‘คอนเทรล’ ‘ดิสเทรล’ และทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ ‘เค็มเทรล’

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509

 

‘คอนเทรล’ ‘ดิสเทรล’

และทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ ‘เค็มเทรล’

 

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้แนะนำคอนเทรล (contrail) ซึ่งเป็นเส้นเมฆบนฟ้าที่เกิดจากเครื่องบินไปเบื้องต้นแล้ว โดยภาพรวมคอนเทรลแบ่งตามกลไกการเกิดได้ 2 แบบคือ คอนเทรลที่เกิดจากไอเสีย (exhaust contrail) ซึ่งเป็นแบบที่พบบ่อย ส่วนอีกแบบคือ คอนเทรลเชิงอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic contrail) ซึ่งพบได้น้อยกว่า

แต่หากแบ่งคอนเทรลตามระยะเวลาที่มันคงตัว ก็จะได้ 3 แบบย่อย

แบบแรกคือ คอนเทรลอายุสั้น (short-lived contrail) ซึ่งเป็นเส้นสั้นๆ คงตัวอยู่ไม่นานนัก

แบบที่สองคือ คอนเทรลอายุยืนหรือคอนเทรลคงตัว (persistent contrail) ซึ่งปรากฏเป็นเส้นยาวพาดฟ้า แม้เครื่องบินจะลับตาไปแล้ว

แบบสุดท้ายคือ คอนเทรลอายุยืน (หรือคงตัว) และแผ่กระจายออกไป (persistent spreading contrail) ซึ่งนอกจากจะคงตัวอยู่นานแล้ว ยังแผ่กระจายออกไปด้านข้าง หรือแปรเปลี่ยนไปเป็นเมฆบางสกุลอีกด้วย

แต่คอนเทรลยังมีแง่มุมที่น่ารู้อีกหลายอย่าง บางครั้งยังกลายเป็นข่าวเนื่องจากยังความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องก็มี ส่วนตัวผมเองนั้นก็ได้รับคำถามอยู่เป็นระยะ จึงคิดว่าน่าจะนำเสนอรายละเอียดเอาไว้อ้างอิงให้มากที่สุด ลองมาไล่เรียงกันไปทีละประเด็นครับ

คอนเทรลอาจมีขอบเป็น “ปุ่มๆ” เรียงรายติดอยู่
ที่มา : โครงการ GLOBE ของ NASA

เส้นคอนเทรลอาจขาดๆ แหว่งๆ ได้ คอนเทรลแบบนี้เรียกว่า คอนเทรลคงตัวแต่ขาดวิ่น (intermittent persistent contrail) เกิดจากอากาศมีปริมาณไอน้ำไม่สม่ำเสมอ ตรงไหนมีไอน้ำน้อย เส้นก็ขาดหายไป ตรงไหนมีไอน้ำมาก เส้นก็หนาคมชัด

บางครั้งเส้นคอนเทรลยังมีอาจมีแง่มุมสนุกๆ เช่น ขอบของเส้นมีลักษณะเป็นปุ่มๆ เรียงรายต่อๆ กัน ลองดูภาพที่นำมาฝากครับ

ปุ่มๆ บนเส้นคอนเทรลนี้ เอกสาร International Cloud Atlas Volume II ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เรียกว่า pendant swelling (ส่วนที่กลมๆ ห้อยติดอยู่คล้ายเครื่องประดับ) หรือ inverted toadstool (เห็ดกลับหัวพุ่งลง)

ส่วนเว็บโคงการ GLOBE ของ NASA เรียกง่ายๆ ว่า loop หรือ loopy (บ่วง) และอธิบายว่าเกิดจากกระแสอากาศที่ไหลวนหลังเครื่องบินบินผ่านไป

ส่วนเพื่อนๆ ผมในชมรมคนรักมวลเมฆ บางคนเรียกว่า “ระบาย” ซึ่งหมายถึงผ้าที่ห้อยจากขอบ

