ครม. นิด (หนึ่ง)

…ใช้คำว่า “ขี้เหร่” ก็ได้ ถ้าเอาหลักการบริหารเรื่อง Put the right man on the right job มาเปรียบเทียบมองรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1

แต่ถามว่าผิดไหม ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่ผิด การจัดเก้าอี้คณะรัฐมนตรีแบบผิดฝาผิดตัว ยังไงก็ไม่ผิด เพราะมากกว่าความเก่งเฉพาะด้าน คือความชอบธรรมทางการเมืองต่างหาก

ถ้ามีความชอบธรรมทางการเมือง จะจัดเก้าอี้ให้ใคร แจกโควต้าแบบไหนก็ไม่ผิด

เพราะการเมืองสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติอันเลิศหรู ต้องมี “ดร.” นำหน้า หรือมีประวัติโปรไฟล์ยาวเป็นหางว่าว แต่เขาดูว่า ผู้นำกระทรวงคนนั้นมีเจตจำนงแน่วแน่แค่ไหนในการแก้ปัญหา มองโจทย์หรือปัญหาในกระทรวงอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงอะไรในระยะเวลาที่มีอำนาจ

เช่น คนๆหนึ่ง ต่อให้มีตำแหน่งศาสตราจารย์ จบปริญญาเอกจากไอวีลีก แต่ไม่เข้าใจปัญหาการเมืองของคนส่วนใหญ่ กับอีกคน จบมัธยมศึกษา เคลื่อนไหวการเมืองถูกจับนับครั้งไม่ถ้วน แต่เข้าใจปัญหาการเมืองคนส่วนใหญ่ แล้วสองคนนี้มาเสนอนโยบายลงแข่งขันกันในศึกเลือกตั้ง คงไม่ต้องบอกว่าใครจะชนะ อย่างนี้เป็นต้น

 

ต้องยอมรับว่าโฉมหน้า ครม.ใหม่อาจขัดหูขัดตาใครหลายคน ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บิดเบี้ยวนั่นเอง ที่ผลักดันเกมการเมืองไทยเคลื่อนมาจนถึงจุดนี้ เจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริงถูกกดทับปิดบังด้วยอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่กลไกรัฐธรรมนูญเขียนเปิดทางให้เข้ามาแทรกแซงเบียดบังอำนาจประชาชน

มาดูที่ตัวนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แม้จะมีต้นทุนการเมืองไม่มาก จากการไม่ขึ้นเวทีดีเบตหรือประชันวิสัยทัศน์ ไม่ค่อยแสดงวิสัยทัศน์ทางการเมืองหรือตอบคำถามสำคัญร่วมสมัยทางการเมือง แต่ก็มีต้นทุนทางประสบการณ์การบริหารธุรกิจที่ดี จึงนับว่าเป็น “เดอะแบก” ของ ครม.ใหม่อย่างแท้จริง

แต่โครงสร้างอำนาจของนายเศรษฐาในพรรคเพื่อไทยยังเป็นไปในลักษณะไม่เข้มแข็ง เนื่องจากนายเศรษฐาไม่ได้มีฐานอำนาจทางการเมืองเข้มแข็งค้ำยัน และดูเหมือนมีอิสระต่อกันพอสมควร

นายเศรษฐาในฐานะนายกฯ จึงต้องสะท้อนจุดแข็ง ประสบการณ์ซีอีโอ คือการลงมือทำจริง ให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลจริง ซึ่งนายเศรษฐาได้วาดลวดลายไปบ้างแล้วในการประชุมนัดพิเศษ เช่น การประกาศจะเป็นรัฐบาลที่ “ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” และการประกาศห้ามรัฐมนตรีพูดว่า “เป็นไปไม่ได้” ในการแก้ปัญหาทุกข์ชาวบ้าน

ความชอบธรรมของนายเศรษฐาจากนี้จึงอยู่ที่จะสร้างการยอมรับจากประชาชนได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องวิถีปฏิบัติ และวิธีคิดของนายเศรษฐา ที่จะแสดงออกนับจากนี้

คนคาดหวังว่านายเศรษฐามาจากภาคธุรกิจ มีศักยภาพ ชื่นชอบและเข้าใจการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรมการบริหาร การเข้าใจเทรนด์ใหม่ๆ ยังไงก็น่าจะดีกว่านายกฯ จากการรัฐประหาร ขวัญใจรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ครองอำนาจยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ

 

ขณะที่ปัญหาโครงสร้างของคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากรากฐานที่มาเกิดจากการตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่ทับซ้อนกันทางนโยบาย การเดินหน้าการทำงานของรัฐบาลนี้จึงอยู่ในจุด “ประนีประนอม” เป็นหลัก การทำตามนโยบายหาเสียงให้ครบไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็ต้องแบ่งตามโควต้า รายชื่อ ครม.เศรษฐา 1 จึงหลบหลายเก้าอี้ ตั้งคนไม่ตรงกับงาน

