ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (11)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลังจากที่ได้เล่าถึงเครื่องบูชาและเครื่องบวงสรวงต่างๆ มานาน ที่จริงก็ยังมีรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ อีก เช่น กระดาษเงินกระดาษทองที่ใช้ มีกี่ประเภทอย่างไรบ้าง หากมีโอกาสคงไว้จะได้เล่าอีกครับ

ย้อนไปในบทความตอนที่หนึ่ง จริงๆ ผมกะว่าจะเล่าประสบการณ์ในการจัดพิธี “อันตั๋วและเตี่ยมหง่านคายก๊อง” หรือพิธีสถาปนาแท่นบูชาและเบิกพระรัศมีของเทวรูป เพื่อประดิษฐานในแท่นบูชาประจำบ้าน จากเหตุที่ต้องการเชื่อมโยงกับรากเหง้าศรัทธาของบรรพชนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่พอกล่าวถึงเครื่องบูชาก็ได้อาศัยสอบถามท่านผู้รู้เกี่ยวกับความหมาย รูปแบบและรายละเอียดจนยืดยาวมาถึงสิบตอนเข้านี่

ผมต้องการจัดพิธีกรรมตามอย่างชาวจีนฮกเกี้ยนตามเชื้อสายของตนเอง และได้ไหว้วานขอให้ท่านผู้รู้ คืออาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีกรรมของศาลเจ้าแสงธรรมจังหวัดภูเก็ตมาเป็นผู้ประกอบพิธีให้

 

อาจต้องเล่าถึงที่มาของพิธีกรรมนิดหนึ่งครับ รูปแบบและความเชื่อของพิธีที่ได้จัดขึ้นนี้มาจากสำนักเต๋าสาย “ลื่อซาน” (หรือลวี่ซาน/ลู่ซาน) อันเป็นชื่อภูเขาที่ว่ากันว่าตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซีของจีน ซึ่งในที่สุดได้แพร่หลายลงมาทางใต้และตะวันออกของประเทศนั้น

สำนักลื่อซานเป็นสำนักเต๋าฝ่ายที่ใช้เวทมนตร์คาถาเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการบำเพ็ตพรตหรือหลักปรัชญาอย่างนิกายอื่นๆ แต่มีอิทธิพลมากกับวิถีชีวิตของชาวบ้านทางตอนใต้ของจีน ขยายตัวอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง เรื่อยไปถึงเกาะไหหลำ ด้วยเหตุนั้น เมื่อมีผู้อพยพมาจากดินแดนเหล่านี้ก็ได้นำพิธีกรรมความเชื่อสายลื่อซานมาสู่เมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มภาษาฮกเกี้ยน

ดังนั้น พิธีกรรมของศาลเจ้าในภาคใต้ของไทยส่วนมากจึงเป็นพิธีกรรมในสายลื่อซานนี่เอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ที่เห็นได้จากเครื่องประกอบพิธีต่างๆ อย่างแส้งู (ฮวดโสะ) หรือเขาควาย (เหล่งกั๊กหรือเหล่งงู่กัก) เพราะของพวกนี้ศาสนาเต๋าในสายอื่นๆ ไม่ใช้กันเลย

อันที่จริงเต๋าสายลื่อซานมีลักษณะเป็น “ศาสนาผสม” คือมีทั้งองค์ประกอบจากพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า ศาสนาหยูหรือขงจื่อ ศาสนาผีของจีน หรือแม้แต่ศาสนาของพวกหมอผีชนเผ่าเร่ร่อน (shamanism) ด้วย

ผมจะลองอธิบายเท่าที่เข้าใจนะครับ

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธ พิธีกรรมของลื่อซานมีบทมนต์ต่างๆ ในภาษาสันสกฤต พีชพยางค์จากพุทธศาสนาโดยเฉพาะจากฝ่ายวัชรยาน มีการเพ่งนิมิต ทวยเทพบางองค์ในพิธีก็เป็นพุทธ (วัชรยานตะวันออก) เช่น พระวิทยราชอมฤตกุณฑาลี เคารพพระพุทธเจ้ารวมกับเทวาจารย์ และยังอ้างถึง “พระนาคารชุน” ในมณฑลแห่งเทวาจารย์ด้วย

เรื่องพระนาคารชุนนี่น่าสนใจเป็นพิเศษ พระนาคารชุนเป็นภิกษุอินเดียในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่สาม มีชื่อเสียงมากในฐานะนักปราชญ์ผู้สถาปนาหลักปรัชญามาธยามิกะอันซับซ้อน ทว่า การอ้างถึงพระนาคารชุนในฐานะพระเทวาจารย์ของลื่อซานคงมิใช่จากแง่มุมของความเป็นพระและนักปรัชญา แต่เพราะพระนาคารชุนดูจะเป็น “ผู้วิเศษ” ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์และวิชาเล่นแร่แปรธาตุเสียมากกว่า เช่นเดียวกับบรรดา “จินหยิน” หรือผู้วิเศษของเต๋าทั้งหลาย