หากคอนเทรลคงตัวอยู่นานอย่างน้อย 10 นาที International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะกำหนดให้เรียกว่า ซีร์รัส โฮโมเจนิตัส (Cirrus homogenitus) แปลว่า เมฆซีร์รัสที่เกิดจากมนุษย์

คอนเทรลสีส้มหลายเส้นที่ฮอลแลนด์
ภาพ : C.Pumchai van Kessel

คําว่า homo หมายถึง มนุษย์ + genitus คือ ให้กำเนิด นึกถึงคำว่า generate ที่แปลว่า ผลิต ก็ได้ครับ

แต่หากคอนเทรลคงตัวได้เปลี่ยนรูปร่างไปมาก จนกลายเป็นเมฆบางสกุล ก็จะเรียกชื่อเมฆสกุลนั้นตามด้วย ชื่อชนิด/พันธุ์/ลักษณะเสริม แล้วตามคำว่าด้วย homomutatus (โฮโมมิวเตตัส) ปิดท้าย

คำว่า mutatus หมายถึง กลายพันธุ์ นึกถึงคำว่า mutant หรือมนุษย์กลายพันธุ์ในหนังเรื่อง X-men ก็ได้

ตัวอย่างเช่น หากคอนเทรลกลายเป็นเมฆซีร์รัสที่มีลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างตรงที่เรียกว่า ซีร์รัส ไฟเบรตัส (Cirrus fibratus) ก็จะเรียกชื่อเต็มๆ เพื่อระบุที่มาว่า ซีร์รัส ไฟเบรตัส โฮโมมิวเตตัส (Cirrus fibratus homomutatus) เป็นต้น

มีประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับคอนเทรลคงตัวซึ่งเข้าใจผิดกันในหลายประเทศทั่วโลก นั่นคือ มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเส้นสีขาวๆ พาดฟ้าเกิดจากสารเคมีที่เครื่องบินโปรยออกมา จึงเรียกเส้นนี้ว่า เค็มเทรล (chemtrail) อันมาจากคำว่า chemical (สารเคมี) + trail (แนวเส้น)

แต่เรื่อง chemtrail นี่เป็นทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) นะครับ คือ ไม่สามารถหาข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้มารองรับ

ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้มีแกนหลักก็คือ การโปรยสารเคมีเป็นโครงการลับของรัฐบาลซึ่งมีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น จุดมุ่งหมายบางอย่างก็ฟังดูกลางๆ เช่น โปรยสารเคมีออกมาเพื่อจัดการรังสีของดวงอาทิตย์ หรือดัดแปลงสภาพฝนฟ้าอากาศ แต่บางอย่างก็ออกแนวน่าสะพรึงกลัว

เช่น โปรยสารเคมีออกมาเพื่อควบคุมสภาพจิตใจผู้คน หรือควบคุมจำนวนประชากร ไปจนถึงว่าการโปรยสารเคมีที่ว่าเป็นการทดสอบอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ เชื่อกันถึงขนาดนั้นก็มี!

คอนเทรลสีรุ้ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.2014 เวลา 17.56 น.
ภาพ : ไพศาล ช่วงฉ่ำ

ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ chemtrail เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา (United States Air Force) หรือ USAF ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการดัดแปลงสภาพลมฟ้าอากาศในปี ค.ศ.1996 ซึ่งพอถึงปลายทศวรรษที่ 1990 USAF ก็ถูกกล่าวหาว่า “พ่นสเปรย์สารลึกลับใส่ประชากรของสหรัฐอเมริกา” จากอากาศยานอัน “ทำให้เกิดรูปแบบคอนเทรลที่ผิดปกติ”

ความเชื่อนี้ถูกขยายผลผ่านอินเตอร์เน็ตและรายการวิทยุในช่วงปี ค.ศ.1999 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางการถูกถล่มโดยโทรศัพท์และจดหมายที่กราดเกรี้ยวจำนวนมาก