แบบที่เมาธ์กันอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งนายตำรวจใหญ่ไปคุมการศึกษา ตั้งนักรัฐศาสตร์ไปคุมพาณิชย์ ตั้งนักการศึกษาไปคุมกลาโหม ลักษณะเช่นนี้จึงถูกคนวิจารณ์ว่าผิดฝาผิดตัว และจะยิ่งถูกวิจารณ์หนัก ถ้าไม่มีผลงาน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้

ไปดูประเด็นคนรุ่นใหม่ยิ่งน่ากุมขมับ คณะรัฐมนตรีชุดนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ครม.จากนักการเมืองเจเนอเรชั่นเดิม บทบาทคนรุ่นใหม่หายไปไม่น้อย แม้จะไปดูระดับปฏิบัติงานของพรรค ก็ยังเป็นไปในลักษณะหาคนทำงานที่เป็นคนเด่นๆ ที่จะขับเคลื่อนประเด็นเฉพาะไม่ง่าย

สวนทางกับความคาดหวังหรือแรงกดดันทางนโยบายของสังคมที่มีต่อรัฐบาลใหม่ ที่มีอยู่ในระดับ “สูงมาก” ซึ่งแต่ละนโยบายก็ทำไม่ง่าย หลายเรื่องกำลังเกิดปัญหาขึ้นแล้วในขณะนี้

เช่น นโยบายปฏิรูปกองทัพ ที่เพื่อไทยยืนยันหนักแน่นเสียงแข็งมาตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มาวันนี้ กลับขอให้อย่าใช้คำว่า “ปฏิรูปกองทัพ” ให้เรียกว่า “การพัฒนาร่วมกัน”

หรือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่วันนี้แทบจะเป็นเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน ในระดับที่พรรคฝ่ายขวาอย่างรวมไทยสร้างชาติยังเห็นด้วย เพื่อไทยกลับเสียงอ่อน ขอเปลี่ยนเป็น ค่อยๆ “ลด” การเกณฑ์ทหาร ทั้งที่การ “ลด” และ “เลิก” มีนัยยะทาง “กฎหมาย” และ “สิทธิ” ต่างกันมาก วันนี้ก็ถูกละเลยไปอีก คนรุ่นใหม่ก็ต้องตกอยู่ในภาวะ “หวาดกลัว” ต่อไป

หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่โดยหลักควรจะมีการทำประชามติ เลือก ส.ส.ร.ใหม่ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เช่นที่เกิดเมื่อปี 2540 วันนี้กลับไม่ชัดเจนในสัญญาณของพรรครัฐบาล แต่เสียงค้านไม่ให้มีการเลือก ส.ส.ร. เพราะกลัวฝ่ายตรงข้ามจะได้เข้ามาเป็น ส.ส.ร. กลับดังขึ้นแล้ว

ยังมีเรื่องกระจายอำนาจ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่แทบไม่ถูกพูดถึง แต่นโยบายของ ครม.ที่แถลงวันนี้กลับบรรจุเรื่องผู้ว่าฯ ซีอีโอ กลับมา โดยไม่ต้องจบรัฐศาสตรบัณฑิต ก็ย่อมรู้ว่า หลักการ 2 เรื่องนี้ขัดกันอย่างสิ้นเชิง

 

ในประเด็นเศรษฐกิจวันนี้มีเถียงกันหนักหนา เพราะมีข่าวรัฐบาลเพื่อไทยอาจจะไม่พัฒนาระบบบล็อกเชน แล้วหันมากู้เงิน 5 แสนล้านจากรัฐวิสาหกิจ ใส่เข้าไปในแอพพ์ “เป๋าตัง” ซึ่งก็มีทั้งเสียงค้าน-เสียงหนุน รวมถึงคำถามเตือนดังๆ ว่าตอนนี้เพดานกู้ตาม “วินัยการเงินการคลัง” ของประเทศเราเกือบเต็มแล้ว จนรัฐมนตรีเพื่อไทยที่ดูแลเรื่องนี้ชี้แจงว่าจะพัฒนาแอพพ์เอง ไม่ใช่เป๋าตัง

ยังไม่นับเรื่องลดราคาพลังงาน น้ำมัน-ไฟฟ้า ที่ใช้การแก้เชิงเทคนิคระยะสั้น เช่น การลดภาษีสรรพสามิต การยืดชำระหนี้ โดยไม่มีแผนแตะเชิงโครงสร้างของปัญหา ซ้ำเติมด้วยข่าวการประกาศค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จนคนวิจารณ์ทั้งบ้านเมือง จนวันต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องมาขอโทษจ้าละหวั่น อ้างว่าสื่อสารผิด ขอเวลาทำ 2 ปี

นี่คือ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐบาลนี้ ที่เริ่มโผล่มาตั้งแต่สัปดาห์แรก และมั่นใจได้เลย มันจะค่อยๆ โผล่มาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง

 

รัฐบาลเศรษฐา 1 ต้องเจอปัญหาการต่อรองในพรรคร่วมรัฐบาลเองซึ่งจะเกิดขึ้นมากหลังจากนี้

การแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด อันเป็นผลของการเมืองระบบโควต้าที่กลายพันธุ์มาจากการข้ามขั้วทางอุดมการณ์ จะยิ่งทำให้การทำงานในอนาคตมีอุปสรรค นายกฯ เศรษฐา และแกนนำพรรคเพื่อไทย จะไปแทรกแซงกระทรวงอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นไปไม่ได้โดยง่าย ทำได้แค่ขอความร่วมมือ

มิต้องพูดว่าในอนาคต หากพรรคร่วมรัฐบาลมีประเด็นอยากต่อรองเชิงนโยบาย ยิ่งเอื้อให้เกิดการต่อรอง กระทั่ง “งัดข้อ” กันในทางการเมือง ขึ้นได้โดยง่าย

ขณะที่ปัญหาในพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลก็มีไม่ใช่น้อย นายเศรษฐาเองก็ดำรงอยู่ในลักษณะ “ขาลอย” พอสมควร โอกาสในการปะทะทางความคิดกันของตัวนายกฯ กับขุนพลของพรรคเพื่อไทย ก็มีโอกาสเกิดขึ้นไม่ยาก ซ้ำยังต้องเจอการต่อรองจากมุ้ง-ก๊ก-ก๊วนต่างๆ ที่พลาดเก้าอี้รัฐมนตรีและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมอีกจากนี้

ด้านปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองในสายตาของประชาชน ต้องบอกว่าอยู่ในระดับ “น่าเป็นห่วง” เป็นไปตามผลโพลของสำนักวิจัยดัง ที่คะแนนนิยมเพื่อไทยวันนี้ลดวูบ ซึ่งเป็นผลจากการจับมือพรรค 2 ป. ตั้งรัฐบาลนั่นเอง หมายความว่า ครม.เศรษฐา 1 ในสายตาประชาชนเริ่มต้นได้ไม่ดี

การเมืองในรัฐบาลเศรษฐา 1 จึงต้องเจอกับวิกฤตด้านต่างๆ อย่างน้อย 5 วิกฤตจากนี้

1. วิกฤตการเมืองที่สืบทอดมาจากอดีต อันเป็นมรดกปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และยิ่งสะสมหมักหมมมาในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

2. วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้างทรัพยากร หนี้สาธารณะ ที่สะสมมาในการบริหารในอดีต และรุนแรงมากขึ้นจากความเคลื่อนไหวของทุนนิยมโลกปัจจุบัน

3. วิกฤตศรัทธา ต้นเหตุจากการตั้งคำถามในการตั้งรัฐบาลร่วมขั้วอำนาจเก่า ที่จะส่งผลทางอุดมการณ์และการต่อต้านทางวัฒนธรรมจนหมดสมัยรัฐบาล

4. วิกฤตปัญหาสังคมในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการตอบสนองทางนโยบายที่ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

5. วิกฤตเชิงนโยบาย แม้ทำได้ก็เสมอตัว หากยิ่งทำไม่ได้ รัฐบาลวิกฤตแน่นอน

 

ด้วยสถานะที่ถูกมอง “ง่อนแง่น” นี้เองทำให้ “ครม. นิด (1)” ถูกประเมินในทางลบว่าอาจจะอยู่ได้ “นิดนึง” หรือเป็น ครม. “นิดนึง” และแน่นอนว่าเราอาจได้เห็นการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นอีก เป็น ครม.นิดสอง…นิดสาม ในอีกไม่นานนี้ก็ได้

วันนี้เพื่อไทยทำได้ดีที่สุดคือการถือกระทรวงทางเศรษฐกิจไว้ในมือ และจำเป็นต้องปล่อยกระทรวงทางการเมือง สังคม ไปให้พรรคร่วมรัฐบาล

การคุมกระทรวงเศรษฐกิจได้ของพรรคเพื่อไทย ก็ด้วยหวังจะใช้จุดนี้ฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่สูญเสียไปมากจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทางออกของรัฐบาลเศรษฐามีอยู่อย่างเดียวคือ ต้องทำนโยบายให้สำเร็จ ต้องยกระดับเศรษฐกิจให้ได้ วางแผนหารายได้เข้าประเทศ ที่มากกว่าแค่ท่องเที่ยว

ในทางการเมือง ขอให้ทำใจ รัฐบาลเศรษฐา 1 จะต้องถูกถล่มวิจารณ์ต่อว่าอย่างหนักหน่วง หน้าที่ของรัฐบาลจึงทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาทำงาน ผลงานเชิงรูปธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทวงความเชื่อมั่นกลับคืนมาบ้าง

ไม่ต้องลงมาทำสงครามประชาสัมพันธ์ ตอบโต้แบบ ปะ ฉะ ดะ แบบสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แบบนั้นคนเขารู้ทันกันหมดแล้ว แต่ต้องแสดงฝีมือให้ประจักษ์ ว่าแม้มีนายกฯ ที่มีชื่อเล่นว่านิด แต่ฝีมือต้องไม่นิด มีผลงานดีๆ เข้าตา เพื่อที่จะเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนกลับคืนมา แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็อาจทำให้ครม. กลายเป็น ครม. (ที่อยู่ได้) ‘นิดนึง’ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น!!