หากอ่านประวัติท่านนาคารชุนในฝ่ายวัชรยาน เล่ากันว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาเหมือนพระพุทธเจ้า แถมยังลงไปเอา ปรัชญาปารมิตาสูตรมาจากพวกนาคในนาคโลกซึ่งพระพุทธเจ้าบัญชาให้พวกนาคเฝ้ารักษาไว้ นอกจากนี้ ท่านยังมีวิชา “รสายนะ” คือปรุงยาและเล่นแร่แปรธาตุจนเหาะเหินเดินอากาศได้

ผมจึงเข้าใจเอาเองว่า พระนาคารชุนเป็นตัวแทนความเชื่อมโยงกับอินเดียและพุทธศาสนาในด้านความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งท่านก็เป็นพระที่ชาวจีนรู้จักผ่านตำนานและปรัชญาปารมิตาสูตรอยู่แล้วด้วย

 

ทั้งนี้ เมื่อชาวลื่อซานอัญเชิญ “ครู” มาในพิธีกรรมนั้น ฮวดกั้วหรือเจ้าพิธีจะจุดธูปและเริ่มต้นจาก “ซำก่าวเส้งเหี่ยน” หรือศาสดาสามศาสนา ได้แก่พระพุทธศากยมุนี (ปุนซูเซ็กเกียมอนีฮุด) ไตรคูหาวิสุทธิเทวาจารย์แห่งเต๋า (ซำเช้งเต๋าจ้อ) และท่านขงจื่อแห่งหยู จากนั้นจึงค่อยๆ ไล่ลำดับมาเป็นบรรดาครูทั้งสิบท่าน (นักปราชญ์โบราณของจีน) บรรดาโพธิสัตว์ (ผ่อสาด) ทั้งหลาย เทพเต๋าระดับสูง จนมาถึง พระปรมาจารย์ตรีปะรำหรือตรีมณฑล (ซำตั๋ว) ซึ่งแบ่งออกไปอีกหลายองค์

พระนาคารชุนอยู่ในหมวดซำตั๋วนี่เอง นอกจากนี้ยังมี พระพ้ออ๊ามจ้อซู เฮียนเที้ยนสย่งเต่หรือจินบู๊ไต่เต่ที่คนไทยเรียกรวมกับเทพอีกองค์ว่าเจ้าพ่อเสือ โหยเจ็กกิมก๊องซึ่งเป็นวิทยราชในพุทธศาสนาวัชรยาน พระวิทยราชอมฤตกุณฑาลีจากพุทธศาสนาวัชรยาน โลเฉี้ยซำไท่จู้หรือที่เรารู้จักในชื่อกุมารเทพนาจา (ซึ่งพัฒนามาจากนลกุเวรในพุทธศาสนามหายาน) และเทพเฮ็กข้อจงกุนหรือฮอเอี๋ย (เทพเสือจริงๆ)

อันที่จริงปรมาจารย์สายลื่อซานยังแบ่งออกเป็นสายต่างๆ แม้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกันบ้าง แต่ก็มีวิชาและสายการสืบทอดแยกออกไป

สายซำตั๋วหรือสายตรีมณฑลนี้ มีพระฌานาจารย์พ้ออ๊ามเป็นเจ้าสำนัก (ก่าวจู้) บางครั้งก็เรียกท่านด้วยความยกย่องว่า ปรมาจารย์พ้ออ๊าม (พ้ออ๊ามจ้อซู) หรือพระโพธิสัตว์ปรมาจารย์พ้ออ๊าม (พ้ออ๊ามจ้อซูผ่อสัด)

 

พระพ้ออ๊ามมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ท่านบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนานิกายฌานหรือนิกายเซนที่เน้นการปฏิบัติสมาธิภาวนา แต่สายของท่านมักปฏิบัติภาวนากันตามอารามหรือศาลเจ้าร้าง ท่านจึงเผชิญปัญหาเรื่องภูตผีและฮวงจุ้ยที่เป็นอัปมงคลอยู่เสมอ

ดังนั้น แม้จะเป็นพระภิกษุ ท่านก็บากหน้าไปขอเรียนวิชาทางเต๋าเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ (เพราะพุทธศาสนาสายฌานไม่เน้นพิธีกรรมอีกทั้งปฏิเสธเรื่องไสยศาสตร์) กับเตียวเทียนซือรุ่นที่สามสิบ

เตียวเทียนซือเป็นทั้งชื่อเทพและตำแหน่ง คำว่าเทียนซือหมายถึงราชครูสวรรค์/ปรมาจารย์สวรรค์ ส่วนเตียวเป็นแซ่ จีนกลางว่าจาง ฮกเกี้ยนเรียกเตียว แต้จิ๋วว่าเตีย องค์แรกมีชีวิตอยู่ในสมัยฮั่น เป็นผู้ที่ทำให้เต๋าเปลี่ยนจากแนวคิดทางปรัชญามาสู่ความเป็นศาสนาที่มีพิธีกรรมและเวทมนตร์คาถา ท่านจึงกลายเป็นเทพที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งในผู้ใช้ไสยเวทจีน