โดยสรุปคือ หากเห็นคำว่า chemtrail ที่ไหน ก็ให้ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเชื่อตามทฤษฎีสมคบคิดเท่านั้นเองครับ

ขอกลับมาเรื่องทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคอนเทรลอีกครั้ง คือ สีของคอนเทรล

นอกจากสีขาวแล้ว คอนเทรลยังอาจมีสีอื่นๆ ได้ เช่น มีสีเทาในช่วงที่แสงไม่สว่างมากนัก หรือมีสีส้มในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นซึ่งแสงอาทิตย์มีสีส้ม

เรื่องคอนเทรลสีส้มนี่อย่าทำเป็นเล่นไป เพราะเคยเป็นข่าวในบ้านเรามาแล้ว ลองดูข่าว ‘ช่างภาพดาราศาสตร์ย้ำ “แสงประหลาด” แค่ “คอนเทรล” จากเครื่องบิน’ ได้ที่ https://mgronline.com/science/detail/9550000033713

คอนเทรลยังอาจเกิดปรากฏการณ์สีรุ้ง (iridescence หรือ irisation) ได้ด้วย เรียกว่า คอนเทรลสีรุ้ง (iridescent contrail) แต่สังเกตพบได้ค่อนข้างยาก

เรายังอาจเห็นเงาของคอนเทรลบนฟ้าได้ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจเกิดได้หากมีเมฆทำหน้าที่เป็นฉากรับเงา ผมเคยเห็นและถ่ายภาพเงาของคอนเทรลได้จากที่บ้าน ตอนนั้นสนุกดีเพราะขณะที่เครื่องบินบินกำลังบินผ่านไป ทั้งคอนเทรลและเงาก็ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

คอนเทรลและเงาซึ่งปรากฏเป็นแถบสีเทาอยู่เหนือเส้นคอนเทรล
อาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553 ประมาณ 09.20 น.
สนามบินน้ำ นนทบุรี
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ประเด็นสุดท้าย คอนเทรลยังมีคู่ตรงข้ามด้วย หากในบริเวณหนึ่งมีเมฆที่แผ่กระจายปกคลุมท้องฟ้าในบริเวณกว้าง โดยเม็ดน้ำในเมฆนี้เป็นน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water droplet) ซึ่งหมายถึง น้ำที่มีอุณหภูมิติดลบ (ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) แต่ยังคงมีสภาพเป็นของเหลวอยู่ เมื่อเครื่องบินบินฝ่าเข้าไปในเมฆนี้ ก็จะส่งผลกระทบ 2 อย่างพร้อมกัน ได้แก่

หนึ่ง – ความร้อนจากเครื่องยนต์ จะทำให้น้ำในเมฆระเหยไป เกิดเป็นช่องว่างขึ้น

สอง – ความปั่นป่วนของกระแสอากาศจะทำให้หยดน้ำเย็นยิ่งยวดที่ได้รับผลกระทบกลายเป็นน้ำแข็ง แล้วร่วงหล่นลงมา เกิดเป็นช่องว่างเรียกว่า ช่องเปิดฟอลล์สตรีก (fallstreak hole)

ผลก็คือ เมฆที่เดิมแผ่นคลุมท้องฟ้านั้นจะเกิดช่องว่างตามแนวที่เครื่องบินบินผ่าน ช่องว่างนี้เรียกว่า ดิสเทรล (distrail) ซึ่งมาจากคำว่า dissipation (สลายไป) + trail (เส้นทาง) นั่นเอง

ในทางปฏิบัติ เมฆที่อาจจะมีเงื่อนไขทำให้เกิดดิสเทรลได้ เช่น แอลโตคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส (Altocumulus stratiformis) และซีร์โรคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส (Cirrocumulus stratiformis)

เนื่องจากเมฆทั้งสองชนิดนี้มีหยดน้ำเย็นยิ่งยวดเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยนั่นเอง

ดิสเทรล (แถบช่องเปิดเส้นตรงในเมฆ)
จันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2554
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