นถึง “หมายเลขสอง” และ คณะตัวแทนก็เต็มไปด้วยบุคคลระดับรัฐมนตรีมากหน้าหลายตาก็ตามที

ดอน แม็กเลน กิลล์ นักวิเคราะห์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเดอลาซาลล์ ในกรุงมะนิลา กลับเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว การที่ทั้งสี จิ้นผิง และโจ ไบเดน ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมในการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตหรือก่อให้เกิดความผิดแผกแตกต่างไปมากมายนัก

เขาชี้ว่า ในมุมมองของอาเซียน การไร้วี่แววของผู้นำทั้งสองคน ต่างล้วนแสดงให้เห็นถึงการขาด “การใส่ใจที่แท้จริง” ในความสัมพันธ์แบบรอบด้านและครบถ้วนที่มีต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียน

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์กับอาเซียนนั้นเรียกความใส่ใจ ควาสนใจจากมหาอำนาจได้เฉพาะในบางเรื่อง บางด้าน

โดยเฉพาะในด้านที่แสดงให้เห็นถึงการมีอำนาจเหนือ มีอิทธิพลเหนือกว่าฝ่ายตรงกันข้ามในภูมิภาคอาเซียนนี้เท่านั้นเอง