ลูกหลานสายตรงในสกุลนี้จะดำรงตำแหน่งประมุขของศาสนาเต๋า (สายเตียวเทียนซือ) โดยใช้นามเตียวเทียนซือเช่นกัน ผมเข้าใจว่าทางราชสำนักจีนคงให้การอุปถัมป์ดูแลมาโดยตลอด เช่นเดียวกับคนในตระกูลข่งของอาจารย์ขงจื่อ และถ้าจำไม่ผิด แม้จีนเปลี่ยนเป็นสคอมมิวนิสต์แล้ว แต่ทายาทเตียวเทียนซือก็หนีมาอยู่เกาะไต้หวันได้

พระพ้ออ๊ามยอมใช้ชีวิตและปฏิบัติตนไม่แตกต่างกับพวกนักพรตเต๋าในอารามอย่างอดทน เมื่อท่านได้รับการถ่ายทอดวิชามาแล้ว ท่านจึงใช้สิ่งที่ร่ำเรียนมาผสานกับพุทธศาสนา แก้ไขปัญหาฮวงจุ้ยจนเปลี่ยนจากร้ายเป็นดีได้ บางครั้งในรูปเคารพท่านจะมีบริวารเป็นเสือขาวมังกรเขียว ซึ่งเป็นสัตวเทพในศาสตร์ฮวงจุ้ย

ศิษย์ในสายนี้จึงเชื่อในพลานุภาพของพ้ออ๊ามจ้อซูว่า หากท่านประทับอยู่ในที่ใด อัปมงคลและพลังร้ายๆ ย่อมไม่มี เช่นเดียวกับเทพเกียงไท้กงที่บางคนเชื่อว่า หากเกียงไท้กงประทับอยู่ที่ใดย่อมไม่มีพลังอัปมงคล ดังกลอนจีนที่มักติดในงานต่างๆ ว่า “เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ ร้อยเรื่องไม่ถือ” คืออัปมงคลที่เกิดจากข้อถือข้อห้ามต่างๆ ย่อมไม่มี คนมางานจะได้ไม่ต้องกังวล เพียงแต่ของพ้ออ๊ามเน้นอัปมงคลอันเกิดจากชัยภูมิร้ายหรือชัยภูมิเสีย ท่านขจัดได้หมด

นอกจากนี้ ท่านยังได้ประพันธ์บทสวดมนตร์ที่มีชื่อเสียง “มนตราอักษรสิทธัมแห่งพระฌานาจารย์พ้ออ๊าม” (พ้ออ๊ามไต่เต่กเสี่ยนซู้เซกต่ามจ่องสีนจิ่ว) หรือ “พ๊ออ้ามจิ่ว” ที่มีความโดดเด่นสะดุดหูเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านนำเอาภาษาสันกฤตอักษรสิทธัมมาเรียงร้อยเป็นบทสวดโดยเริ่มจากท่องอักษรทีละตัว เหมือนเราท่องกขคฆงในวิชาภาษาไทย

อาจเพราะนอกจากความเชื่อว่าอักษรแต่ละตัวมีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังช่วยฝึกฝนคนจีนให้คุ้นเคยกับภาษาสันกฤตซึ่งใช้ทำพิธีกรรมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วย

 

เมื่อผมได้ศึกษามนต์พระพ้ออ๊าม ครูผู้สอนได้กำชับว่า หากจะท่องมนต์นี้ในบ้านให้จุดธูปบอกเทพเจ้าและผีบรรพชนก่อนว่าวันนี้จะสาธยายมนต์พระพ้ออ๊าม ขอให้ท่านเหล่านั้นหลบอยู่ในที่ตั้งของตนเองไม่ต้องกลัว เนื่องจากมนต์พระพ้ออ๊ามมีพลานุภาพมากจนเหล่าทวยเทพและผีบรรพชนจะตกใจกลัวได้ เพราะสามารถขับไล่ภูตผีวิญญาณและสิ่งอัปมงคลได้ทั้งหมด

ลื่อซานสายพระพ้ออ๊ามจึงมีความเป็นพุทธปนอยู่มากเพราะมีพระภิกษุเป็นเจ้าสำนัก และเน้นพิธีกรรมเกี่ยวกับการตั้งปะรำพิธีตลอดจนการฉลองพระ เช่นสถาปนาแท่นบูชา คุณนนท์ผู้มาประกอบพิธีให้ผมนั้นถือสายพระพ้ออ๊ามเป็นสายหลักในการประกอบพิธีกรรม แต่ศิษย์ลื่อซานเองก็เรียนวิชาจากสายต่างๆ ข้ามกันไปมาเพราะจุดเน้นต่างกัน

ส่วนลื่อซานสายอื่นจะเป็นอย่างไร

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง